กรุงเทพธุรกิจ
27 มิถุนายน 2549 17:54 น.
´ถาวร เสนเนียม´ ขึ้นศาลสืบพยานโจทก์นัดฟ้อง3กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เบิกความลำดับเหตุการณ์รัฐบาลยุบสภา ออกหนังสือเวียนให้รับผู้สมัครเวียนเทียนได้ นัดสืบพยานอีก28มิ.ย.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก -- ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ในคดีที่ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต.
ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ 42
จากกรณีที่ กกต. ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจและการออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กกต.เขต ให้รับผู้สมัครรายเดิม เวียนเทียนสมัครใหม่
การสืบพยานวันนี้ นายถาวร โจทก์ เป็นพยานเพียงปากเดียว ขึ้นเบิกความลำดับเหตุการณ์การจัดเลือกตั้งสรุปว่า หลังจากที่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศ พรฎ.ยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และ กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 และ เลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เมษายน 2549
ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต 6 จังหวัดสงขลา ได้คัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวหลายครั้ง เนื่องจากการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นกลาง กำหนดวันเลือกตั้งหลังยุบสภาเพียง 37 วัน ทำให้พรรคไทยรักไทย ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น อีกทั้งการจัดการเลือกตั้งยังไม่เป็นความลับ เมื่อมีการหันคูหาออกให้บุคคลภายนอกเห็นการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และให้เพิกถอนการเลือกตั้ง
นายถาวร เบิกความต่อว่า หลังจากมีการยุบสภา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้มีมติว่าจะไม่ส่งสมาชิกลงสมครรับเลือกตั้ง ส.ส.โดยในรัฐธรรมนูญ มาตรา326 ได้บัญญัติไว้ว่า จะอ้างเหตุการณ์ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มาเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองนั้นไม่ได้ การเลือกตั้งที่ผ่านมา
ตนไปใช้สิทธิตามปกติ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกตัดสิทธิการลงสมัคร ส.ส. จากการเลือกครั้งดังกล่าวนั้น ทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และ เมื่อพบว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตนต้องคัดค้านถึง 3 ครั้ง
นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียเงินในการจัดการเลือกตั้งถึง 2,000 ล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม จนถึงขั้นที่ 3 ศาลต้องออกมาแก้วิกฤตปัญหาที่เกิดจากการกระทำของ จำเลยทั้งสาม
เขาเบิกความต่อศาลอีกว่า ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 นั้น มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ที่ลงสมัครเพียงพรรคเดียว มีคะแนนไม่ถึง ร้อยละ 20 ตามกฎหมาย จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จำนวน 38 เขต ใน 15 จังหวัด
ซึ่งในการประชุมของ กกต. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 กกต.ได้มีมติที่เป็นประโยชน์แก่พรรคไทยรักไทย โดยเปิดให้มีการรับสมัครใหม่ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา7/2 ให้อำนาจ กกต. ว่า ในการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น กกต.มีอำนาจในการย่น ขยายเวลา ไม่ได้ให้อำนาจในการให้สมัครใหม่แต่อย่างใด
ทั้งนี้เหตุที่ใหม่มีการรับสมัครใหม่นั้น เนื่องจาก กตต.ต้องการช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย ที่ลงสมัครเพียงพรรคเดียวแต่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 20
นายถาวร เบิกความด้วยว่า นอกจากนี้ในการรับสมัครใหม่นั้น พรรคไทยรักไทย ได้ใช้หมายเลข 2 ตามเดิม ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ได้หมายเลขที่นับถัดไปจากการรับสมัครในครั้งแรก ซึ่งในการประชุมในครั้งนั้น ในรายงานไม่มีมติดังกล่าว ถือเป็นการประกาศตามอำเภอใจของ กกต. เพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย
ภายหลังมีการประกาศรับสมัครใหม่แล้ว กกต.ยังเพิ่มวันในการรับสมัครอีก ในวันที่ 19-20 เมษายน 2549 เนื่องจากในการรับสมัครก่อนหน้านั้น มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ และเอกสารไม่พร้อม กกต. จึงช่วยเหลือในการรับสมัครใหม่
ทั้งนี้เพื่อให้มีผู้สมัครลงแข่งขันกับผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ประเด็นถัดมาเรื่องการเวียนเทียนผู้สมัคร ส.ส.ด้วยว่า กกต.ได้ออก
หนังสือเวียนถึง กกต. เขตที่จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดว่าให้รับสมัครผู้สมัครในเขตอื่นได้
โดยมติดังกล่าวขัดกับประกาศของ กกต.เดิม ที่ให้ผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเดียว เป็นการจงใจช่วยพรรคไทยรักไทย ให้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20
หลังเบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 09.30 น.