รายงาน-กองทัพ-รัฐบาล นับถอยหลัง แตกหัก


ปฏิเสธไม่ได้ว่า "โฟนอินพิฆาต" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่เอ่ยอ้างถึง "พระบารมี" ในการขอกลับคืนสู่แผ่นดินเกิด



ได้ผลักให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว กองทัพ "เสื้อแดง" ถูกปลุกขึ้นมาท้าชนกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยยุทธวิธี "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน"



การเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกันแต่สีเสื้อต่างกัน ระเบิดในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องจนใกล้ที่จะกลายเป็นเหตุการณ์ปกติประจำวันไปเสียแล้ว



ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางทั้งฝ่ายปกป้องและโจมตี ผ่านสื่อแขนงต่างๆ ปัจจัยของบ้านเมืองเหล่านี้ ทำให้สปอตไลท์ทางการเมืองหันไปจับจ้องท่าทีของ "กองทัพ" ในฐานะที่เป็นหน่วยกำลังของชาติว่าจะเดินหมากอย่างไรในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้



"ปณิธาน วัฒนายากร"
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเจาะบทบาทกองทัพในสถานการณ์ที่ถูกท้าทายและกดดันรอบด้าน...ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง



"ผมคิดว่าสถานการณ์หลังวันที่ 7 ตุลาคม ที่รัฐบาลตัดสินใจทำในสิ่งที่รุนแรงเกินความจำเป็น จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารพลิกจุดยืนมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกองทัพกับรัฐบาลมากเข้าไปอีก และรัฐบาลก็เริ่มระแวงทหารจากที่ไม่เคยสงสัยมาก่อน มีการเตรียมคนเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ-รัฐประหาร กันแล้ว



~แต่รัฐบาลประเมินว่าทหาร จะไม่กล้ายึดอำนาจ ??



-หลังจากนี้น่าจับตา เพราะการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยพูดถึงการขอพระบารมีเป็นการเดินกลยุทธ์ทางการเมืองขั้นสูงสุด เป็นเกมที่มีความอ่อนไหวสูงมาก เป็นความพยายามพลิกเกมของพันธมิตร โดยดึงสถาบันให้อยู่ฝ่ายของตัวเอง หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรอ้างมาตลอดว่าเป็นฝ่ายตัวเอง ทำให้สถานการณ์ตอนนี้สถาบันถูกดึงทั้งสองฝ่าย ทำให้ในรอบสัปดาห์ผมเห็นความเคลื่อนไหวของทหารที่คึกคักมากในหลายจังหวะ



ตอนนี้เงื่อนไขต่างๆ บีบให้สังคมเข้าสู่ Dangerous Zone (แดนอันตราย) ถ้าเป็นรัฐบาลปกติที่เป็นกลาง ก็ต้องออกมายับยั้งทั้งสองฝ่ายไม่ให้เกิดการหมิ่นสถาบัน แต่รัฐบาลนี้เห็นชัดเจนว่ามีท่าทีเข้าข้างทักษิณ จึงไม่พยายามป้องกันการโจมตีสถาบัน ถ้ากระบวนการกฎหมายสามารถมีหลักฐานสาวไปถึงตัวบุคคล อาจจะเป็นคนในบ้านเลขที่ 111 หรือกลุ่มทุนที่อยู่รายรอบรัฐบาลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีสถาบันก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลอยู่ยากขึ้น



~ทหารจะขยับได้ถึงขนาดไหนในเงื่อนไขแบบนี้??



-ในภาวะที่คนในสังคมมีพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่สถาบัน มีเว็บไซต์ วิทยุชุมชนโจมตีสถาบันมากมาย ทำให้ทหารมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งทหารเองก็พยายามเคลื่อนไหวตามกรอบกฎหมาย กอ.รมน. แต่ต้องดูการโยกย้ายนายทหารระดับ ผู้บังคับการกองพัน ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ว่าจะมีการย้ายทหารที่ไว้ใจไปรวมอยู่ในที่เดียวกันได้มากขนาดไหน ถ้าสามารถรวบรวมกำลังได้ ก็จะทำให้กองทัพปฏิบัติการบางอย่างได้ตามภารกิจ



 ~รัฐบาลอาจจะประคองตัวเอง ไปให้ถึงต้นปีหน้า??



-แน่นอน ผมคิดว่ารัฐบาลอยากซื้อเวลาไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อไปเลือกตั้งต้นปีหน้า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นการซื้อเวลา ตอนนี้ก็มีการปั๊มเงินลงไปในพื้นที่เป็นแสนล้านบาทเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ตอนนี้ฐานมวลชนเสื้อแดงก็ถูกปลุกเต็มพื้นที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเสถียรภาพของรัฐบาลก็เป็นไปได้ยากที่จะอยู่ได้ เพราะวันนี้ถึงแม้เป็นรัฐบาลแต่สั่งทหารไม่ได้ แม้กระทั่งตำรวจก็เริ่มถอยห่างจากรัฐบาล ทำให้เกิดสภาวะไร้รัฐบาล ยกตัวอย่างว่าถ้าทหารร่วมมือกับรัฐบาลโดยไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลในการคุ้มครองพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในสังคม ก็เท่ากับว่ามีรัฐบาลแต่บริหารประเทศไม่ได้



 แต่ถ้ารัฐบาลมีสัญญาณที่จะเข้าปราบปรามพันธมิตรในทำเนียบ ทหารอาจจะตัดสินใจออกมาสกัดกั้นเพื่อหยุดการใช้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่จุดของการ "แตกหัก" ระหว่างรัฐบาลกับทหาร ก็เป็นไปได้ ซึ่งตอนนี้ผมสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวของทหารที่เงียบแต่เข้มข้น เสมือนเป็นความเงียบก่อนที่จะมีพายุใหญ่จะเข้า

 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์