คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่ได้ติดยึดตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ทั้งสิ้น
หากการยุบสภาหรือลาออกสามารถแก้ปัญหาได้จริง แต่การทำเช่นนั้นแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ อาจจะกระทบต่อภารกิจที่ต้องร่วมทำหลายอย่าง ควรให้เห็นทางออกชัดเจนเสียก่อน สามารถที่จะตัดสินใจได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจเลย การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 เป็นแนวทางที่ต้องปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ ถ้าประชาชนทุกท่าน ทุกฝ่าย พร้อมใจกัน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ผมพร้อมจะอำลาไป ไม่มีปัญหา
ครับ ฟังแล้วมีเหตุมีผล แต่คิดอีกด้านหนึ่ง ไม่ติดยึดนั่นแหละติดยึด คือ ยังไม่ยุบสภา ไม่ลาออก
ถ้าวันนี้สถานการณ์ปกติ ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมประชาชนจนบาดเจ็บล้มตาย ความคิดข้างต้นพอรับฟังได้ แต่หลังเกิดเหตุการณ์แล้ว เสียงเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองแสดงความรับผิดชอบยังดังกระหึ่มไม่หยุด น้ำหนักของคำพูดที่ว่ามา อ่อนลงทุกที ยิ่งได้ฟังความเห็นและท่าทีของผู้นำเหล่าทัพสะท้อนออกมาอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา นายกรัฐมนตรีต้องมองว่าเป็นเจตนาดีมากกว่า และทบทวนท่าทีที่แถลงออกไปว่าจะอยู่ทำงานต่อไป
จริงอยู่รัฐบาลบอกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีมติให้ใช้กำลังสลายการชุมนุม แต่เมื่อผู้ปฏิบัติกระทำเกินเลยไป รัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ
โยนความผิดไปให้ฝ่ายประจำฝ่ายเดียวโดยที่รัฐบาลลอยตัวต่อไปได้ แม้ผลสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ชี้ว่ารัฐบาลผิดก็ตาม ความผิดที่ต้องรับผิดชอบก็คือ ไม่สามารถควบคุม กำกับ บริหารจัดการให้ฝ่ายประจำปฏิบัติภายใต้กรอบของความละมุนละม่อมโดยไม่บาดเจ็บล้มตายได้ ประเด็นหัวใจอยู่ตรงนี้ครับ
ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องรอผลสอบสวน 15 วัน หรือกี่วันก็ตาม ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
ลาออกหรือยุบสภา ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เสียหน้า เสียประวัติ และไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบต่องานที่ค้างคาอยู่แต่อย่างใด แต่เป็นมาตรการตามกระบวนการประชาธิปไตยปกติ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการตัดสินใจและการปฏิบัติที่เกิดขึ้น ทั้งป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งรุนแรงต่อไปอีก และรักษาระบอบไว้
ถามว่า ทำไมเรียกร้องรัฐบาลฝ่ายเดียว ไม่เรียกร้องฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบ้าง
เพราะรัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ ควบคุมบังคับบัญชาฝ่ายประจำผู้ปฏิบัติการซึ่งมีอาวุธอยู่ในมือ มีทางเลือกอีกมากที่จะไม่ทำให้เกิดการเสียเลือดเนื้อและชีวิต แต่ก็ยังเดินหน้าสลายการชุมนุม ที่รัฐบาลเกรงว่าจะทำให้ความตั้งใจหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยการตั้ง ส.ส.ร.3 ต้องสะดุดหยุดลง เพราะทุกพรรคต้องกลับไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็คิดได้ แต่สถานการณ์วันนี้เลยไปไกลถึงจุดที่ว่าแล้ว เมื่อรัฐบาลไม่ได้รับความร่วมมือ และความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้อีกต่อไป
ยิ่งมีประเด็นที่จะต้องรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับโครงสร้าง ส.ส.ร.และรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ ส.ส.ร.ต้องใช้เวลาประชุมกัน
เมื่อร่างใหม่เสร็จต้องดำเนินการตามนั้น กระบวนการทั้งหมดจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ใช้เวลาอีกนาน ระหว่างนี้สถานการณ์ความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมจะร้อนระอุขึ้นอีกแค่ไหน การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม ขณะที่รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งถูกกล่าวหาอยู่ด้วย เมื่อมีผลออกมาต้องตัดสินใจลงโทษ ผู้รับผิดชอบ ทั้งทางวินัย ทางการเมืองและทางอาญา จะทำอย่างไร ความถูกต้องชอบธรรมย่อมหมดไป เพราะเข้าข่ายชงเองกินเองหรือไม่
ผมถึงเรียกร้องให้คุณสมชายและพลพรรคพลังประชาชนเปลี่ยนความคิดใหม่ เป็นว่า ถึงแม้เราไม่อยู่ ไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร บ้านเมืองยังเดินหน้าต่อไปได้ มีคนอื่นอีกมากสามารถทำหน้าที่ได้
หากไม่ได้อยู่เพื่อแก้ปัญหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างที่ถูกกล่าวหา และไม่อยากจ่ายเงินมากในการเลือกตั้งใหม่ ก็ลาออกเถอะครับ
ลาออกแล้วใช่ว่าจะหมดภาระ ไม่เลย เพราะความรับผิดชอบในฐานะ ส.ส.ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนบทมาเป็นฝ่ายค้าน คอยติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมรัฐบาลบ้าง รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร เป็นภาระของพรรคอื่นๆ
แต่เพราะพรรคการเมืองยึดติดความคิดเดิมๆ เป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง ทางออกจึงตีบตัน ทั้งๆ ที่จริงแล้วทางออกมี แต่ไม่ยอมออก
การผลัดเปลี่ยนกันแสดงบทบาทจึงเป็นหนทางออกจากซอยตันเพื่อเดินหน้าต่อไป
ฉะนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหน ขอให้ปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ใครทำกรรมใดไว้ย่อมรับผลแห่งกรรมนั้น แบกไว้ทำไมให้ทุกข์เปล่าๆ