รัฐขวางสุดตัว ชี้ศาลปกครองรับคำฟ้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาไม่ได้
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 มีนาคม 2549 00:13 น.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระบุศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องไม่ได้กรณี ครป.ยื่นให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ยันกำหนดวันเลือกตั้งไม่ใช่แผนของรัฐบาล อ้างทำตาม รธน.หารือกับกกต.ก่อนกำหนดวัน
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพื่อระงับกำหนดวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.ว่า คงทำไม่ได้ เพราะตามหลักกฎหมายปกครอง การยุบสภาเป็นการกระทำที่ภาษากฎหมายปกครองเรียกว่า การกระทำของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐสภา การยื่นหนังสือของ ครป.เป็นอำนาจของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศไม่มีประเทศไหนรับฟ้อง เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส หากมีผู้ยื่นในกรณีเช่นนี้จะไม่รับฟ้องเพราะถือว่ามีกระบวนการควบคุมทางการเมืองอยู่แล้ว คงต้องรอฟังต่อไป และถ้าศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง เรื่องก็จะยุติ
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนขอชี้แจงถึงการที่หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรค ติดใจในออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ว่าโดยหลักต้องไม่กำหนดวันเลือกตั้งนั้น ตนขอเรียนว่าทำไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 นั้น วรรคแรกระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตรา พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ แปลว่าการยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ส่วนวรรคสอง ระบุว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ นั้นจะต้องกำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งหมายความว่า ตอนทูลเกล้าฯ ถวายพ.ร.ฎ.ต้องมีวันเลือกตั้งไว้แล้ว ซึ่งในการกำหนดวันเลือกตั้งในอดีตก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดมาโดยตลอด เช่น กรณีของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคชาติไทย ประกาศยุบสภาและเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งเอง แต่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งต้องปรึกษา กกต. เช่น กรณีของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาในวันที่ 9 พ.ย.43 นายชวนก็ปรึกษา กกต.และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นภายใน 59 วัน
การกำหนดวันเลือกตั้งนั้น รัฐบาลเป็นผู้กำหนดโดยปรึกษา กกต.และทูลเกล้าฯ ขึ้นไป เช่นเดียวกับการประกาศยุบสภาฯ ครั้งนี้ รัฐบาลก็เป็นผู้กำหนดเอง โดยปรึกษาประธาน กกต. ซึ่งตอนที่ผมไปพบ กกต.ท่านก็บอกว่าท่านต้องการเวลา 30 วัน เมื่อประกาศยุบสภาฯ ในวันที่ 24 ก.พ. และครบ 30 วันในวันที่ 26 มี.ค. แต่ท่านบอกว่ามันตรง 30 พอดี จึงขอขยายออกไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งวันที่ 2 เม.ย.ที่กำหนดเป็นวันเลือกตั้งนั้น ทางรัฐบาลปรึกษากับประธาน กกต.แล้ว และต้องใส่ในร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ที่ทูลเกล้าฯ ขึ้นไป ฉะนั้น ความเข้าใจว่ามีการออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เป็นฉบับหนึ่ง และมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งอีกฉบับนั้นไม่เคยมีในประเทศไทย และการออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ผมก็ทราบวันที่ 24 ก.พ.เช่นเดียวกัน และเป็นคนโทรศัพท์ไปหารือกับประธาน กกต.เอง นายบวรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ชี้แจงทำความเข้าใจกับพรรคฝ่ายค้านในการกำหนดวันเลือกตั้ง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีธงกำหนดวันเลือกตั้ง แต่การกำหนดวันเลือกตั้งนั้นรัฐบาลต้องการให้มีขึ้นเร็วที่สุด ตนขอชี้แจงว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 เม.ย.นั้น เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ หลังการเลือกตั้ง กว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ได้นั้นหากดำเนินการไปตามปกติจะเสร็จสมบูรณ์และมีรัฐบาลใหม่และทำหน้าที่ได้ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วก็มีเหตุจำเป็น รัฐบาลต้องการให้ได้รัฐบาลใหม่ก่อนวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันฉลองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีพระมหากษัตริย์ต่างประเทศในหลายประเทศ ซึ่งเป็นแขกของรัฐบาลเดินทางมาร่วมงานด้วย ที่ผ่านมาเราอธิบายไม่ได้ เพราะหากพูดไปจะกลายเป็นการดึงการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติลงมาเพื่ออ้าง แต่หากหลายฝ่ายเห็นว่าเร็วไป จะเลื่อนก็ได้ แต่ขั้นตอนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการก็จะต้องเลื่อนไปอีก ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะให้รัฐบาลรักษาการเป็นผู้ให้การต้อนรับและจัดงานคงเป็นเรื่องที่ดูไม่สง่างาม แต่ขณะนี้การกำหนดวันเลือกตั้งได้ข้อสรุปแล้ว จึงขอชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และควรยุติความเห็นในการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้แล้ว
เมื่อถามว่า หลังการเลือกตั้งหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิในภาคใต้ไม่ถึง 20% จะทำให้ได้ ส.ส.ไม่ครบ 500 คนจะเกิดปัญหาหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะในมาตรา 74 ในกฎหมายเลือกตั้ง ระบุว่า ในกรณีที่มีผู้สมัครคนเดียวคนนั้นจะต้องได้คะแนนเสียง 20% แต่หากมีผู้สมัคร 2 คน ก็มีกำหนดในมาตรา 75 ไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ยกเว้นกรณีที่มีผู้สมัครคนเดียวและคะแนนเสียงไม่ถึง 20% คงต้องมีการเลือกตั้งใหม่และเปิดการประชุมสภาฯ ไม่ได้ ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้สมัครยังมีคนเดียวและมีคะแนนเสียงไม่ถึง 20% จะต้องเลือกตั้งไปเรื่อยๆ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้เช่นนั้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยรัฐบาลต้องรักษาการต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าบ้านเมืองว่างเว้นรัฐบาลและสภาฯ ไม่ได้ แต่วุฒิสภายังคงทำหน้าที่รัฐสภาได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ฉบับวันที่ 9 พ.ย.43 ซึ่งได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 6 ก.พ.2544 มายืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าสมัยนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีการปรึกษากับ กกต. และระบุวันเลือกตั้งพร้อมการประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภาเช่นกัน