ก.ค.ศ.เยียวยาครูไม่ผ่านประเมินวิทยฐานะ2.2 หมื่นราย ดึงเข้าอบรม-ส่งผลงานใหม่ ปรับเกณฑ์แก้องค์ประกอบกรรมการอ่านผลงานเน้นคนเข้าใจครู "ศรีเมือง" พร้อมให้ดีเอสไอตรวจสอบแป๊ะเจี๊ยะแลกเข้าโรงเรียนดัง ขู่เจอสั่งย้าย ผอ.ทันที
เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ว่ามีการหารือกรณีครูที่ไม่ผ่านประเมินวิทยฐานะมาร้องเรียนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมและมีมติให้ช่วยเหลือครูที่ยังไม่ผ่านประเมินเข้าสู่วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 22,350 คน
นายชินภัทรกล่าวว่าครูทั้งหมดไม่ผ่านประเมินวิทยฐานะเพราะตกการประเมินด้านที่ 3 มี2 ส่วนคือ ประเมินผลปฏิบัติงาน และประเมินผลงานวิชาการ ซึ่งผู้ขอรับการประเมินต้องผ่านประเมินทั้งสองด้าน แต่ละด้านต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของกรรมการทั้ง 3 คนและผลคะแนนเฉลี่ยรวมของกรรมการ 3 คนรวมกันจะต้องได้ร้อยละ 70 ขึ้นไปจึงจะผ่านประเมิน แต่ครู 22,350 คนมีผู้ที่ผลงานวิชาการได้คะแนนผ่านตามเกณฑ์จากกรรมการ 2 คนจำนวน 2,418 คนที่เหลืออีก 19,932 คนผลงานวิชาการได้คะแนนผ่านเกณฑ์จากกรรมการแค่ 1 คนหรือไม่ผ่านสักคน
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าที่ประชุม ก.ค.ศ.จึงพิจารณาให้ช่วยเหลือครูที่ไม่ผ่านประเมินดังนี้ กลุ่มแรก ซึ่งคะแนนผลงานวิชาการผ่านตามเกณฑ์จากกรรมการ 2 คนนั้นให้ถือว่าครูกลุ่มนี้มีเครดิต เพราะตามการประเมินทั่วไปแม้การประเมินอาจารย์มหาวิทยาลัย หากผู้รับประเมินผ่านประเมินด้วยคะแนน 2 ใน3 ถือว่าผ่านประเมิน จะให้โอกาสครูกลุ่มนี้ส่งผลงานวิชาการอีกครั้ง แต่ต้องไปเข้าอบรมพัฒนาตัวเอง 3 ด้านก่อนคือ สาระการเรียนรู้ การพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอน และเทคนิคการวิจัยในชั้นเรียน จากนั้นให้นำความรู้ที่อบรมมาปรับการสอนและผลงานวิชาการ แล้วส่งให้คณะกรรมการอ่านผลงานวิชาการชุดเดิมอีกครั้ง
"จะทำความเข้าใจกับกรรมการอ่านผลงานวิชาการว่า การประเมินผลงานวิชาการในระดับชำนาญการพิเศษลงมานั้น เน้นวิจัยเชิงปฏิบัติการ วิจัยในชั้นเรียน ส่วนการประเมินผลงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป จึงจะเน้นวิจัยแบบอคาเดมิก รีเสิร์ช เพราะต้องนำไปเผยแพร่จึงต้องเป็นงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล ดร.ชินภัทรกล่าว
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าส่วนครูอีกกลุ่มที่คะแนนผลงานวิชาการผ่านจากกรรมการแค่ 1 คนหรือไม่ผ่านเลยนั้น ให้รอเข้ารับประเมินใหม่ แต่ให้เก็บคะแนนการประเมินด้านที่ 1 และ2 ไว้ไปใช้ในการประเมินครั้งใหม่และให้ครูกลุ่มนี้เข้ารับการอบรมทั้ง 3 ด้านเช่นกันแต่จะเป็นการอบรมที่เข้มข้นกว่ากลุ่มแรก โดย ก.ค.ศ.จะกำหนดชั่วโมงและเนื้อหาการอบรมให้ภายหลัง
ดร.ชินภัทรกล่าวอีกว่าที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ปัจจุบัน หรือ ว 25 โดยปรับในส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการอ่านผลงานวิชาการให้มีสัดส่วนและมีคนที่เข้าใจการปฏิบัติงานของครูเพิ่มมากขึ้นโดยกรรมการอ่านผลงานวิชาการนั้น ยังคงเป็น 3 คนเหมือนเดิมหนึ่งในนั้นมาจากคนในสังกัดเดียวกันเหมือนเดิมที่เหลืออีก 2 คนให้มาจากคนนอกสังกัดหรือนอกเขตพื้นที่ แต่เพิ่มเติมให้ใช้ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วได้ โดยองค์ประกอบใหม่ของกรรมการอ่านผลงานนี้ จะนำมาใช้ทันทีกับครูกลุ่ม 2 และใช้กับการประเมินครั้งต่อๆไป และจะให้มีจุดตรวจผลงานวิชาการ 12 จุดทั่วประเทศโดยใช้เขตตรวจราชการเป็นฐาน
แนวทางช่วยเหลือครูข้างต้นอธิบายต่อสังคมได้ว่าไม่ได้ให้วิทยฐานะครูโดยอัตโนมัติ แค่ให้โอกาส แต่มั่นใจได้ว่าครูจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาการสอนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
นายศรีเมืองเจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเข้ามาตรวจสอบการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าโรงเรียนชื่อดังว่า ยินดีหากจะเข้ามาตรวจสอบ เพราะดีเอสไอมีกระบวนการตรวจสอบเชิงลึก หากผลตรวจสอบพบว่ามีใครรับเงินจริงก็ต้องดำเนินการสั่งย้ายทันที สมัยที่ลูกชายสอบเข้าโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง ก็มีหนังสือยืนยันมาว่าสอบผ่าน แต่ต้องจ่ายเงินเข้ามูลนิธิของโรงเรียนก่อนถึงจะได้เข้าเรียน แต่ไม่ได้จ่ายเพราะเห็นว่าไม่สมควร จึงให้ลูกไปเรียนที่โรงเรียนอื่นแทน
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่าได้ให้นโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าการรับนักเรียนปีการศึกษา 2552 ไม่ให้โรงเรียนรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือเงินอันเป็นผลประโยชน์อื่นใดในช่วงรับนักเรียนเป็นอันขาด แม้ช่วงนี้ยังไม่ถึงเวลารับนักเรียน แต่มีผู้ร้องเรียนเรื่องการรับเงินฝากเด็กเข้าเรียนมาบ้างแล้ว ซึ่งไม่อยากให้เกิดเรื่องเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่าเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีอย่างทั่วถึงและไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ปัจจุบันรัฐบาลจัดการศึกษาถึง 14 ปีส่วนผู้ปกครองห่วงว่าลูกจะไม่มีที่เรียน ขอยืนยันว่าเด็กทุกคนจะต้องมีที่เรียนและทุกคนต้องได้เรียน