วานนี้ (19 ต.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลวิจัยเรื่องสำรวจฐานสนับสนุนของ กลุ่มคนคอการเมือง ต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุปราบปราม 7 ต.ค. ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคอการเมืองติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน ให้คะแนนความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และความพอใจต่อท่าทีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 มีความหมายว่าค่อนข้างน้อย และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.66 มีความหมายว่าค่อนข้างมาก
นายนพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 43.8 ของผู้ถูกศึกษาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
รองลงมาร้อยละ 39.5 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน และร้อยละ16.7 สนับสนุนพรรคอื่นๆ เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งจากกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี คือร้อยละ 52.5 และจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ขณะที่ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.1 สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนมากจากผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีคือร้อยละ 44.0 ในขณะที่ปริญญาตรีร้อยละ 30.1 และสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 31.0 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่เหลือสนับสนุนพรรคอื่นๆ
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากจากนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 51.0 จากกลุ่มธุรกิจส่วนตัวและค้าขายร้อยละ 50.7 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 46.2 แม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 45.7 ที่น่าพิจารณา คือพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใช้แรงงานและเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.9 ขณะที่ พรรคพลังประชาชน ยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงานและเกษตรกรมากถึงร้อยละ 55.8 และกลุ่มว่างงานได้ร้อยละ 40.7 กลุ่มแม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 40.2 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 40.1
คะแนนนิยมนายกฯหด หลัง7ตค.เหลือเฉลี่ย4.6
นายนพดล กล่าวว่า อีกนัยหนึ่ง พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงาน เกษตรกร กลุ่มคนว่างงาน และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัทเอกชน ธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ ที่น่าพิจารณา คือการจำแนกฐานสนับสนุนพรรคการเมืองออกจากกลุ่มคนที่เคยตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อน พบว่า พรรคใหญ่ 2 พรรคยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนนิยมศรัทธาเป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม คือคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 86.8 ยังคงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 84.3 ยังคงสนับสนุนพรรคพลังประชาชน
"แต่ที่น่าจับตามอง คือคนเคยเลือกพรรคอื่นๆ หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.5 และไปสนับสนุนพรรคพลังประชาชนร้อยละ 23.3 ขณะที่ยังคงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ร้อยละ 46.2 เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากคนที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ปะทะ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา" ผอ.สำนักกวิจัยเอแบคโพลกล่าว
นายนพดล กล่าวว่า ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนผู้ถูกศึกษาแยกกลุ่มออกเป็นกลุ่มสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ
กลุ่มไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มขออยู่ตรงกลางหรือพลังเงียบในสัดส่วนเท่าๆ กัน คือร้อยละ 34.0 สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ร้อยละ 34.8 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 31.2 ขออยู่ตรงกลาง ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่ทุกๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ของการแบ่งกลุ่มเป็นสามก๊ก สามฝ่ายแบบที่ไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นในการสำรวจที่ผ่าน ๆ มา
โดยเฉพาะเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบกลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในภาคใต้
คือร้อยละ 61.9 ในภาคกลางร้อยละ 35.6 และในกรุงเทพฯ ร้อยละ 34.9 กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรฯ มากที่สุดในภาคเหนือ ร้อยละ 46.6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 39.1 ส่วนในภาคกลางมีอยู่ร้อยละ 33.3 และกรุงเทพฯ มีอยู่ร้อยละ 33.0 ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เหลือขออยู่ตรงกลาง คือไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอีกประมาณร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกันกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ
นายนพดล กล่าวด้วยว่า โดยสรุป ในสภาวะเช่นนี้เปราะบางมาก เพราะแต่ละฝ่ายกำลังมีฐานสนับสนุนไม่แตกต่างกัน
ดังนั้น "การยึดติดและใช้อำนาจ" จึงไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมเท่าใดนัก ทางออกที่น่าพิจารณาคือ น่าจะปรับทัศนคติโดยมองความดีงามของทุกฝ่าย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรส่วนใหญ่มีจุดแข็งจุดเด่นคือความรักชาติ กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรส่วนใหญ่ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล จะเห็นได้ว่ามีส่วนที่ดี มีอุดมการณ์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าขุดคุ้ยความไม่ดีของกันและกัน ก็จะไม่สามารถเชื่อมประสานสามัคคีกันได้ นอกจากนี้ น่าจะใช้ "ความเป็นจริงที่ครบถ้วน" ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาคลี่คลายสถานการณ์ มากกว่า "การยึดติดและใช้อำนาจ"