กรุงเทพธุรกิจ
29 มิถุนายน 2549 18:50 น.
ตามวิถีแห่งทุนโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดนเพื่อแสวงหากำไรถือว่าปรกติธรรมดาที่สุด แต่สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สลัดไม่หลุดจากคราบนักธุรกิจ ในสายตาสาธารณชน มันคือปัญหาความขัดแย้งในตัวเองตามหลัก"ธรรมรัฐ"และจริยธรรมทางการเมือง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * รายงาน
------------------------
ข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการ นายกรัฐมนตรีของไทย ไปขออนุญาตเปิดทำธุรกิจการโรงแรมในประเทศเคนย่าดังอื้ออึงทันที ที่เป็นข่าววันนี้(29มิ.ย.)
อื้อถึงเป็นคำถามว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของคนมีตำแหน่งผู้นำรัฐบาล เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง "ส่วนตัว" กับ "รัฐ"
ที่สำคัญ เป็นข่าวที่ นายมอร์ริส ดีโซโร รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและสัตว์ป่าเคนยา ที่ระบุค่อนข้างชัดว่า
"ทางการเคนยากำลังพิจารณาคำร้องของรักษาการนายกรัฐมนตรีไทย เช่นเดียวกับนักธุรกิจทั่วไป โดยไม่มีสิทธิพิเศษอะไร"
โดยเป็นคำร้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระหว่างไปเจรจาข้อตกลงกับเคนยา เกี่ยวกับการจัดซื้อสัตว์ป่า 175 ตัวของเคนยา มาเลี้ยงที่สวนสัตว์ไนท์ซาฟารีเชียงใหม่ แต่ต้องสะดุด เพราะศาลสูงเคนยา มีคำสั่งระงับการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างไทยกับเคนย่า
คำกล่าวของรัฐมนตรีของเคนย่าผู้นี้ หมายถึงช่วงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการ นายกรัฐมนตรี ไปกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน "Thailand and Kenya: Southern in the 21st Century" ในการประชุมธุรกิจไทย - เคนย่า ที่โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา
ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Thailands Year of Africa และนโยบายมุ่งตะวันตก(Look West Policy) ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
แม้ในวันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ จะออกมาปฏิเสธแล้วว่า เป็นความต้องการของ เคนย่าอยากให้เอกชนไทยไปลงทุนด้านโรงแรม จึงได้บอกไปว่า ภาคเอกชนไทยที่ลงทุนด้านโรงแรมข้ามชาติ เท่าที่ตนรู้จัก คือโรงแรมดุสิตธานี และนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี เจ้าของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ซึ่งตนรู้จักคุ้นเคยดี จะไปเชิญชวนให้ แต่ยังไม่มีเวลาไปเชิญชวนใครเลย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะตรวจสอบข่าวที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะรัฐมนตรีท่องเที่ยวเคนยา ให้สัมภาษณ์ลักษณะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนเดินเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
"ไม่มีเรื่องนี้ และไม่รู้ว่ารัฐมนตรีท่องเที่ยวคนนี้ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ เพราะทราบข่าวว่า มีการปรับคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่เคยนั่งเป็นรัฐมนตรีเกียรติยศให้กับผม"
ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า ยืนยันไม่สนใจการลงทุนครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า "ไม่สนใจเลย"
ขณะที่ นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อ้างรายงานบันทึกการหารือระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ นายเอ็มวาย คิบากิ ประธานาธิบดีเคนย่า ระหว่างเยือนประเทศเคนย่า วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2548 เป็นการหารือความร่วมมือในหลายด้าน รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว
ซึ่งคำชี้แจงนี้ ไม่ได้ตอบข้อคาใจที่สลักสำคัญอะไรเลย
แต่ในภาวะความเสื่อมถอยของรัฐบาลรักษาการ ใช่ว่าสาธารณชนจะเชื่อง่ายๆ เพราะพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมา เคยลือกันถึงพฤติกรรมทำนองนี้อยู่แล้ว ต่อมา ถูกขยายผ่านเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่ง เป็นข่าวเองจากปากของ รัฐมนตรีของเคนย่า
ด้าน สุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ นายกฯ ทักษิณ จะลงทุนทำธุรกิจโรงแรมในเคนย่า
เนื่องจาก ช่วงดังกล่าว กลุ่มนักอนุรักษ์ของเคนย่าไปชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมดังกล่าว เพราะมีการเจรจาตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าจำนวน 175 ตัว ที่จะนำมาไว้ที่ไนท์ซาฟารี เชียงใหม่ด้วย
"...การไปเปิดโรงแรมพูดคุยในเชิงธุรกิจไทยกับเคนย่า นำไปสู่ข้อสงสัยหลายๆ อย่าง แต่ไม่สามารถหาข้อมูลที่ชัดเจนได้ แม้แต่เอ็นจีโอของเคนย่าก็ยังตามไม่ทันกับรัฐบาลไทย ว่าแท้ที่จริงแล้วมีวัตถุประสงค์หรืออะไรหมกเม็ดอยู่บ้าง"
มองในวิถีแห่งทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งนี่คือการโยกย้ายทุนเพื่อแสวงหากำไรอย่างปรกติธรรมดาที่สุด แต่สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สลัดไม่หลุดจากคราบนักธุรกิจ ในสายตาสาธารณชนเสียแล้ว
มันคือปัญหาความขัดแย้งในตัวเอง ตามหลักการ"ธรรมรัฐ" และจริยธรรมทางการเมือง อย่างรุนแรงนั่นเอง