นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายประสงค์ มหาลี้ตระกูล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าวที่ห้องประชุมชั้น 13 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก ปฏิเสธว่านายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ไม่เคยมีคำสั่งหรือให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องของการเฝ้าติดตามการโทรศัพท์สายตรงจากประเทศอังกฤษ เข้ารายการความจริงวันนี้สัญจร วันที่ 1 พ.ย. และไม่ได้สั่งการให้เผยแพร่คำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก ลงในเว็บไซด์ของศาลฎีกาด้วย
"สำนักงานศาลยุติธรรมขอยืนยันว่า กรณีดังกล่าวเป็นการแอบอ้างชื่อประธานศาลฎีกา ซึ่งข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด "นายประสงค์ กล่าว
ด้านนายสราวุธ กล่าวว่า ประธานศาลฎีกาไม่ได้มีการสั่งการใดๆ ตามที่ตกเป็นข่าว และไม่มีการประชุมร่วมใดๆ ระหว่างประธานศาลฎีกา ผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งไม่มีการจัดตั้งคณะหนึ่งคณะใดขึ้นมาเฝ้าติดตามการโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ส่วนการเผยแพร่คำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินฯ ในเว็บไซด์ของศาลฎีกานั้นเมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาไปแล้ว กระบวนการขั้นตอนการนำมาเผยแพร่ถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ
เมื่อถามว่าประธานศาลฎีกาได้แสดงความกังวลและห่วงใยต่อกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวพาดพิงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่องค์กรวิชาชีพอย่างสภาทนายความยังได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า กระทำการลบหลู่ศาลยุติธรรม นายสราวุธ กล่าวว่า การทำงานของศาลยุติธรรมเหตุผลต่างๆ ปรากฏอยู่ในคำพิพากษา โดยการทำงานของศาลยุติธรรมนั้นไม่อาจออกมาตอบโต้หรือโต้เถียงกับคู่ความในคดีได้ เพราะศาลมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี ที่มีความอิสระและเป็นกลางในการทำหน้าที่ดังนั้นศาลจึงไม่ใช่คู่กรณีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เรามีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความ
เมื่อถามย้ำว่าจะมีการตั้งคณะตรวจสอบกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวพาดพิงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เพราะขณะนี้ดูเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่หยุดกล่าวพาดพิง ซึ่งจะทำให้ภาพพจน์ของศาลยุติธรรมเสียหาย นายสราวุธ กล่าวว่า ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการใดๆขึ้นมาตรวจสอบ
“ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การแสดงความคิดเห็นนั้นจะเกิดผลเสียหายหรือกระทบต่อส่วนรวม ขอเรียนว่าศาลยุติธรรมเป็นองค์กรของส่วนรวมของประเทศ ที่ทุกคนจะช่วยกันรักษาองค์กรนี้ไว้เป็นสถาบันของชาติ เพราะอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ดังนั้นจึงเป็นองค์กรที่สำคัญในการที่จะรักษาดุลยภาคในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของประเทศจึงฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแล”นายสราวุธกล่าว
เมื่อถามว่าหากการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวพาดพิงกระบวนการยุติธรรมไทยอีก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตัดสินคดีทุจริตจัดซื้อขายที่ดินฯ แล้วจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร นายสราวุธ ตอบว่า ตนคงให้ความเห็นหรือตอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือเป็นเพียงสมมติฐานไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็จะพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไร
“ปกติการจะดูว่าใครกระทำผิดกฎหมายอาญาใดก็ต้องดูว่าการกระทำของเขาเข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนที่ถูกกล่าวหา ดังนั้นต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อน โดยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น การใช้อำนาจของศาลก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ใช้เท่าที่จำเป็นเพราะมีทั้งโทษจำคุก และปรับด้วย”นายสราวุธ กล่าว
เมื่อถามว่าการปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบโต้ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เพียงฝ่ายเดียวแล้วจะทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยได้รับผลกระทบ ทางศาลมีมาตรการชี้แจงในเรื่องนี้หรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเพราะการทำหน้าที่ของศาลคำพิพากษาเป็นสิ่งที่อธิบายเหตุผลทั้งหมด ซึ่งศาลไม่สามารถออกมาโต้แย้งอะไรได้และไม่ใช่คู่กรณี ที่จะโต้แย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย
เมื่อถามว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าถูกกลั่นแกล้งให้ได้รับโทษถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ นายสราวุธ ตอบว่า การจะละเมิดอำนาจศาลหรือไม่เป็นการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งหากเป็นกรณีที่คดีกำลังเข้าสู่การพิจารณาของศาลการให้ความคิดเห็นใดๆ ลักษณะเป็นการชี้นำ เป็นการไม่สมควรและเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีถ้อยคำพาดพิงหรือเข้าข่ายละเมิดต่อศาล คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม หรือดูหมิ่นผู้พิพากษา ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 7 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
ศาลฎีกาปฏิเสธตั้งทีมจับตาแม้วโฟนอิน
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!