"อภิรักษ์" ถกทีมงาน ปชป.เครียด เตรียมรับมือ ป.ป.ช.ชี้ขาด คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิงมูลค่า6,000 ล้าน อังคารนี้ เผยอาจชิงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนศาลฎีกาฯ ตัดสิน โดยหวังเรียกคะแนนนิยมหากมีการเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงใหม่ อาจจะตกเป็นของพรรคอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิด "มติชนออนไลน์" เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีวาระการพิจารณา ชี้มูลความผิดคดีทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณะภัยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่า 6,600 ล้านบาท ในวันอังคารที่ 11 พ.ย. ว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาจากจำนวนทั้งหมด 11 ราย ได้หารือกับทีมงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในประเด็นที่ว่าถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่านายอภิรักษ์ มีคนวามผิดทางอาญา ซึ่งจะต้องหยุดปฏิบัตหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญ นายอภิรักษ์จะกำหนดท่าทีอย่างไร
แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว มีความเห็นเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกเห็นว่า นายอภิรักษ์ควรจะแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งทันที
ไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เพราะกระบวนการจากป.ป.ช.ส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา จนกระทั่งศาลฎีกาฯ ตัดสิน ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน เมื่อนายอภิรักษ์ลาออก ก็ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ ซึ่งการแสดงสปิริตของนายอภิรักษ์ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งใหม่ก็มีสูง แม้ต่อมาภายหลังศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า นายอภิรักษ์ไม่ผิด ก็จะทำให้นายอภิรักษ์ได้รับคะแนนนิยมในระดับสูง เนื่องจากประชาชนเห็นว่าเป็นนักการเมืองที่มีสปิริตโอกาสที่จะเติบโตในการเมืองระดับชาติก็ทำได้ง่าย
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หากนายอภิรักษ์ไม่ยอมลาออก โดยอ้างว่ารอคำตัดสินจากศาลฎีกาฯ ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ผิดก็เข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อได้
แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งและหากศาลไม่รอลงอาญา ก็จะต้องถูกจำคุกเลย ถึงตอนนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็จะโดนโจมตีอย่างหนักว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทุจริตในการบริหารราชการ กทม. ประกอบกับ สถานการณ์การเมืองอาจเปลี่ยนแปลงโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับเลือกตั้งก็มีสูง
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางที่สองคือ ไม่ควรลาออกจนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษา เพราะคิดว่าการพิจารณาคดีในเรื่องนี้คงจะไม่นานประมาณ 2-3 เดือน
หากลาออกแล้วถ้าศาลฯ ตัดสินว่าไม่ผิดจะเสียโอกาสในการทำงาน ตามที่ได้วางนโยบายไว้ อย่างไรก็ตาม สำหรับนายอภิรักษ์ ได้บอกกับทีมงานว่า พร้อมจะลาออกถ้าป.ป.ช.มีมติว่ามีความผิด ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวระดับสูงจาก คณะกรรมการป.ป.ช.เคยเปิดเผยผ่าน "มติชนออนไลน์" ว่า ในการพิจารณาคดีนี้ จะพิจารณาชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 11 คน ทีละคน และเชื่อว่าส่วนใหญ่จะมีมติตามความเห็นของอนุกรรมการไต่สวน ยกเว้นแต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่กรรมการ ป.ป.ช.น่าจะมีการถกเถียงกันมาก เนื่องจากนายอภิรักษ์ยกข้อต่อสู้และมีหลักฐานว่า ก่อนที่นายอภิรักษ์จะเปิดแอลซีเพื่อชำระเงินให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯผู้ขายรถดับเพลิง นายอภิรักษ์ได้ทำเรื่องทักท้วงไปที่กระทรวงมหาดไทยหลายครั้ง แต่ทางกระทรวงมหาดไทยโดยนายโภคิน พลกุล และนายประชา มาลีนนท์ สั่งให้นายอภิรักษ์เปิดแอลซีตามสัญญาถึง 4 ครั้ง ตามเอ็มโอยูที่ทำกับประเทศออสเตรีย
"นอกจากนั้นยังมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่นายสมัคร สุนทรเวชาซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาซื้อรถดับเพลิงฯดังกล่าวก่อนพ้นตำแหน่งเพียงวันเดียว อ้างว่า ถ้านายอภิรักษ์ ไม่เปิดแอลซี สัญญาการซื้อขายรถดับเพลิงจะไม่สมบูรณ์ด้วย ขณะที่นายอภิรักษ์ต่อสู้ว่า ถ้าไม่เปิดแอลซี ถือว่า เป็นการผิดสัญญาอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลว่า นายอภิรักษ์มีความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากจะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งสำนวนดีให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว นายอภิรักษ์ยังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการ กทม. ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 55 และ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ จนกว่า ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษาว่า ไม่มีความผิด
อภิรักษ์ถกเครียดรับมือป.ป.ช.ชี้ขาดรถดับเพลิง อาจชิงลาออกไม่รอศาล
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 11 คน ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะอดีตผู้ว่าราชการ กทม., พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันสาธารณภัย กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร , นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,นายราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายมาริโอ มีน่าร์ ในฐานะผู้แทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี และบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี ในฐานะคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ซึ่งหมดวาระเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551
ได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อโดยประเด็นสำญที่ คตส.ตรวจสอบคือ การดำเนินการจัดซื้อยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งดำเนินการโดยบุคคลหลายฝ่าย มีมูลน่าเชื่อว่า เป็นการกระทำร่วมกัน มีเป้าหมายอันเดียวกัน ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีระเบียบ และกฎหมาย โดยมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า วิธีการ และราคาไว้ล่วงหน้า ส่อไปในทางมีเจตนาทุจริต เป็นเหตุให้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นจำนวน 1,900 ล้านบาทเศษ
ในช่วงแรกนั้น คตส.ได้ไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 5 คน คือนายโภคิน พลกุล, นายประชา มาลีนนท์, นายสมศักดิ์ คุณเงิน, นายสมัคร สุนทรเวช,และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ แต่มิได้เอาผิดนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนตัวประธานและอนุกรรรมการตรวจสอบจากนายประเสริฐ บุญศรี มาเป็นนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.ด้วย
ต่อมา คตส. ได้มีมติ ให้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม อีก 6 คน คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน นายวัฒนา เมืองสุข นายราเชนทร์ พจนสุนทร นายมาริโอ มีน่าร์ ในฐานะผู้แทนบริษัท บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี และบริษัท บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี ในฐานะคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร
คตส. ยังมีมติด้วยว่า การทำข้อตกลง ( A.O.U.) เป็นการทำข้อตกลงที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ของการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ
คู่กรณีฝ่ายออสเตรียได้แสดงเจตนาลวงเพื่อให้เข้าใจผิดว่า ออสเตรียมีเจตนาทำข้อตกลงในลักษณะระหว่างรัฐต่อรัฐ จะจัดหาเงินทุนให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย อีกทั้งให้มีการทำการค้าต่างตอบแทนระหว่างกันอีกด้วย แต่เงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวหาได้กระทำไม่ นอกจากนั้น จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ลงนามฝ่ายไทย รวมทั้งหน่วยงานเจ้าของโครงการที่มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง มีการตกลง สมรู้ร่วมคิดกันมาก่อนระหว่างผู้แทนฝ่ายออสเตรียและฝ่ายไทย จึงเชื่อได้ว่าผู้ลงนามฝ่ายไทยสมคบกันกับผู้ลงนามฝ่ายออสเตรียเพื่อทำข้อตกลง A.O.U. ดังกล่าว ซึ่งการกระทำนั้นเข้าลักษณะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยคู่กรณีสมรู้ร่วมคิดกัน มีผลให้ A.O.U. เป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์