หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-ตามที่สำนักข่าว INN ออกแถลงการณ์ชี้แจงขอน้อมรับต่อการตรวจสอบ โดยเฉพาะในข้อสังเกตที่เกิดขึ้นสำหรับ"สิ่งผิดปกติ"ในปรากฎการณ์ข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งห้วงเวลาและเนื้อหา เพื่อนำกลับไปตรวจสอบทบทวนกระบวนการทำข่าวที่ผ่านมาพร้อมกับยืนยันในความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนนั้น
สำนักข่าว INN ได้ มีเอกสารแนบชี้แจงเส้นทางข่าวนำเสนอเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้ง 13 ข่าวมาด้วย โดยเอกสารดังกล่าวระบุถึงวิธีการค้นหาข่าวแต่ข่าวตามเว็บไซต์ต่างๆ แต่เมื่อ"มติชนออนไลน์"ได้ค้นหาข่าวตามเว็บไซต์ดังกล่าว ปรากฎว่า บางเว็บไซต์สามารถเปิดได้ และพยายามสืบค้น แต่ไม่มีข่าวตามที่สำนักข่าวINN เสนอ หรือบางเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าได้
ขณะที่บางเว็บไซต์ทางสำนักข่าวINN อ้างว่า เคยเข้าได้ แต่อยู่ระหว่างการปรับปรุง
สรุปแล้ว ข่าวทั้ง 13 ข่าวที่สำนักข่าวINN นำเสนออย่างต่อเนื่องไม่อาจตรวจสอบแหล่งที่มาได้
นอกจากนั้น วิธีการได้มาซึ่งข่าวแต่ละข่าวส่วนใหญ่ เป็นการค้นพบข่าว พ.ต.ท.ทักษิณโดบบังเอิญ หลังจากพยายามค้นหาข่าวอื่น เช่น การหาข่าวเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคน ข่าวนักฟุตบอล ข่าวตลาดหุ้นวอลสตรีท การแยกตัวปกครองตนเองในโบลิเวีย ข่าวเลือกตั้งสหรัฐ ข่าวกลุ่มกบฏ UFDR ในแอฟริกา
เมื่อดูเส้นทางการค้นหาข่าวอื่นแล้วมาพบข่าว พ.ต.ท.ทักษิณโดยบังเอิญ แสดงให้เห็นศักยภาพของบุคคลากรของผู้สื่อข่าวสำนักข่าว INN ที่สำนักข่าวอื่นควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกัน เมื่อสำนักข่าว INN ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่ "มติชนออนไลน์"ก็ยืนยันเช่นกันว่า การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข่าวของสำนักข่าว INN ที่เกิดขึ้นตลอดกว่า 2 เดือนครึ่งว่า มี"สิ่งผิดปกติ"เกิดขึ้น มิได้มุ่งร้ายต่อสำนัก INN เพราะเชื่อว่า โดยตัวสำนักข่าว INN มิได้มีส่วนรู้เห็นแลเกี่ยวข้องกับข่าวซึ่งเป็น"สิ่งผิดปกติ"ดังกล่าว
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นบทเรียนร่วมกันของสื่อมวลชนไทยว่า การนำเสนอข่าวโดยไม่ตรวจสอบ"ที่มา"ของข่าวและ "แหล่งข่าว" รวมทั้งการไม่อ้างอิง"แหล่งข่าว"อย่างชัดเจน อาจสร้างความเสียหายให้แก่สาธารณชนและความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนเอง
ดังนั้น การร่วมมือกัน ในการเปิดเผยความจริงและ"ที่มา"ของข่าวไม่ว่า จะลึกลับซับซ้อนหรือมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหน จึงน่าจะเป็นทางออกและทำให้บทเรียนแก่สื่อมวลชนที่ดีที่สุด
ต่อไปนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่พยายามค้นหาใครอยู่เบื้องหลังของ"ที่มา"ของข่าวดังกล่าวและ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้ประโยชน์จากข่าวดังกล่าวในทางการเมืองอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการ "โฟนอิน" ปลุกเร้าม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
เป็นเวลากว่า 2 เดือนครึ่ง นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม จนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ที่ประชาชนคนไทยได้รับข่าวจากสื่อมวลชนไทยทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุว่า บรรดารัฐบาลประเทศเล็กๆทั้งในแถบทะเลแคริบเบียน คือ บาฮามาส หมู่เกาะเบอร์มิวดา ทวีปอเมริกใต้คือ โบลิเวีย และทวีปแอฟริกาคือ แอฟริกากลาง แชด โตโก ต่างชื่นชมและต้องการตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี ไปเป็นที่ปรึกษา ไปช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไปลงทุน รวมถึงไปเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์
สื่อมวลชนไทยเหล่านั้นไทยต่างนำข่าวดังกล่าวมาจากสำนักข่าว INN ของไทยซึ่งมีทั้งอ้างอิงที่มาและไม่อ้างอิงสำนักข่าว INN จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญของสื่อมวลชนไทยที่ไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวอย่างแน่ชัดจน
สำนักข่าว INN เป็นสำนักข่าวเดียวริเริ่มและผูกขาดนำเสนอข่าวนี้รวมกันถึง 13 ข่าว ทั้งที่ๆเป็นเหตุการณ์เกิดในประเทศเล็กๆอยู่คนละมุมโลกกับประเทศไทยและเป็นประเทศที่คนไทยแทบทั้งประเทศไม่รู้จักคุ้นเคย
ทุกครั้งที่สำนักข่าว INN นำเสนอข่าวนี้ กองบรรณาธิการ "มติชนออนไลน์" ได้สั่งให้ฝ่ายต่างประเทศตรวจสอบต้อตอของข่าวจากเว็บไซต์สื่อท้องถิ่นที่ สำนักข่าวINN อ้างถึงได้แก่ หนังสือพิมพ์ The Tribune ของบาฮามาส, สถานีโทรทัศน์ ZNS Bahamas , สถานีวิทยุ ZNS 3 ของบาฮามาส , สถานีโทรทัศน์ VSB TV Channel 11 ของเบอร์มิวดา, หนังสือพิมพ์ L?Evenementiel ของแอฟริกากลาง ,หนังสือพิมพ์ Le Progres ของสาธารณรัฐแชด ( CHAD), สถานีวิทยุ Radio Kara ของรัฐบาลโตโก ,สถานีวิทยุ ราดิโอ อิญิมานี (Radio Illimani) ของรัฐบาลโบลิเวีย ,หนังสือพิมพ์ ลา เอสเตรญา เด โอเรียนเต(ภาษาสเปน) ของโบลิเวีย
แต่ไม่เคยตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามไม่เคยฉุกใจว่า อาจมีการ"เต้า"ข่าวขึ้นมาเพื่อหวังผลในทางการเมือง แต่ไพล่คิดไปว่า อาจมีทีมที่ปรึกษาของพ.ต.ท.ทักษิณไปล็อบบี้ผู้นำประเทศต่างๆให้ออกมาให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณสูงเกินไป
ที่สำคัญไม่เคยปรากฎว่า สำนักข่าวระดับโลกที่างสนใจข่าวความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่าง เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี ซีเอ็นเอ็น ฯลฯซึ่งมีนักข่าวและสำนักงานอยู่ทั่วโลกได้สัมภาษณ์ผู้นำรัฐบาลประเทศเหล่านั้นหรืออ้างรายงานข่าวสื่อท้องถิ่น อย่างที่สำนักข่าว INN ได้นำเสนอ แต่บางสำนักกลับอ้างรายงานข่าวของสื่อมวลไทยแบบไม่ยืนยัน
จนกระทั่งล่าสุด(วันที่ 13 พฤศจิกายน-เวลาท้องถิ่น) Nassau Guardian หนังสือระดับชาติของบาฮามาส ได้สัมภาษณ์ นายเบรนต์ ไซโมเน็ตต์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกิจการต่างประเทศบาฮามาส ซึ่งยืนยันว่า ตนยังไม่เคยได้รับเรื่องการร้องขอลี้ภัยเข้าประเทศ หรือการเสนอสถานภาพพลเมืองพิเศษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เลย
เช่นเดียว เดอะ รอยัล กาเซตเต ของหมู่เกาะเบอร์มิวดา รายงานเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น) นายเอวาร์ต บราวน์ นายกรัฐมนตรีเบอร์มิวดา ให้ความเห็นถึงกรณีที่สำนักข่าวของประเทศไทยแห่งหนึ่ง รายงานข่าวว่า เบอร์มิวดาเสนอให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ลี้ภัยในประเทศว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง รายงานเหล่านั้น ถูกกุขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของข่าวแล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
หนึ่ง เป็นการเสนอข่าวเพื่อต่อต้านปกป้องข่าวด้านลบเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น หลังจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีที่ดิน ถนนรัชดาภิเษกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ข่าวเร่งทางการไทยให้ใช้กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับพ.ต.ท.ทักษิณ, มีการเรียกร้องให้เรียกคืนเครื่องราชอิสรายาภรณ์จาก พ.ต.ท.ทักษิณหลังจากถูกศาลฎีกาฯตัดสินจำคุก, ทางการอังกฤษเพิกถอนวีซ่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
สอง เป็นการเสนอข่าวสนับสนุนการเคลื่อนไหวและสร้างภาพลักษณ์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อขยายผลทางการเมือง เช่น การที่พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาที่ม็อบเสื้อแดงวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน , ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตกไปเพราะองค์ประชุมไม่ครบเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนซึ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถออกหวย 2 ตัว 3 ตัวที่เฟื่องฟูมากสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏว่า ในวันรุ่งขึ้นสำนักข่าวINNเสนอข่าวว่า รัฐบาลจะเชิญ พ.ต.ท.ทักษิรไปเป็นที่ปรึกษาในการออกหวย 2ตัว 4 ตัวทันที
เมื่อยิ่งพิจารณา วัน เวลา ที่สำนักข่าว INN นำเสนออย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งการอ้างแหล่งข่าวและไม่อ้างแหล่งข่าว ยิ่งทำให้เห็นช่วงจังหวะเวลาที่สอดคล้องกันการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับพ.ต.ท.ทักษิณอย่างมาก
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ข่าวทั้งหมดเป็น "ข่าวลวงโลก" ที่วงการหนังสือพิมพ์เรียกว่า เป็นการ "เต้า" ขึ้นมาหรือไม่
ถ้าใช่ ใครเป็นผู้กระทำ และมีวัตถุประสงค์อย่างไร
มีใครเป็นผู้อยู้เบื้องหลังหรือเป็น "ผู้บงการ"
การตอบคำถามดังกล่าวต้องดูว่า ใครได้ประโยชน์จากกระบวนการนำเสนอข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องของสำนักข่าวINN
ย้อนกลับเมื่อค่ำคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถานซึ่ง "สามเกลอ"นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ จัดงาน"ข้อเท็จจริงวันนี้"ชุมนุมพลคนเสื้อแดงหลายหมื่นคน เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โทรศัพท์ทางไกลหรือที่เรียกกันว่า "โฟนอิน"มาจากฮ่องกงซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการประกาศสครามกับศัตรูทางการเมือง
ตอนหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า
คลิก-ฟังเสียง "แม้ว" โฟนอิน
"เวลาเขาไล่คนบ้างานออกไป(รัฐประหาร(19 กันยายน 2551-กองบรรณาธิการมติชน) แล้วเขาไปเอาคนที่เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน(รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ -กองบรรณาธิการมติชน)มาช่วยทำงาน ระหว่างผมอยู่อังกฤษ ผมไม่มีอะไรทำก็กลัวจะสมองฝ่อ กลัวเหงา ก็ไปซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาบริหาร ตอนหลังมานึกว่า จะได้เงินคืน เขาก็ยังไม่ถอนอายัดทรัพย์ ผมก็เลยต้องขายทีมไป ขายทีมให้กับพวกอาบูดาบี เลยพอมีกำไรไว้เลี้ยงครอบครัว ไว้ใช้จ่ายระหว่างชดใช้กรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ
"ระหว่างอยู่เมืองนอกนี่แหละครับ ตอนนี้พอเขาเห็นว่า ผมทำงานระดับโลกสำเร็จ ก็มีนักธุรกิจจากหลายประเทศมาชวน ผู้นำหลายประเทศก็มาเชิญผมไปเป็นราษฎรกิตติมศักดิ์ เพื่อช่วยคิดแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเขา ผมเองก็ภูมิใจ แต่ลึก ก็เศร้าใจว่า ทำให้ใครก็ได้ในโลกนี้ แต่ทำให้ประเทศตัวเองไม่ได้"
ก่อนที่จะจบการโฟนอินในวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวทิ้งท้ายว่า
"ตัวผมเองก็ขอใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนอีกสักระยะหนึ่ง ก็คงจะทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศอื่นตามที่เขาต้องการว่า ให้ผมไปช่วยเหลือด้านนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ"
การที่พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า
1."...ผู้นำหลายประเทศก็มาเชิญผมไปเป็นราษฎรกิตติมศักดิ์ เพื่อช่วยคิดแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเขา.."
2."..ตัวผมเองก็ขอใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนอีกสักระยะหนึ่ง ก็คงจะทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศตามที่เขาต้องการว่า ให้ผมไปช่วยเหลือด้านนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ"
ย่อมต้องหมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการติดต่อจากผู้นำประเทศเล็กๆเหล่านั้น เช่น บาฮามาส ให้ไปเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ โตโก แชด แอฟริกากลางไปช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ไม่ใช่การพูดพล่อยๆไปตามข่าวโคมลอยอย่างแน่นอน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำอย่างน้อย 2 ประเทศคือ เบอร์มิวดา และบาฮามาสออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการผ่านสื่อที่มีตัวตนและมีแหล่งอ้างอิง(Nassau Guardian และดอะ รอยัล กาเซตเต)อย่างชัดเจนว่า ไม่เคยติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยยื่นขอลี้ภัยหรือขอเป็นพลเเมืองกิตติมศักดิแต่อย่างใด
แล้วทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ จึงนำเรื่องที่สำนักข่าว INN นำเสนอมาพูดแบบสมประโยชน์จากข่าวที่ยังไม่มีการยืนยัน หรือพ.ต.ท.ทักษิณรู้อยู่แล้วว่า มีขบวนการสร้างหรือ"เต้า"ข่าวขึ้น แต่ไม่มีใครตรวจสอบแหล่งที่มาได้แน่ชัดยิ่ง
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาข่าวทั้ง 13 ข่าวอย่างละเอียดจะพบว่า ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเล็กเหล่านี้มีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ขนาดของประเทศ จำนวนประชากร นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคการเมืองใด เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชื่อผู้บัญชาการเหล่าทัพ ฯลฯ
การค้นคว้าข้อมูลเหล่านี้ต้องอาศัยทีมงานที่มีความรู้ด้านต่างประเทศพอสมควรเพื่อใส่ข้อมูลเหล่านี้ลงไปในข่าวเพื่อความน่าเชื่อถือ
หรือนี่เป็นฝีมือของทีมงานสร้างภาพเหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วยุค พ.ต.ท.ทักษิณเรืองอำนาจ
กระชากหน้ากากจอมบงการสั่งเต้าข่าวลวงโลก? โยงแม้วใช้ประโยชน์รับสมอ้างโฟนอินปลุกม็อบเสื้อแดง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง กระชากหน้ากากจอมบงการสั่งเต้าข่าวลวงโลก? โยงแม้วใช้ประโยชน์รับสมอ้างโฟนอินปลุกม็อบเสื้อแดง