พปช.ร้าวเบรกกันเอง กุเทพ ชมแนวคิดยกเลิกประกาศ คปค.ปล่อย111 ทรท.ดี แต่ระวังติดหล่มวิธีไม่เหมาะสม


พปช.หันมายกเลิกประกาศ คปค.ปล่อย "111ทรท."เป็นอิสระ ล่า1หมื่นชื่อ "กุเทพ"เตือน" ระวังถูกโยงการเมืองชี้แนวคิดดีแต่วิธีไม่เหมาะสม กกต.ชี้ไม่มีผลรธน.การันตีไว้แล้ว 3 กลุ่มยื่นรองปธ.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ปชป.แนะชะลอ-เวลานี้ไม่เหมาะ

"หมอทศ"แก้เกมเล็งยุ ส.ส.ลุย รื้อ คปค.27

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ผู้ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 เพื่อช่วยอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี กล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนว่า จะใช้ช่องทางให้ประชาชนเข้าชื่อ 1 หมื่นคน เพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะนี้รวบรวมรายชื่อได้แล้วกว่า 2 พันคน ส่วนหากไม่มีกฎหมายที่จะรองรับการเสนอชื่อ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกยกเลิกไปพร้อมรัฐธรรมนูญปี 2540

นพ.ทศพรกล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นอาจจะขอใช้ช่องทางการเข้าชื่อของ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนแทน เท่าที่ทราบมีหลายคนที่เห็นด้วยในหลักการแล้ว และหลังจากเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวออกไปแล้ว มีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหลายคนได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลและแสดงท่าทีที่สนับสนุน ทั้งนี้ เตรียมที่จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทางไปรษณีย์เพื่อมอบให้แก่อดีตกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองทุกพรรคด้วย นพ.ทศพรกล่าวถึงกรณีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าหากผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกฯสำเร็จก็ไม่มีผลกระทบต่อการตัดสิทธิทางการเมือง นพ.ทศพรกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายกฎหมายต่างๆ ว่าจะมีผลหรือไม่ เพื่อที่จะหาเทคนิคหรือช่องทางอื่นแทน

พปช.ไม่ฮุบเหนือรับผวาติดหล่ม

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง รักษาการโฆษกพรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้อย่าเพิ่งไปมองถึงผลว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคจะได้รับสิทธิทางการเมืองคืนหรือไม่ แต่ต้องมองที่เหตุว่าประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าวร่างขึ้นมาโดยเผด็จการรัฐประหาร ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นน่าสนับสนุน แต่ในพรรคยังไม่มีการหารือกัน คงจะต้องมีการพิจาณากันอย่างรอบคอบ แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีแนวคิดที่ดี แต่การที่อดีตกรรมการบริหารพรรคมาดำเนินการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง จึงทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปว่าทำเพื่อตัวเอง และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไป

"แนวคิดการยกเลิกประกาศ คปค.หรือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือเป็นแนวคิดของคนที่หวังดี แต่ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นผู้รับโทษไม่ได้รับประโยชน์ และถูกโจมตีแทน ถือว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะสังคมบางส่วนจะมองว่าทำเพื่อตัวเอง ดังนั้น เราจึงไม่ควรไปติดหล่มตรงนั้น" ร.ท.กุเทพกล่าว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า วันนี้ประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน และเพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้และมีความสำเร็จ ควรที่จะชะลอความคิดเรื่อง 111 คนเอาไว้ก่อน เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่อยนำเรื่องนี้ขึ้นมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่าจะคืนสิทธิด้วยวิธีใด

กกต.ชี้ไม่มีผลรธน.การันตีไว้แล้ว

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 เพื่อคืนสิทธิทางการเมือง คงไม่สามารถทำอะไรได้กับคำสั่งที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ได้กระทำไปแล้ว เพราะในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า บรรดาการกระทำใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังการประกาศรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ย่อมได้รับความคุ้มครองอยู่

"หากยกเลิกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ก็จะต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะอาจตีความว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ที่ออกมาตอนหลังหรือไม่ แต่มาตรา 309 ก็ให้การรับรองการกระทำของ คมช.ไว้แล้ว การจะรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวก็คิดว่าทำได้ แต่ขึ้นอยู่ที่สภาจะรับกฎหมายดังกล่าวนี้หรือไม่" นางสดศรีกล่าว

ปชป.แนะชะลอ-เวลานี้ไม่เหมาะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดเสนอกฎหมายยกเลิก คปค.ฉบับที่ 27 ว่า เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่เมื่อมาถึงสภาก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.จะพิจารณาว่า เหมาะสมหรือไม่ บรรยากาศการเมืองขณะนี้ควรจะชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน ใช้เวลาสานเสวนาให้เป็นประโยชน์น่าจะดีกว่า

"เวลานี้ไม่เหมาะ ควรจะเลื่อนออกไปก่อน ถ้าสามารถให้คู่กรณีอย่างกลุ่มพันธมิตรและรัฐบาลมาพูดคุยสะสางปมปัญหาก่อน จากนั้นค่อยมาคุยกันในหลักการว่าใครไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้วจะผลักดันอย่างเดียว" นายอภิสิทธิ์กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงเรื่องที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี สั่งห้ามรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.3 ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า นายกฯทำอะไรตรงไปตรงมาดีกว่า วิธีนี้ใช้หลอกใครไม่ได้ เพราะที่จริง การเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ทำโดยรัฐบาล อยากให้สภาใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ที่เหลือก่อนหมดสมัยประชุม มาคุยเรื่องงบประมาณกลางปี 2552 จำนวน 1 แสนล้านบาทจะดีกว่า เพราะหลายฝ่ายอยากเห็นความชัดเจน แต่ถ้าเอาเรื่องกฎหมายนิรโทรกรรม หรือ ส.ส.ร.เข้ามา เป็นเรื่องที่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น บรรยากาศทางการเมืองก็จะตึงเครียดขึ้น

"วิธีนี้ใช้หลอกใครไม่ได้ ไม่เช่นนั้นหัวหน้าพรรคร่วมที่คุมรัฐมนตรีและ ส.ส.ได้ จะไปประชุมกันทำไม อยากให้ลองดูว่าถ้านายกฯบอกว่าเรื่องนี้ควรชะลอไว้ก่อน ผมก็เชื่อว่าจะมีผลต่อลูกพรรค" นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมกับยืนยันจุดยืนเดิมให้ทบทวนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำรอยวันที่ 7 ตุลาคม

3กลุ่มยื่นรองปธ.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ 

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มสตรีรักความสงบ ชมรมวิทยุชุมชนคนจริงใจคลื่น 94.75 และตัวแทนคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) นำโดยนายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.30 น. เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ฉบับปี 2540 เป็นต้นแบบ 

นายวรพลกล่าวว่า ตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเวทีระดมความคิดและสรุปว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้บ้านเมืองมีปัญหานั้น คปส.ไม่เห็นด้วยโดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข และการแก้ไขในกลไกรัฐสภาไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรงรอบใหม่ตามที่กล่าวอ้าง เหตุที่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจาก 1.รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติขึ้นโดยคณะบุคลที่ไม่ได้รับอนุญาตจากปวงชนชาวไทยให้เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ และการผ่านประชามติก็มีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะต้องมีการแก้ไขหลังการเลือกตั้ง 2.เนื้อหาสำคัญจำนวนมากในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ภายในและระหว่างประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องว่างการตีความให้องค์กรอำนาจหลายองค์กรตามรัฐธรรมนูญสามารถฮั้วกันใช้อำนาจบิดเบือนหลักการของกฎหมายเพื่อให้คุณให้โทษอย่างเลือกปฏิบัติขัดหลักนิติธรรม หากนิ่งดูดายไม่จัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วจะทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจึงจะมาจากสาเหตุของการก่อสถานการณ์ของกลุ่มผู้ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์