รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงสร้างของ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 นั้น
ระบุให้ กอ.รมน. ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.รมน. และเมื่อดูจากโครงสร้างที่ระบุไว้แล้ว พล.อ.พัลลภจะไม่สามารถดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.รมน.ได้ เนื่องจากมาตรา 5 ระบุให้ ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง นอกจากนี้ พล.อ.พัลลภอาจไม่สามารถเป็นผู้ช่วย ผอ.รมน.ได้เช่นกัน เนื่องจากในมาตรา 5 ระบุเกี่ยวกับอำนาจของนายกฯในฐานะ ผอ.รมน. อาจแต่งตั้งผู้ช่วย ผอ.รมน.จากข้าราชการในสังกัด กอ.รมน. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงโครงสร้างและการแบ่งส่วนงานภายในของ กอ.รมน. ซึ่ง พล.อ.พัลลภอาจไม่เข้าข่าย เพราะปัจจุบันไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่สังกัด กอ.รมน.หรือหน่วยงานรัฐอื่น
"แต่ยังมีวิธีการที่ทำให้ พล.อ.พัลลภ สามารถนั่งผู้ช่วย ผอ.รมน.ได้ คือ ต้องแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองเสียก่อน เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เป็นต้น หรือไม่ก็ตั้งให้มาดำรงตำแหน่งใน ครม. จึงจะเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 5 วรรค 4 แต่มีกระแสข่าวจากวงในรัฐบาล ว่า พรรคพลังประชาชน (พปช.ยังมีความกังวลในตัว พล.อ.พัลลภ เพราะเคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามมาก่อน ดังนั้น ถ้าจะคำนึงถึงความปลอดภัย ก็ควรให้มานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษา ผอ.รมน.จะดีกว่า"
ด้าน พล.อ.พัลลภกล่าวสั้นๆ ถึงข้อติดขัดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ช่วยผอ.รมน. ว่า เรื่องนี้คงต้องรอการแต่งตั้งจาก ครม.ก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะตนดูกฎหมายหมดแล้ว ไม่มีปัญหา
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตั้งหรือไม่ตั้งผู้หนึ่งผู้ใดมาปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่หากมีการแต่งตั้งจริงก็จะต้องดูว่าจะให้ พล.อ.พัลลภ รับผิดชอบงานส่วนไหนอย่างไร แต่เท่าที่ฟังจากข่าว พล.อ.พัลลภ นั้นเป็นผู้กระตือรือร้นที่จะเข้ามาช่วยเหลือวิกฤตของประเทศ หากใครมีความตั้งใจจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนอย่างไรก็สามารถช่วยเหลือได้ เมื่อถามว่า โฆษกฯเองเคยอยู่ในสถานะของคู่ปรับเก่ากับ พล.อ.พัลลภ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ครั้งหนึ่งอาจจะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่คงไม่ตั้งแง่ระแวงว่า พล.อ.พัลลภจะมาเป็นไส้ศึกหรือไม่ เพราะอย่างนั้นประเทศคงจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้