2 ขั้ว ของส.ว. แนวทาง ประชาธิปไตย แนวทาง รัฐประหาร



การที่ ส.ว.อย่าง นายสมชาย แสวงการ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้

เข้าใจได้เหมือนกับการที่ ส.ว.อย่าง นายประสงค์ นุรักษ์ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะว่า นายสมชาย แสวงการ เป็น ส.ว.ประเภทสรรหา

เพราะว่า นายประสงค์ นุรักษ์ เป็น ส.ว.ประเภทสรรหา

โดยพื้นฐานแล้ว ส.ว.ประเภทสรรหาดำเนินไปตามหลักการเกือบ 50 ต่อ 50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

นั่นก็คือ มาจากการเลือกตั้ง 76 มาจากการสรรหา 74

นี่คือพิมพ์เขียวตามแผนบันได 4 ขั้นของคมช.และของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ เลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 ที่เสนอโดยพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

เมื่อเป็นส.ว.สรรหาโดยคมช.ก็ย่อมจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยคมช.เป็นธรรมดา

..................................

ความแปลกอยู่ตรงที่ภายในส.ว.สรรหาบางส่วนมีความเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างเช่น นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ

อย่างเช่น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช

อย่างเช่น พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี

อย่างเช่น พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ เป็นต้น

แสดงให้เห็นว่า ภายในส.ว.สรรหาใช่ว่าจะคิดเหมือนกับ นายสมชาย แสวงการ หรือคิดเหมือนกับ นายประสงค์ นุรักษ์

นั่นก็คือ พิทักษ์และปกป้องมรดกของคมช. มรดกของการรัฐประหารอย่างซื่อสัตย์

ตรงกันข้าม ส.ว.สรรหาส่วนหนึ่งกลับเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มิใช่ว่าจะไม่มีความบกพร่อง หากแต่สมควรจะแก้ไขอย่างไรจึงจะดำเนินไปอย่างอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตย ยืนอยู่บนพื้นฐานอันสอดรับกับความต้องการของประชาชน

ในที่สุด หนทางจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ทำกันเมื่อปี 2539 ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา คือแนวทางที่หลายฝ่ายเห็นร่วมกัน

................................

ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีรากฐานจากสภาร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

แต่ก็ต่างกันในเนื้อหาและองค์ประกอบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สภาร่างรัฐธรรมนูญอันมีส่วนในการยกร่างและเห็นชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประสานเข้ากับการคัดสรรของสภาผู้แทนราษฎร

โดยสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

สภาร่างรัฐธรรมนูญอันมีส่วนในการยกร่างและเห็นชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มิได้มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากแต่มีพื้นฐานมาจากการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อันมีพื้นฐานมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

นี่คือความแตกต่างในทางเนื้อหา ในทางรากฐานที่มาอย่างลึกซึ้ง

สภาร่างรัฐธรรมนูญอันก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญอันก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีพื้นฐานมาจากการแต่งตั้งโดยคณะทหารที่ได้อำนาจมาโดยกระบวนการรัฐประหาร

น่าสนใจก็ตรงที่ส.ส.ร.3 เดินตามแนวทางอันได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

...................................

นี่คือการสัประยุทธ์ระหว่างแนวทางประชาธิปไตยกับแนวทางรัฐประหารอันแหลมคมยิ่ง

ส.ว.ส่วนหนึ่งแสดงบทบาทในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญอันมีรากมาจากกระบวนการรัฐประหาร อีกส่วนหนึ่งต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

ดูก็แล้วกันว่าใครเดินแนวทางประชาธิปไตย ใครเดินสวนกับแนวทางประชาธิปไตย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์