สภาถกกันเดือดกรอบไทย-เขมรอัดแนวแก้ปัญหา


“สมพงษ์” ขอประชุมลับ ถกกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา บรรยากาศสุดเครียด ถูก “ส.ส.-ปชป.-ส.ว.” รุมยำแนวทางแก้ปัญหา อัดสอดแผนที่กัมพูชาเข้าที่ประชุม ทั้งที่ไทยไม่ยอมรับ ถึงกับยกธงขาว รีบถอนออกแทบไม่ทัน ปชป.จี้ รบ.จะทำเพื่ออดีตนายกฯ หรือประเทศชาติ ผบ.ทหารสูงสุด ยันไทย-เขมร สัมพันธ์ยังดี นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มธ. ยื่นหนังสือค้านจัดทำหลักเขตแดน ไทย-กัมพูชา ต่อประธานวุฒิสภา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของสองสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานใน ที่ประชุม ทั้งนี้ภายหลังการหารือในเรื่องต่าง ๆ เสร็จแล้ว ได้เข้าสู่การพิจารณาวาระเร่งด่วนที่ ครม.เป็นผู้เสนอ คือ กรอบการเจรจาข้อตกลง ชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศได้ขอประชุมลับ เนื่องจากอาจกระทบบุคคลภายนอกและถือว่าเป็น เรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งประธานได้อนุญาตสั่งประชุมลับตั้งแต่เวลา 14.15 น.

ทั้งนี้บรรยากาศการประชุมลับเป็นไปอย่างเคร่งเครียด บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ต่างรุมโจมตีแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยช่วงเริ่มต้น นายสมพงษ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงความจำเป็นของการขออนุมัติความเห็นชอบจากรัฐสภาว่า ต้องนำกรอบการเจรจาทั้ง 2 เรื่องนี้ไปใช้ในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชาที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นมีนาย วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้มาร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วย

ขณะที่ ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายค้านได้ผลัดกันลุกขึ้นอภิปราย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่พูด ถึงกรณีการอ้างสิทธิบนพื้นที่รอบ ๆ บริเวณปราสาทพระวิหารและปัญหาจากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยในส่วนของกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเร่งรีบขออนุมัติกรอบการเจรจาเหล่านี้ว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาหรือคนที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลไทยหรือไม่
เพราะสอดคล้องกับท่าทีของกัมพูชาที่ต้องการนำเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาจะต้องนำเสนอต่อยูเนสโก และเสนอให้รัฐบาลทบทวนแผนที่ฉบับปี ค.ศ. 1904 หรือ พ.ศ. 2447 ที่นำมาใช้อ้างอิง เพราะอาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน

ด้านส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนโดยการอนุมัติกรอบเจรจาทั้ง 2 เรื่องว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะยังเป็นแค่กรอบการเจรจาเท่านั้น ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวสนับสนุนให้อนุมัติกรอบเจรจาเหล่านี้
เพื่อให้ฝ่ายทหารและกระทรวงการต่างประเทศได้นำไปใช้ในการเจรจากับกัมพูชา เพราะเชื่อว่าหน่วยงานเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญและจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้ได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายติติงถึงเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องกรอบข้อตกลงและกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชา ว่ามีการแนบแผนที่ที่กัมพูชาอ้างอิงซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2447 ที่ไทยไม่ยอมรับมาด้วยเนื่องจากขีดให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา
 
หากมีการพิจารณาผ่านไปอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ทำให้นายสมพงษ์ต้องลุกขึ้นดึงแผนที่ดังกล่าวออกจากเอกสารไปโดยไม่มีข้อท้วงติง นอกจากนี้
นายอภิสิทธิ์ยังได้เสนอแนะว่าเจรจาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ต่อไปนี้รัฐบาลที่ไปเจรจาต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศหรือผลประโยชน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการเจรจาว่าไทยต้องยึดหลักไม่เสียเปรียบกัมพูชา
 
ส่วนเรื่องการจัดทำหลักเขตแดน ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะยึดพื้นที่ก่อนปี 2543 เพราะหลังจากนั้นได้มีการตั้งชุมชนบ้านเรือนแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปแล้ว

จากนั้นนายสมพงษ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงอีกรอบ ระบุว่า เมื่อฝ่ายกัมพูชาเจรจากับไทยแล้วจะมีท่าทียอมรับข้อเสนอแต่พอกลับไปยังประเทศตัวเองกลับมีท่าทีแข็งกร้าวปรับเปลี่ยนท่าทีไปอีกอย่างหนึ่ง ทางรัฐบาลจะพยายามปกป้องแผ่นดินไทยไม่ให้เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อย่างไรก็ตามในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยืนยันต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ยกเลิกแถลงการณ์ ร่วมไทย-กัมพูชาแล้ว และฝ่ายกัมพูชาก็ได้แจ้งว่ารับทราบแล้วเช่นกัน

วันเดียวกัน ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการส่งกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนวของรัฐบาลผ่านรัฐสภา ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
 
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่รัฐบาลเสนอกรอบการเจรจาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) พวกตนขอคัดค้านและขอให้วุฒิสภาพิจารณาเรื่องดังกล่าว คือ

1.
ควรยึดถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คือสนธิสัญญา 1904 และ 1907 เป็นหลัก ตามที่ไทยได้ยึดถือมาตลอด

2.
แผนที่ปักปันเขตแดน 1904 ทางฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการสยาม-ฝรั่งเศส แม้แต่ศาลโลกก็ไม่รับรอง

3.
กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลควรตรวจสอบแผนที่ไทย และแผนที่ฝรั่งเศส (เขมร) ให้ชัดเจน เพราะเป็นแผนที่คนละระวาง และยังคลาดเคลื่อนกันหลายจุด ซึ่งโลกเทคโนโลยีปัจจุบันด้านภูมิศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ ก่อนจะนำมายื่นอย่างมีพิรุธเพื่อให้ทัน การขึ้นมรดกโลกในวันที่ 1 ก.พ. ค.ศ. 2009

4. หากดูปัญหาดังกล่าวแบบไม่แยกส่วน รัฐบาลทำไม่ถูกต้องมาแต่แรกที่ไม่นำเรื่องนี้เข้าสภาความผิดก็ชัดเจน ในศาลรัฐธรรมนูญ และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ยังไม่ได้เคลียร์ความผิด แต่ยังจะนำผลสืบเนื่องจากที่ทำผิดมาดำเนินการต่อ ดังนั้นการนำกรอบการเจรจามาผ่านความเห็นสภา มีความชอบธรรมหรือไม่

ด้าน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.เมี๊ยะ สุเพียะ ผบ.ทบ.กัมพูชา เข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ข้อพิพาทปราสาทพระวิหารว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งแนวทางการดำเนินการของกองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลได้พูดคุยมานานแล้วว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไร ขณะนี้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นและกลับเข้าสู่การเจรจาโดยใช้กลไกที่มีอยู่ในการเจรจาระดับคณะกรรมการชายแดนในทุกระดับ ขอยืนยันว่าไทย กับกัมพูชายังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ภาพที่ออกมาส่วนใหญ่ในเวทีต่าง ๆ เป็นเพียงสงครามข่าวสาร.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์