แม้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะคลอด 6 มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รับมือวิกฤติการเงินโลกไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่
1) มาตรการตลาดทุน ด้วยการตั้งกองทุนต่าง ๆ
2) มาตรการดูแลสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องที่เพียงพอ
3)มาตรการเร่งรัดการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ
4) มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้ประชาชน โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด
5)มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และ
6)มาตรการสร้างประชาคมการเงินเอเชีย โดยการสร้างความร่วมมือทางการเงิน เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินภายในภูมิภาค ถึงวันนี้บางมาตรการก็คืบหน้า แต่บางมาตรการก็ไม่คืบ
ขณะที่หลายประเทศ หลากภูมิภาคทั่วโลก ต่างได้ รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกกันถ้วนหน้า ส่วนประเทศไทย แม้ยังไม่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ แต่เชื่อว่า อนาคตอันใกล้นี้คงหลีกไม่พ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม “แดงเถือก” ทั้งกระดาน
เพราะนักลงทุนตื่นตระหนกเทขายหุ้นตกกราวรูดถึง 45.44 จุด ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน แต่รุ่งขึ้น 28 ตุลาคม ดัชนีก็ดีดกลับเป็นบวก ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการ “อุ้ม” นอกจาก มาตรการที่ได้เตรียมการไว้แล้ว
ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ไหนจะต้องเตรียมความพร้อมเอาตัวให้รอดกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังต้องพะวักพะวงกับปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมืองของผู้คนในชาติที่แตกต่างจนกลายเป็นความแตกแยก
ซึ่งบนความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่นั่นคือ ราคาน้ำมันที่ถือเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ เริ่มลดลงก็น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ราคาสินค้าจะปรับลดลงได้หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเจรจาขอความร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้า
น่าจับตาผลผลิตทางการเกษตรที่ถือเป็นจุดแข็ง ของเราต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการรับจำนำประกันราคาพืชผลแล้ว แต่ที่สุดก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เช่นเดียวกับปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้ม “เตะฝุ่น” เพิ่มขึ้น
และอีกหลากปัญหาจ่อคิวถาโถมเข้ามา คาดหวังว่า รัฐบาล กระทรวงการคลังและผู้เกี่ยวข้อง จะเตรียมการเยียวยารักษาได้ทันท่วงที ใช้ยาให้ถูกกับอาการของโรค ไม่แรงไป ไม่อ่อนจนทำให้เชื้อดื้อยา ที่สำคัญอย่าจ่ายยาผิดเป็นอันขาด.