ความขัดแย้งภายในวุฒิสภาส่อบานปลาย มีการเดินเกมล้มขั่วอำนาจเดิม โค่น "ประสพสุข" หลังเมินร่วมประชุม 4 ฝ่าย กะพลิกเกมชู "นิคม" นั่งประธานแทน หนุน "เสธอู้" นั่งรอง 1 "นฤมล" ขึ้นแท่นรอง 2
รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า สถานการณ์ความขัดแย้งภายในวุฒิสภาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีส.ส.ร. 3 ที่ทำท่าจะบานปลาย จนถึงขึ้นการเดินเกมล้มขั้วอำนาจเดิมในวุฒิสภา โดยกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ที่เคยร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ร่วมกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชน (พปช.) กำลังรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดยเฉพาะกรณีไม่ยอมเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาไม่มีความชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและถือเป็นการหนีปัญหา ทั้งที่ประธานวุฒิสภาสามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ได้ แต่นายประสพสุขก็ไม่ได้แสดงบทบาทนั้น
"ตอนนี้ ส.ว.กว่า 60 คนไม่ค่อยแฮปปี้กับการทำหน้าที่ของนายประสพสุข เพราะเป็นการหนีปัญหา ถือเป็นการแสดงออกที่ทำให้เห็นว่าไร้ภาวะการเป็นผู้นำและไม่สมกับการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เหตุการณ์วันที่ 20 ต.ค. แสดงให้เห็นว่านายประสพสุขเกรงใจกลุ่ม 40 ส.ว.แถมยังออกมาให้ข่าวว่าไม่ได้มอบหมายให้นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เข้าประชุมแทน พฤติกรรมเช่นนี้พวกเราคงต้องพิจารณาแล้วว่าจะวางบทบาทอย่างไร" แหล่งข่าว กล่าว
ความขัดแย้งดังกล่าว มีความคุกรุ่นมานานระหว่างฝ่าย ส.ว.เลือกตั้ง และฝ่ายส.ว.สรรหา ตั้งแต่ครั้งการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เรื่อยมาจนถึงการเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ คณะต่างๆของวุฒิสภา ซึ่งในช่วงแรกของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ฝ่ายส.ว.สรรหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและยังรวมเสียงส.ว.เลือกตั้ง จากสายนักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคใต้บางส่วน จนทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภามีจำนวนประมาณ 90 คน และยึดตำแหน่งสำคัญวุฒิสภาได้เกือบหมด อย่างไรก็ดี มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการทำงานของคณะกรรมาธิการหลายคณะ ที่ส.ว.เลือกตั้งและส.ว.สรรหา มีสัดส่วนจำนวนพอๆ กัน เช่น คณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน หลังจากจับฉลากชนะนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา
ต่อมา แกนนำเสียงข้างมากในส.ว. ที่ส่วนใหญ่เป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ได้เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น รวมถึงออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในหลายเรื่อง มีการไปขึ้นเวทีให้กำลังใจกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล และล่าสุดได้บอยคอตไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมอยางรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย รวมถึงเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภา ถอนตัวจากการหารือร่วม 4 ฝ่าย เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีปัญหากับรัฐธรรมนูญจึงต้องการแก้ไข โดยใช้ส.ส.ร. 3 เพื่ออ้างความชอบธรรม ทำให้ส.ว.สรรหาชั้นผู้ใหญ่ สายข้าราชการพลเรือนและทหาร ที่ต้องการรักษาภาพเป็นกลางส่วนหนึ่งเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะกรณีการบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา ส.ว.เลือกตั้ง จึงเดินเกมเพื่อเตรียมการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ในช่วงที่นายประสพสุขจะทำงานครบ 1 ปีและจะเปิดให้สมาชิกประเมิน โดยมีการดึงเสียงส.ว.สรรหา กลุ่มของพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประมาณ 15 คน เพื่อให้หันมาสนับสนุนนายนิคม ขึ้นมาเป็นประธาน และจะสนับสนุนพล.อ.เลิศรัตน์ เป็นรองประธาน คนที่ 1 และ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ เป็นรองประธานคนที่ 2
อนึ่ง ในคราวเลือกประธานวุฒิสภา ส.ว.เลือกตั้งเพลี่ยงพล้ำ เนื่องจากมีการจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว โดยเดิมส.ว.เลือกตั้งกลุ่มใหญ่รวมกับส.ว.สรรหาอีกเล็กน้อยรวม 40 เสียง สนับสนุนนายทวีศักด์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ เป็นประธาน และเชิญ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ที่มีส.ว.สายเลือกตั้งและสรรหา รวม 15 คน สนับสนุน มาเป็นรองประธานคนที่ 1 นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นญาตินายสุชาติ ตันเจริญ และมี ส.ว.เลือกตั้ง 10 เสียง สนับสนุนให้เป็นรองประธานคนที่ 2 แต่เมื่อ พล.อ.เลิศรัตน์ ต้องการจะชิงตำแหน่งประธานด้วยและแยกทีมออกไปทำให้นายนิคมเลื่อนการวางตัวขึ้นมาเป็นรอง 1 แต่เมื่อนายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี ขนสมาชิกในมือประมาณ 20 คน มาหนุนและต้องการชิงตำแหน่งรอง 1 ทำให้นายนิคมไม่พอใจ ฝ่ายส.ว.สรรหาจึงเชิญนายนิคมให้มาร่วมทีมเป็นรอง 1 สุดท้ายทีม ส.ว.สรรหา โหวตหนุนนายประสพสุข บุญเดช ชนะตำแหน่งประธานตั้งแต่รอบแรกด้วยคะแนนเกินครึ่งอย่างเฉียดฉิวที่ 78 เสียง
60 ส.ว.เลือกตั้ง เดินหน้าโค่น ประสพสุข เล็งพลิกเกมชู นิคม นั่งประธานแทน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง 60 ส.ว.เลือกตั้ง เดินหน้าโค่น ประสพสุข เล็งพลิกเกมชู นิคม นั่งประธานแทน