โชว์ปืนที่คาดว่าคนร้ายจะใช้ยิง
เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดนัยธร วงศ์ไทย ผบช.สนว.ตร. พล.ต.ต.ภูวดล วุฑฒกนก ผบก.กองพลาธิการ และสรรพาวุธ พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ ผบก.น.1 นำอาวุธปืนชนิดเอ็ม 203 ซึ่งเป็นแบบคล้ายกับปืนเอ็ม 16 ประกอบเครื่องยิงและปืนชนิดเอ็ม 79 พร้อมกระสุนขนาด 40 มม. คาดว่าน่าจะเป็นชนิดเดียวกับปืนที่คนร้ายใช้ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมมาแสดงต่อสื่อมวลชน จากนั้น พล.ต.อ.จงรักนำสื่อมวลชนไปตรวจสอบ บริเวณอาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. ที่คาดว่าคนร้ายจะใช้เป็นจุดยิง ที่บริเวณชั้นที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยภายในชั้นดังกล่าวมีหน้าต่างกระจกบางจุดยังไม่ได้ติดตั้งกระจก ทำให้มีช่องสามารถมองเห็นทำเนียบรัฐบาลได้อย่างชัดเจน ในวันเกิดเหตุที่ดาดฟ้าชั้นที่ 4 คนร้ายได้ยิงปืนขึ้นไปด้วย ขณะนี้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์ หลักฐาน เก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว
ชี้ปืนเอ็ม 79 ยิงง่ายไม่ต้องฝึก
พล.ต.อ.จงรักกล่าวอีกว่า จากการสันนิษฐานคาดว่าคนร้ายอาจจะต้องการใช้ปืนชนิดเอ็ม 79 เนื่องจากขนาดสั้นกว่าเอ็ม 203 พกพาซ่อนเร้นสะดวกกว่า และมีระยะหวังผลยิงแนวระนาบแม่นยำในระยะประมาณ 100 เมตร ส่วนการยิงลงพื้นอยู่ในระยะ 400 เมตร วิธีการยิงก็ง่ายคนใช้ไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน ส่วนการตรวจพื้นที่อาจจะไม่ใช่อาคาร ก.พ. เนื่องจากการตรวจสอบพบว่าบนดาดฟ้าก็มีระเบิดขนาด เอ็ม 79 ตกใส่ ซึ่งเชื่อว่าคนร้ายน่าจะยิงมาจากจุดอื่น แต่จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและหาวิถีรวมถึงระยะการยิง เพื่อมารวบรวมหาจุดยิงอีกครั้ง
พบรูปริศนาคล้ายถูกกระสุนปืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ที่ชั้น 4 อาคารสำนักงาน ก.พ. ยังพบกระจกอยู่หนึ่งบาน เป็นรูคล้ายกับถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบขนาด 1 รู ขณะเดียวกันทีมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้ออกไปตรวจสอบด้านนอกของอาคารชั้น 4 พร้อมกับนำภาพถ่ายจุดเกิดเหตุ ภายในทำเนียบฯและภาพมุมกว้างพื้นที่ทำเนียบฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาจุดที่คนร้ายใช้ยิงว่ามาจากตำแหน่งใดและบันทึกภาพมุมต่างๆของตัวอาคาร โดยใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 20 นาที ก่อนเดินทางกลับโดยใช้รถตู้ตราโล่ ระหว่างนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯประมาณ 20 คน ได้นำมือตบและขวดน้ำขว้างปาใส่รถตู้ของ พล.ต.อ.จงรักและคณะ พร้อมกับตะโกนด่าก่อนที่รถตู้คันดังกล่าวจะรีบแล่นออกไป
ก.พ.โต้ไม่ใช่จุดยิงระเบิดบึ้ม พธม.
ขณะที่นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สัมภาษณ์กรณีแกนนำ กลุ่มพันธมิตรฯระบุมีการยิงระเบิดมาจากตึกสำนักงาน ก.พ. ใส่กลุ่มพันธมิตรฯในทำเนียบรัฐบาล จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่สำนักงาน ก.พ.เมื่อเช้าวันที่ 21 พ.ย. แล้วบอกว่า ถ้าจะยิงระเบิดไปตกที่ทำเนียบรัฐบาลได้ วิถีการยิงต้องไกลกว่านี้ ไม่น่าจะยิงมาจากสำนักงาน ก.พ. ซึ่ง ช่วงก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.พ.ก็ยังโดนระเบิดจนหลังคาแตกได้รับความเสียหายมาแล้ว ยืนยันว่า ตึกสำนักงาน ก.พ.ไม่ใช่จุดยิงระเบิดแน่นอน เพราะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด โดยสั่งเจ้าหน้าที่ทุกคนออกจากตึกกลับบ้านตั้งแต่เวลา 19.00 น. และนำกุญแจมาล็อกประตูทางขึ้นตึกทุกทาง และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเฝ้าอยู่บริเวณนอกตึกตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีใครอยู่ในตึก โดยเฉพาะช่วงนี้ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะแอบขึ้นไปในตึกได้ นอกจากนี้ ทางเข้ามายังสำนักงาน ก.พ.ทั้งทางฝั่งวัดเบญจมบพิตร หรือ ถ.พิษณุโลก ก็มีการ์ดของกลุ่มพันธมิตรฯเฝ้าอยู่ จึงเป็นไปได้ยาก หากใครจะนำอาวุธระเบิดเข้ามายังสำนักงาน ก.พ.เพื่อก่อเหตุ
ยันไม่มีคนแอบในตึกยามวิกาล
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่มีการใช้สถานที่ของ ก.พ.ร.มาเป็นจุดก่อเหตุ และจะไม่ยอมให้ใครมาใช้พื้นที่เป็นสถานที่ก่อเหตุรุนแรงด้วย ขณะนี้ได้ออกมาตรการกำชับความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป จะให้เจ้าหน้าที่รักษา ความปลอดภัยจากองค์การทหารผ่านศึก และเจ้าหน้าที่ ก.พ.ร.ทุกคน ออกจากตึกกลับบ้านให้หมด จากนั้นจะปิดประตูทางขึ้นตึกทุกจุด เหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่เฝ้าบริเวณหน้าประตูเท่านั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีตึกติดกับสำนักงาน ก.พ.ร. ก็ใช้วิธีดูแลความปลอดภัยเช่นนี้
“สุชาติ” ประชุมใช้แผน “กรกฎ 48”
ต่อมาเวลา 14.30 น. ที่ บช.น. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. เรียกประชุมนายตำรวจระดับรอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง กทม. ผบก.น.1-9 ผบก.จร. ผบก.ตปพ. เพื่อประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 23 พ.ย.นี้ จากนั้น พล.ต.ท.สุชาติกล่าวว่า วางมาตรการคุมเข้ม ดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัย และซักซ้อมความเข้าใจแผนปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง มอบหมายพื้นที่รับผิดชอบดูแลบัญชาการเหตุการณ์ให้กับนายตำรวจระดับ รอง ผบช.น. และ ผบก.น.1-9 โดยใช้แผนปฏิบัติรักษาความปลอดภัย “กรกฎ 48” เป็นหลัก
ตั้งด่านโยงใยเป็นข่ายแมงมุม
ผบช.น. กล่าวอีกว่า สั่งการให้ทุกพื้นที่ตั้งด่านตรวจ จุดสกัด โยงใยเป็นเครือข่ายแมงมุม เน้นการตรวจอาวุธสงคราม บุคคลต้องสงสัย รถยนต์และรถ จยย. ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนที่เอื้ออำนวยต่อการก่อเหตุ รถกระบะ รถตู้ ที่มีการขนคนจำนวนมาก พร้อมตั้งจุดสกัดตรวจค้นอาวุธผู้ชุมนุมอย่างละเอียด ห้ามไม่ให้มีการพกพาอาวุธขณะเคลื่อนไหวชุมนุมมายังหน้ารัฐสภาอย่างเด็ดขาด และให้ตั้งแผงเหล็กกั้นพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัด หากพบมีการพกพาอาวุธ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ห้ามตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด
ตำรวจประกาศเตือนผู้ชุมนุม
ขณะที่ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กล่าวว่า ตำรวจประสานไปยังประธานรัฐสภา ได้รับการยืนยันว่า จะไม่มีการนำวาระที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรจุในวาระการประชุมเด็ดขาด หากใครต้องการเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ขอให้ตัดสินใจใหม่ แต่หากยังต้องการเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ขอให้ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ขณะนี้ บช.น.ได้ ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมมีรายละเอียดดังนี้ ตามแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ฉบับที่ 24/2551 เรื่องระดมมวลชนครั้งใหญ่ เพื่อเผด็จศึกหยุดยั้งอำนาจรัฐกับรัฐบาลทรราชย์ ฆาตกรหุ่นเชิดและหยุดสภาทาสระบอบทักษิณ โดยมีการนัดชุมนุม ใหญ่ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเผด็จศึกเคลื่อนขบวนต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหน้ารัฐสภา โดยการดำเนินทุกวิถีทางนั้น
ขอให้ชุมนุมในกรอบกฎหมาย
กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงแจ้งเตือนมายังบรรดาแกนนำและผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุม หากจะอ้างสิทธิการชุมนุม ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 นั้น จะต้องชุมนุมกันอย่างสงบและ ปราศจากอาวุธ กับทั้งไม่มีพฤติการณ์ในการที่จะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ปิดกั้นทางเข้า-ออกบริเวณรัฐสภา กระทำการใดๆที่มีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้อื่น ตามนัย คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1605/2551 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่าเป็นการชุมนุมที่มิใช่การชุมนุมอย่างสงบ อันจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้า สลายการชุมนุม เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้ชุมนุมได้ ดังนั้น จึงให้แกนนำและบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุม หากมีการเคลื่อนกำลังไปยังหน้ารัฐสภา ขอให้ดำเนินการอยู่ ภายใต้กรอบของกฎหมาย หาไม่แล้วเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าดำเนินการ ควบคุมฝูงชนตามลำดับขั้นตอน เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตามอำนาจหน้าที่
“ไชยวัฒน์” เฮ อัยการฟ้องไม่ทัน
อีกด้านหนึ่ง ที่ศาลอาญา วันเดียวกัน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตร ฯ พร้อมทนายความ เดินทางไปเพื่อรายงานตัวและสอบถามว่า อัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าอัยการยังไม่มีคำสั่งคดี และครบกำหนดควบคุมตัวตามกฎหมายแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัว ทำให้ นายไชยวัฒน์ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาอีกต่อไป ขณะที่คดีส่วนของนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก จะครบกำหนดฝากขัง และควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ก็มีแนวโน้มจะสั่งฟ้องไม่ทันเช่นกัน
อ้างตำรวจทำสำนวนหยาบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดี อัยการสำนักงานคดีอาญา เผยว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวน นำสำนวนดำเนินคดีกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนาย เทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมฯ เป็นผู้ต้องหาที่ 1-9 ในข้อหาใช้ กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือ เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ส่งให้พนักงานอัยการเมื่อวันที่ 5 พ.ย. เพื่อพิจารณาสำนวนเพื่อสั่งฟ้องต่อศาล แต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. พนักงานอัยการยังไม่สามารถสั่งคดีได้ต้องเลื่อนสั่งคดีไป เป็นวันที่ 21 ม.ค. 52 เวลา 10.00 น. นั้น ขณะนี้ตนและคณะทำงานตรวจสอบสำนวนแล้ว เห็นว่า พนักงานสอบสวนทำงานค่อนข้างหยาบ และสำนวนยังไม่ เรียบร้อย มีการส่งแผ่นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์มาให้ เป็นชุด แต่ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริง แห่งการกระทำอัน เป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา อัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวน ไปทำการถอดข้อความจากแผ่นวีซีดีมาให้ จากนั้นก็จะได้นำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจ
เร่งทำให้เสร็จเร็วเกินไป
อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากล่าวอีกว่า ที่ว่าพนักงานสอบสวนทำงานค่อนข้างหยาบ เพราะอาจเป็น ไปได้ที่พนักงานสอบสวน ถูกศาลอุทธรณ์เพิกถอนข้อหาหลัก ทำให้การสอบสวนส่วนที่เหลือ เร่งสรุปให้เสร็จๆไป ตนเห็นว่าไม่ถูก ในเมื่อมีการสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว ก็ต้องพยายามค้นหาหลักฐานมาสนับสนุน ถ้าทำสำนวนมาอย่างที่เห็นนี้ ก็เท่ากับเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่า ที่ถูกเพิกถอนข้อหาในหมายจับนั้นสมควรแล้ว พนักงานสอบสวนไม่น่าเร่งรีบส่งสำนวน หากการสอบสวนมีหลักฐานว่าเป็นกบฏ ก็สอบสวนลงไปอีกแล้วแจ้งข้อหากบฏเพิ่มก็ได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาอยู่แล้ว หรือจะหมายเรียกพยานบุคคล สิ่งของมาตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ถ้าอัยการจะเรียกพยานมาซักถามก็สามารถทำได้ ส่วนการเดินเผชิญสืบดูที่เกิดเหตุก็ทำมาแล้วในการพิจารณาสำนวนคดีบุกสถานีเอ็นบีที ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาลก็ไม่ต้องไปตรวจดูซ้ำอีก
คดีสนธิ-จำลองคงไม่ทันเช่นกัน
นายกายสิทธิ์กล่าวอีกว่า คดีนี้ความจริงจะปรากฏหรือไม่ อัยการยังตอบไม่ได้ แต่จะพยายามตรวจสำนวนในทุกข้อหาดูว่า พยานหลักฐานที่มีถึงหรือไม่ ถ้าไม่ถึงก็จนใจ แต่ถ้าอัยการดูแล้วสำนวนถึง ก็จะให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากบฏเพิ่มเติมได้ เพราะในชั้นนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุดกระบวนการสอบสวน ถ้าอัยการเร่งสั่งคดีให้เสร็จพ้นๆไป ระบบงานยุติธรรมทางอาญาจะเสียหาย ตัวอย่างนี้คนร้าย 3 คนไปปล้นฆ่า ตำรวจรีบสรุปเหลือข้อหาพยายามลักทรัพย์ ถ้าอัยการเห็นพ้องด้วยกับตำรวจ แล้วผู้เสียหายจะไปพึ่งใคร ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายสนธิ และ พล.ต.จำลอง ครบฝากขังครั้งสุดท้ายวันที่ 24 พ.ย.นี้จะกระทบต่อการดำเนินคดีหรือไม่ นายกายสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะนายไชยวัฒน์ ถูกแจ้งข้อหามีอัตราโทษที่น้อย และฝากขังตามกฎหมายได้ 4 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน เมื่ออัยการสั่งคดีไม่ทันก็ต้องปล่อย เขา ถ้าอัยการฟ้องก็จะเชิญท่านมาทราบคำสั่ง ส่วนคดี พล.ต.จำลองกับพวก ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ก็คงสั่งคดีไม่ทันเช่นกัน ต้องปล่อยทั้ง 9 คน แต่จะไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอย่างใด ทุกคดีมีอายุความ 10 ปี
ยืนยันอัยการวางตัวเป็นกลาง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอัยการฟ้องแล้วบรรดาทรัพย์สินในทำเนียบฯที่เสียหาย จะดำเนินการอย่างไร นายกายสิทธิ์กล่าวว่า ที่ฝ่ายรัฐบาลแถลงข่าวว่ามีทรัพย์สินหาย ไม่ว่าจะเป็นปืนยาวเอ็ม 16 เอ 1 ปืนกลอินแกรม ปืนสั้น ตนคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสียหาย ส่วนของสะสมที่ระลึกจากแขกต่างประเทศมอบให้ถ้าหาย ผู้เสียหายน่าจะเป็นสำนักนายกฯ กฎหมาย ป.วิอาญา กำหนดให้ ผู้เสียหายยื่นคำร้องมาในคดีที่อัยการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย เอาจากจำเลยได้ทันทีโดยไม่ต้องแยกฟ้องเป็นคดีแพ่ง ตนไม่มีเข้าข้างไหน อัยการทุกคนก็เช่นกัน ต้องเป็นกลาง สั่งคดีด้วยใจเป็นธรรม ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดีนี้จะทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายลงหรือไม่ นายกายสิทธิ์กล่าวว่า ไม่แน่ใจ เพราะวิกฤติการเมืองครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าสาเหตุอยู่ที่ไหน และคำตอบสุดท้ายคือ อะไร หากคดีนี้เสร็จสิ้นลง คงช่วยคลี่คลายได้บ้าง และการดำเนินคดีชั้นสอบสวน และฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายบ้านเมืองยังมีอยู่ กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
“ชัย” ลั่นไม่บรรจุวาระแก้ไข รธน.
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธาน รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯระบุจะเคลื่อนกำลังมาปิดล้อมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 23-24 พ.ย. ว่า ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว ยืนยันว่าในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ย.นี้ จะไม่นำร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับเข้าสู่การพิจารณา โดยเฉพาะร่างของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) จะขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพราะมีความจำเป็นต้องพิจารณากรอบการเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 40 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่รัฐบาลต้องทำสัญญากับต่างประเทศ รัฐสภาไม่อาจทำให้ประเทศเสียหายได้ หากไม่พิจารณาจะเกิดผลกระทบทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทำให้การทำงานของรัฐสภาไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้
วอนพันธมิตรฯเห็นแก่ชาติ
“ขอเรียกร้องประชาชนให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยไม่ควรเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ผมขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ผมจะลงจากบัลลังก์และปิดประชุมทันที อย่าง ไรก็ตาม หากพันธมิตรฯเดินทางมาชุมนุมจนทำให้การประชุมไม่สามารถทำได้ ก็ต้องเลื่อนการประชุมออกไป ผมขอวิงวอนพันธมิตรฯให้เห็นแก่ประเทศชาติที่จะเกิดความเสียหาย ส่วนการเปลี่ยนสถานที่ประชุม คงไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องขอมติจากสภาและอาจขัดต่อข้อ บังคับการประชุม ข้อ 3 หมวดท้าย ที่กำหนดว่ารัฐสภาคือ ที่ประชุมของสภาผู้แทนและวุฒิสภา” นายชัยกล่าว
ไม่สนคำเตือนยืนกรานประชุมที่สภา
ต่อมาเมื่อเวลา 15.40 น. นายชัยได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกรณีที่กองทัพบกทำหนังสือให้สภาฯเปลี่ยนสถานที่การประชุมร่วมรัฐสภาว่า ยังไม่เห็นเรื่อง แต่ถ้าเขาเสนอมาจริง เขาก็ต้องจัดสถานที่ รวมถึงเครื่องมือ คอม-พิวเตอร์ ให้เหมือนกับห้องประชุมสภาให้พร้อมหมด และตามข้อบังคับการประชุมสภาซึ่งถือเป็นระเบียบในราช-กิจจานุเบกษา เทียบเท่ากฎหมายฉบับหนึ่ง ก็กำหนดให้ ประชุมที่รัฐสภา ดังนั้น ตนในฐานะประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการสั่งให้ย้ายสถานที่ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะเห็นชอบ เพราะคำว่ารัฐสภาไม่ได้หมายถึงประธานรัฐสภา แต่หมายถึง ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนด้วย แต่อย่างไรตนก็พร้อมปฏิบัติตาม ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามปกติเมื่อจะแจ้งเลื่อนหรือประชุมสภา จะมีการแจ้งเป็นข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือก็ได้ นายชัยตอบว่า สามารถแจ้งได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการประชุมร่วมกัน ดังนั้น ในวันจันทร์ที่ 24 พ.ย.นี้ ยังคงมีการประชุมร่วมรัฐสภาตามปกติ เพราะวาระที่จะพิจารณาเป็นกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งต้องให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จึงอยากให้ช่วยกันบอกกล่าวว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นเป็นการต้องการให้อำนาจกระทรวง ทบวง กรม ไปดำเนินการใน เรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ
อย่าใช้กฎหมู่มาบังคับฝ่ายนิติบัญญัติ
“ในวันที่ 24 พ.ย. ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ รุนแรง อยากให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะขณะนี้ท่านทรงไม่สบายพระทัย เนื่องจากเพิ่งผ่านงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นาง เธอฯ ดังนั้น ประชาชนและพันธมิตรฯควรเคารพในหลวงของเรา ต้องช่วยกันประคับประคองบ้านเมือง เคารพกติกา บ้านเมือง ในส่วนของพันธมิตรฯ หากต้องการอะไรก็ขอให้เสนอมาตามขั้นตอน สภาในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็จะพิจารณาให้ ไม่ใช่จะใช้กฎหมู่มาบังคับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะไม่มีขื่อมีแป เรื่องไม่ให้แก้รัฐ-ธรรมนูญ เราก็ทำตามแล้ว จะเอาอะไรอีก ถ้ายังจะมาล้อมเราก็ต้องเลื่อนการประชุมออกไป กฎหมายก็จะไม่ผ่านสภา ความเดือดร้อนก็จะเกิดกับประชาชน” นายชัยกล่าว
ปธ.วุฒิฯระบุ “ชัย” ยืนกรานไม่ย้าย
ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ได้โทรศัพท์หารือกับนายชัยที่ติดภารกิจอยู่ใน ต่างจังหวัดว่า ควรจะเปลี่ยนสถานที่ หรือดำเนินการอย่างไร หากพันธมิตรฯมาปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งทางออกคงต้องพิจารณา ว่าวาระการประชุมร่วมสองสภามีความเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด หากไม่มีเรื่องเร่งด่วนมากอาจขอเลื่อนกำหนดการประชุมออกไปก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องพิจารณา คงต้องหาทางประชุมให้ได้ ซึ่งทราบว่าข้อตกลงที่นำเข้า พิจารณา จะต้องนำไปเจรจาในการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ จึงต้องนำปัจจัยดังกล่าว มาพิจารณาประกอบด้วย แต่นายชัยยังคงยืนยันให้มีการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พ.ย. ตามเดิม เพราะเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยเอาไว้แล้ว โดยได้ประสานกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาคอยดูแล อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบเรื่องที่กองทัพบกทำหนังสือ สมช. ให้สภาเปลี่ยน สถานที่การประชุมร่วมรัฐสภา แต่หากเป็นอย่างนั้นจริง ประธานรัฐสภาสามารถพิจารณาเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้ โดยไม่ต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อสอบถามความเห็น เพียงแต่ต้องแจ้งให้สมาชิกรัฐสภาทราบล่วงหน้าเท่านั้น
ส.ว.พันธมิตรฯอ้างเพราะโดนระเบิด
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เชื่อว่านายชัยจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน กำหนดการประชุมวันที่ 24 พ.ย. โดยก่อนหน้าที่จะมีเหตุ ระเบิดที่ทำเนียบรัฐบาล ประธานรัฐสภาเคยแสดงท่าทีว่า จะไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และจะไม่ เปิดประชุมสมัยวิสามัญ รอให้ทุกอย่างไปเริ่มในสมัยประชุม หน้า คือหลังวันที่ 21 ม.ค. หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์คงดีขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น ประธานรัฐสภาคงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องที่จะนำเข้าสู่การประชุมว่ามีความสำคัญเพียงใด หากเลื่อนกำหนดการประชุม ออกไป จะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่ ตน เชื่อว่าหากกลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนมาที่หน้ารัฐสภาจริง แล้วไม่มีการประชุมสภา กลุ่มพันธมิตรฯก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องเคลื่อนกลับไป เพราะพันธมิตรฯไม่สามารถเคลื่อนไหว ไปชุมนุมที่ใดได้นานอยู่แล้ว เชื่อว่าประธานรัฐสภาคง ตัดสินใจได้ก่อนวันที่ 24 พ.ย. เพราะทราบว่าการเปลี่ยนสถานที่ไม่ได้ทำง่ายๆ ก่อนหน้าเกิดเหตุระเบิดก็ยังไม่มีอะไร พันธมิตรฯก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นพันธมิตรฯต้องเคลื่อนไหว สถานการณ์การเมืองขณะนี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าหากใครก่อ ความรุนแรงขึ้นก่อน จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
“โกวิท” ปัดพูดม็อบพันธมิตรฯมีเส้น
ที่กระทรวงมหาดไทย ตอนเที่ยงวันเดียวกัน พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ระบุในการตอบกระทู้ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ว่าที่ไม่สามารถดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรฯได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีเส้น ว่า เรื่องนี้จบไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ไม่ขอพูดถึงอีก ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยในการชุมนุมของรายการความจริงวันนี้ และกลุ่มพันธมิตรฯ ที่นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ย. ทุกอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอยู่แล้ว อย่างไร ก็ตาม ไม่ได้มีการสั่งให้ ผวจ. หรือจังหวัดสกัดกั้นมวลชน ที่จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะใครจะไปไหนก็ไป และตนจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูแลความเรียบร้อย ในการจัดประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน และจะกลับมาดูแลสถานการณ์ในวันที่ 22 พ.ย.
มท.3 วอน พธม.อย่าปิดล้อมสภา
นอกจากนี้ นายประสงค์ โฆษิตานนท์ รมช.มหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯจะปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ย. ว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ไขด้วยการ เมือง ไม่ใช่แก้ด้วยวิธีนี้ ตอนนี้ความน่าเชื่อถือของประเทศ ไม่เหลือแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวลดลงไปมาก อยากให้ทุกคนคิดให้ดี คิดถึงพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ตนอยากถามกลับไปว่า ทำไมไม่ตอบแทนท่านบ้าง โดยส่วนตัวแล้วตนไม่ได้เข้าข้างใคร อยากให้ ปรองดองสมานฉันท์กัน เมื่อถามว่า หากมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงจะมีการเลื่อนการประชุมออกไปหรือไม่ นายประสงค์ตอบว่า ไม่ทราบ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ผบ.ทบ.ประสาน มท.ช่วยดูแลผู้ชุมนุม
ที่กระทรวงมหาดไทย นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการชุมนุมของรายการความจริงวันนี้ ในวันที่ 23 พ.ย. ว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์ไม่สงบ ได้ย้ำเตือนจังหวัดและอำเภอไปแล้ว ให้ระมัดระวังการก่อวินาศกรรม การยึดสถานที่ราชการ การยึดสาธารณูปโภค กรณีนี้ก็ยังยึดถือตามคำสั่งเดิมอยู่ ในส่วนการชุมนุมในพื้นที่ กทม. เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรับผิดชอบในการดูแล แต่ในส่วนของวัดสวนแก้ว ผู้ว่าฯนนทบุรี ก็ต้องร่วมมือกับตำรวจในการดูแล ทราบเบื้องต้นว่า ผวจ.นนทบุรี ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยไว้แล้ว ในช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. ได้มีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยกับทาง ผบ.ทบ. ได้รับการประสานจาก ผบ.ทบ.ว่าขอให้ช่วยดูแลการชุมนุมในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี จึงได้ประสานไปยังผู้ว่าฯให้เข้มงวดกวดขันในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว แต่หากมีการเคลื่อนการชุมนุมคงจะไม่อาจจะสกัดกั้นได้ และไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตีปาก “ประชา” ปูดข่าว “พจมาน”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 25 ธ.ค. และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยา จะมาร่วมฟังในรายการความจริงวันนี้สัญจร ที่จัดขึ้นที่วัดสวนแก้ว ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ว่า ไม่ทราบว่านายประชาไปนำข้อมูลมาจากไหน แม้ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีความรู้สึกคิดถึงอยากกลับบ้าน กลับมาเมืองไทยเสมอ แต่ยังไม่มีการกำหนดช่วงเวลา ส่วนกรณีคุณหญิงพจมาน ยังไม่มีการติดต่อว่าจะกลับเข้ามาเมืองไทย และมาร่วมรับฟังการชุมนุมปราศรัยที่วัดสวนแก้วด้วย ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมใหญ่โดยเคลื่อนพลไปที่รัฐสภา ในวันที่ 23 พ.ย. ขอยืนยันในจุดยืนเดิม ประชาชนที่มาร่วมงานที่วัดสวนแก้วในวันเดียวกัน จะไม่เคลื่อนขบวนไปในที่ใด เมื่อเลิกงานจะแยกย้ายกันเดินทางกลับทันที โดยจะไม่เคลื่อนขบวนไปที่ใดอีก ที่ผ่านมาในการจัดงานแต่ละครั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่รุนแรง จึงอยากบอกกับหลายฝ่ายที่วิตกกังวลว่า อย่าไปตกใจหรือตื่นเต้นกับสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯประกาศ เพราะพูดมาเป็นร้อยครั้งแล้วว่าจะชุมนุมครั้งใหญ่ แต่ สุดท้ายไม่มีอะไร เพราะเชื่อว่าจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
โวพลเสื้อแดงร่วมงานกว่า 3 หมื่น
นายจตุพรกล่าวอีกว่า ส่วนกำหนดการรายการความจริงวันนี้ภาคพิเศษในวันที่ 23 พ.ย. นั้น จะเป็นบรรยากาศศาสนา ผสมผสานกับการเมืองที่กลมกลืน ถือเป็นความสวยงาม จะเริ่มในเวลา 13.00-17.00 น. โดยพระพยอมเทศนา จากนั้น มีการปราศรัยโดยทีมงานความจริงวันนี้และแขกรับเชิญ คาดว่าจะมีประชาชนมาร่วมงานมากกว่า 3 หมื่นคน หลังจากจบงานดังกล่าวก็กลับบ้านแล้วไปเจอกันใหม่ ในวันที่ 13 ธ.ค. ที่สนามศุภชลาศัย ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการหารือระหว่างทหารกับตำรวจเห็นว่าการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พ.ย. ควรเลื่อนออกไปก่อน นายจตุพรตอบว่า เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติบรรจุระเบียบวาระ พิจารณาเอกสารการลงนามกับกลุ่มอาเซียนแล้ว ต้องเดินหน้าพิจารณา เพราะเป็นผลประโยชน์ ของประเทศชาติและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สังคมไทยกำลังขาดสติไปฟังกลุ่มพันธมิตรฯที่ไปปลุกระดมด้วยข้อความเป็นเท็จทั้งบอกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร. ที่ไปลดอำนาจองคมนตรี ความจริงไม่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้มีเนื้อหาดังกล่าว
ซัดแกนนำ พธม.บิดเบือนข้อมูล
นายจตุพรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังปลุกอีกว่าในวันนั้นจะนองเลือด ก็อยากบอกว่าถ้ามีการนองเลือด ขอให้เกิดกับแกนนำพันธมิตรฯ อย่าเกิดกับมวลชนที่มาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ อีกทั้งยังเป็นห่วงที่ประกาศมาหลายครั้งว่า เป็นสงครามครั้งสุดท้าย คือพยายามเดินอย่างไรให้เกิดเหตุร้าย ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะไม่ให้เกิด ทั้งนี้ ในวันที่ 24 พ.ย. นี้ ขอยืนยันไม่มีคนเสื้อแดงไปที่รัฐสภาอย่างแน่นอน พฤติกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมรับไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลคงอยู่ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ อยากเรียกร้องว่าถ้ากลุ่มพันธมิตรฯแน่จริง ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปตรวจค้นอาวุธในทำเนียบรัฐบาล เพราะขณะนี้ในทำเนียบใกล้จะกลายเป็นคลังแสงอาวุธเข้าไปทุกวันแล้ว
ให้แต่งชุดขาวร่วมงานความจริงฯ สัญจร
เย็นวันเดียวกัน พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ถึงเรื่องการจัดรายการความจริงวันนี้สัญจร ที่วัดสวนแก้วในวันที่ 23 พ.ย.นี้ว่า ได้ขอให้เซ็นเซอร์โฟนอินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่จะเผยแพร่แก่ผู้มาร่วมงานและตกลงกับผู้จัดแล้วว่า หากมีความรุนแรงเมื่อใด จะสับคัตเอาต์ทันที และขอให้ประชาชนที่มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าสีขาว จะได้ไม่บาดตาบาดใจและมีอารมณ์เย็น ห้ามนำเท้าตบ หัวใจตบเข้ามาในวัด นอกจากนี้ ทหาร ตำรวจ มีการเตรียมพร้อมรับประชาชนไว้เรียบร้อ