นายสมชาย แสวงการ แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวถึงกรณีนายประสบสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาไม่เข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ว่า
ต้องขอบคุณประธานวุฒิสภาที่ให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และทำตัวเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง
นายสมชาย กล่าวว่า
หลังจากที่นายประสพสุข แจ้งให้นายกรัฐมนตรี ทราบก็กรณีไม่เข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ตนได้เข้าพบประธานวุฒิสภา เพื่อชี้แจงและขอโทษประธานวุฒิสภาว่า 40 ส.ว.ไม่ได้ต้องการกดดันประธานวุฒิสภาแต่อย่างใด พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับการตั้ง สสร. 3
เพราะเห็นว่าไม่ได้มาจากส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 7 ต.ค.ที่ผ่านมา การตั้ง สสร.ไม่ได้เป็นทางออกที่เหมาะสมของวิกฤติการเมืองไทย ซึ่งนายประสพสุข ก็เข้าใจเหตุผลของ 40 ส.ว.ดังนั้นจึงต้องขอบคุณประธานวุฒิสภาที่เป็นผู้ใหญ่และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายสมชาย กล่าวถึงที่ประชุม 4 ฝ่ายมีมติเดินหน้าตั้ง สสร. 3 ด้วยการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า
จะเรียกว่าเป็นมติของที่ประชุม 4 ฝ่ายคงไม่ได้เพราะไม่มีประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร ดังนั้นจึงเป็นเพียงการประชุม 2 ฝ่ายคือประธานสภาผู้แทนราษฏร คือฝ่ายรัฐบาล กับหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะหวังให้สังคมยอมรับคงเป็นเรื่องอยากเพราะขบวนการในการยกร่างไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่เป็นความพยายามรวบรัดให้เกิด สสร. 3
เมื่อถามว่านายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 อ้างว่ามติชอบด้วยกฎหมายเพราะมีตัวแทนจากวุฒิสภาคือรองประธานวุฒิเข้าร่วมประชุมด้วย และที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางการตั้ง สสร.ตามที่รองประธานวุฒิสภาเสนอ
นายสมชาย กล่าวว่า การที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมด้วยไม่ถือว่าเป็นมติของวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นแนวคิดทั้งหมดจึงเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของวุฒิสภาคนหนึ่งที่เข้าร่วมประชุม ไม่สามารถที่จะเอามาอ้างความชอบธรรมได้ หลังจากนี้ 40 ส.ว.จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับสมาชิกทั้งหมดว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 291
“ ความจริงตามมาตรา 291 วรรค แรก กำหนดให้คณะรัฐมนตรี และส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ของส.ส.หรือจากทั้ง ส.ส.และสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา สามรถเข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายได้อยู่แล้ว แต่ ครม.และ ส.ส.ซีกรัฐบาลกลับไม่ทำ เพราะเห็นว่าจะถูกต่อต้านจากสังคมเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้พยายามจะแก้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นต้องปลอมตัวเข้ามาเป็น สสร. 3 เพื่อสร้างภาพให้สังคมเข้าใจได้ว่าไม่ได้เกิดจาก ครม.และ สส.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า การเดินหน้าตั้ง สสร. 3 ของการประชุมร่วม 2 ฝ่ายครั้งนี้มีธงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การอ้างว่าที่มาของ สสร.มาจากตัวแทนภาคประชาชนทั้ง 67 จังหวัด รวมถึงสายนักวิชการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และนักกฎหมายมหาชนอีก 24 คนและตัวแทนจากสาขาอาชีพอีก 20 คน สุดท้ายแล้วเชื่อว่ารัฐบาลจะส่งคนของตัวเองเข้าไปทั้งหมด
เพราะมีการประเมินกันตั้งแต่ต้นแล้วว่าโครงสร้างของ สสร.ตามรูปแบบดังกล่าวนี้รัฐบาลสามารถคอนโทลได้ แม้ว่าในเบื้องต้นจะเปิดทางแก้ไขเฉพาะมาตรา 291 เพื่อตั้ง สสร. 3 แต่สุดท้ายเชื่อว่าในชั้น สสร. 3 จะมีการรุกคืบแก้มาตราอื่นๆ อีกที่เป็นปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 มาตรา 237 และมาตรา 309 ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล
“ จะเห็นได้ว่ากระบวนการตั้ง สสร. 3 ไม่ได้มีความจริงใจมาตั้งแต่ต้น เพราะก่อนหน้าทีประธานสภาได้บรรจุร่างแก้ไขของ นปก.เข้าสู่ระเบียบวาระไปเรียบร้อยแล้ว และวาระยังค้างพิจารณาอยู่ และสุดท้ายมีการเสนอ สสร. 3 เข้ามาอีก แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้แตกต่างจากร่างของ นปก. ” นายสมชาย กล่าว