นโยบายด้านการศึกษาที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงต่อรัฐสภามี 7 ประการ
โดยสรุปคือ 1.ลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ครอบคลุมการพัฒนาครู หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพและความรู้ของนักเรียนตามแผนการเรียนการสอนอย่างสัมพันธ์กับทรัพยากรและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
2.จัดให้คนไทยทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก รวมทั้งบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้นและผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อ
3.ปรับระบบการผลิตครูและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม พัฒนาหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย พร้อมทั้งขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่างๆ
4.ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างจริงจัง ส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนรู้ทางไกล ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
5.พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเร่งผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน
6.ส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7.ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการศึกษาทั้งระบบ โดยครอบคลุมระบบการวางแผน การบริหารจัดการ การกำกับดูแล และการติดตามประเมินผล เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการปรับกลยุทธ์ของการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากนโยบาย อีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของแวดวงการศึกษาไทย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนับจากวันประกาศตั้งถึงทุกวันนี้ที่รัฐบาลมีอายุได้เดือนเศษ คือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของนายศรีเมือง เจริญศิริ ด้วยเป็นเพียงรัฐมนตรีคนเดียวที่รับผิดชอบดูแลด้านการศึกษาอันเป็นงานที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างสำคัญ ขณะที่แทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ศธ.ต้องมีรัฐมนตรีช่วยว่าการอย่างน้อย 1 คน
นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 7 เรื่องเป็นเพียงแผนงานปกติของหน่วยงานหลักใน ศธ.ที่ต้องทำกันอยู่แล้ว ทั้งแต่ละเรื่องไม่มีจุดเด่นเพียงพอที่จะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาการศึกษาของชาติที่ชัดเจน บางด้านที่สำคัญก็กลับเขียนแบบแทรกไว้ เช่น ด้านอาชีวศึกษาที่เขียนแทรกไว้ในนโยบายด้านอุดมศึกษา อีกทั้งนโยบายบางเรื่องก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล อาทิ การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาแจกนักเรียน
"ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ ฝ่ายผู้บริหารในแต่ละองค์กรหลักของ ศธ. ต้องทบทวนว่าจะเน้นดำเนินการเรื่องอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน เข้ามามีส่วนช่วยกำหนดทิศทางการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องปัญหาคุณภาพการศึกษาที่จะต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจน แม้บางเรื่องอ่านแล้วจะดูดีก็ตาม"
ด้าน นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า นโยบายการศึกษาของรัฐบาลสมชาย 1 ดูจะทุลักทุเล เพราะรู้อนาคตตัวเองว่าคงอยู่ได้ไม่นาน นโยบายด้านการศึกษา ไม่เห็นการปักธงหรือทิศทางการศึกษาของประเทศเลย ไม่เห็นความชัดเจน หรือสร้างความเชื่อมั่นที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและดึงเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อผลักดันการศึกษาไปสู่เป้าหมายได้
"ร้อยละ 80 ของนโยบายด้านการศึกษาที่ออกมา เป็นภารกิจ โครงการและงานประจำของข้าราชการที่รัฐบาลดึงมาเป็นนโยบาย ข้อดีคือข้าราชการประจำสามารถดำเนินงานเดิมต่อเนื่องไปได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรื้อ แต่ก็ไม่สะท้อนให้เห็นนวัตกรรม ความคิด ความโดดเด่นของรมว.ศึกษาธิการว่าเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญการศึกษาหรือไม่ ดังนั้น ภาพทิศทางการศึกษาไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นภาพที่ยังอึมครึมไม่ต่างจากสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ ถือว่าเป็นนโยบายจับฉ่าย ไร้จุดเด่น และคาดหวังได้น้อย ดูจะร่อแร่ยิ่งกว่าสมัยนายสมชาย เป็น รมว.ศึกษาธิการ ด้วยซ้ำ"
ขณะที่นายณรงค์ พุทธชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นโยบายทั้ง 7 ข้อ ยังไม่มีจุดเน้นในด้านการอุดมศึกษาเท่าที่ควร เป็นการเน้นการศึกษาเชิงประชานิยมมากกว่า ที่พอจะมีจุดที่เป็นความหวังได้คือนโยบายขยายโอกาสให้กับคนด้อยโอกาส คือกองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) แต่ก็ยังมีข้อเสียที่ว่าคนที่มีความจำเป็นและไม่จำเป็นก็มาเป็นหนี้กันหมด
"สิ่งที่อยากฝากรัฐบาลช่วยคิดให้มากคือ การให้โอกาสกับมหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างกัน โดยรัฐบาลควรจะเติมเต็มความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งตามความขาดแคลน ไม่ใช่การเติมตามมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยมี ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมมากก็ยิ่งพร้อมมากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยที่ยังขาดแคลนก็ยังต้องมีข้อจำกัดอยู่เหมือนเดิม หากเป็นเช่นนี้ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งคงลดลงไปได้ยาก"
เรื่องล่าสุดที่ทำให้วงการศึกษาระอุในภาวะที่ยังไม่ทันสิ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและรัฐมนตรีคนใหม่ คือการรวมตัวของกลุ่มครูจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ประมาณ 2,000 คน นำข้อเสนอ 9 ข้อเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาเสนอต่อรมว.ศึกษาธิการ
1.ให้ปฏิรูปการศึกษา โดยให้ยึดการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ
2.ให้จัดตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดโครงสร้างของ สปช.เดิม
3.เร่งขยายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี อย่างทั่วถึงและครอบคลุม
4.ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง
5.จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์
6.เร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่คงค้างอยู่ให้เกิดความเป็นธรรมและรวดเร็ว
7.แก้ปัญหาข้าราชการครูที่ขอเลื่อนวิทยฐานะที่ไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยให้มีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
8.แก้ไขปัญหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ให้ได้เกษียณจากราชการทุกคน
9.เสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2540
รวมเป็นข้อกังวลห่วงใยของบุคคลในแวดวงการศึกษาที่มีต่อนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งการทำงานที่จริงจังและยังประโยชน์ต่ออนาคตชาติ คือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
ครู-นักวิชาการชำแหละ นโยบายการศึกษาสมชาย1
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ครู-นักวิชาการชำแหละ นโยบายการศึกษาสมชาย1