การเมืองเดินเข้าใกล้จุดปรอท แตก หลังม็อบพันธมิตรประกาศขีดเส้นตายวันที่ 21 ต.ค.
กรณีผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.ตบเท้าออกทีวีให้สัมภาษณ์ บีบรัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุ การณ์สลายการชุมนุมหน้าสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เรียกร้องให้ นายกฯลาออก
ยิ่งเป็นตัวเร่งองศาเดือดให้การเมืองมาถึงจุดแตกหัก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเรดิสัน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรง พร้อมสวนกลับข้อเรียกร้องของผบ.เหล่าทัพ ไว้ดังนี้
การเมืองไทยเวลานี้มีจุดหักเหจาก 2 ทางคือ 1.การยุบพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกระทบต่อการเมือง และ 2.ความขัดแย้งต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ไม่มีแนวโน้มยุติง่ายๆ ส่วนนี้สำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดการเมืองไทย
ที่ดูเหมือนทำให้การเมืองไทยมีทางออกน้อยลงคือ การออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และการปรากฏตัวของผู้นำเหล่าทัพทางทีวี
หากฟังคำพูดของผบ.ทบ.เรื่อยมา ว่าจะไม่ทำรัฐประหารเพราะทำให้ประเทศเสียหาย วันที่มาออกรายการทีวีก็พูดอีก ถือเป็นข้อดีของผบ.ทบ.
แต่อาจเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือรู้เข้าใจแต่ไม่มีวิธีพูดให้ดีกว่านี้ ทำให้สิ่งที่ผบ.ทบ. พูดในรายการเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
ทำให้ทางออกในการแก้วิกฤตบ้านเมืองยิ่งยากมากขึ้น แนวโน้มปัญหาลุกลามขยายตัว เป็นปัญหาหนักหนาไปอีก
เพราะเนื้อหาใจความที่พล.อ.อนุพงษ์พูด จากความเห็นของผู้คนและสื่อทั้งในและต่างประเทศ ต่างวิเคราะห์ตีความการเรียกร้องให้นายกฯลาออกโดยผบ.ทบ.และเหล่าทัพ
เป็นการกดดันให้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งลาออก
อีกความเห็นที่พูดว่าหากนองเลือดกลียุคก็อาจจะมี ไม่ใช่ปฏิวัติแต่เป็นการหยุดใช้อำนาจ คำพูด 2 ส่วนนี้ทำให้เกิดปัญหากับประเทศมาก ประเทศเสียหายแล้ว
เวลานี้นายกฯลาออกไม่ได้
ยิ่งผบ.ทบ.พูดอย่างนี้นายกฯยิ่งต้องไม่ลาออก จะออกก็ต่อเมื่อมีผลสอบสรุปว่ามีคำสั่งฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เมื่อไม่มีเหตุสลายการชุมนุมแล้วไปสั่งฆ่าคนเล่น นายกฯต้องลาออกหรือถูกดำเนินคดีลงโทษขั้นประหารชีวิต
แต่ถ้าไม่ได้สั่งให้ฆ่าคน นายกฯจะลาออกไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเท่ากับถูกกดดันจากผบ.เหล่าทัพตามสายตาชาวโลกและนักวิเคราะห์ที่มองมา เท่ากับยอมรับว่าไทยปกครองภายใต้อำนาจผู้นำเหล่าทัพภายใต้ระบอบเผด็จการ
เมื่อนายกฯ ไม่ลาออกคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่ลาออก สายตาชาวโลกก็จะมองรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ การที่บอกว่าหากนองเลือดกลียุคจะหยุดใช้อำนาจยังมีปัญหาว่าคืออะไร
นองเลือดหมายถึงพันธมิตรฯ ไปตีประชาชนที่จะเดินทางไปที่ทำเนียบตายและเจ็บ 20 คน การใช้ปืนยิงใส่ตำรวจ ใช้ไม้แหลมที่เสียบอยู่กับธงแทงตำรวจ การใช้อำนาจของตำรวจสลายการชุมนุม
เหล่านี้เป็นการนองเลือดที่จะหยุดใช้อำนาจหรือไม่ ไม่มีใครทราบ การยึดทำเนียบทำร้ายเจ้าหน้าที่เป็นการนองเลือดหรือไม่
ควรแยกแยะด้วยว่าการปะทะกันเกิดจากเหตุอะไร ไม่ใช่พูดแบบรวมๆ ว่า นองเลือดแล้วจะหยุดใช้อำนาจ หากพันธมิตรฯ ไปยิงแทงตำรวจจะเป็นเหตุของการหยุดใช้อำนาจได้อย่างไร
การหยุดใช้อำนาจหมายถึงรัฐบาลหยุดใช้อำนาจ อยากถามว่ากองทัพใช้อำนาจอะไรตามพ.ร.บ.ฉบับใด รัฐธรรมนูญมาตราไหนให้รัฐบาลหยุดใช้อำนาจ ไม่มีอำนาจใดจากกองทัพ หากหยุดได้ก็เป็นการกระทำที่ขัดรัฐ ธรรมนูญ
การพูดว่าต้องหยุดใช้อำนาจไม่ต่างกับการรัฐประหาร
ประโยคที่พูดมารวมกันแล้วก็หมายความว่า ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ปฏิบัติการต่างๆ ก็เท่ากับการรัฐประหาร คำพูดว่านองเลือดแล้วต้องหยุดใช้อำนาจยังส่งเสริมพันธมิตรฯ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง
พล.อ.อนุพงษ์ไม่เคยพูดว่าการที่พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบฆ่าคนผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้พูดว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำอย่างไร
สอดคล้องกับคนที่พูดว่านองเลือดต้องให้รัฐประหาร และแนวทางของพันธมิตรที่ต้องการให้เกิดการนองเลือดเพื่อการรัฐประหาร การพูดเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาแต่ยังส่งเสริมความรุนแรง สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้
สิ่งที่พล.อ.อนุพงษ์พูดไม่ได้ยึดหลักนิติธรรมนิติรัฐ ท่านไม่ได้พูดว่ายึดอำนาจรัฐประหารแล้วกองทัพจะหยุดใช้อำนาจอย่างไร สุดท้ายเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์จะบังคับให้เหล่าทัพต้องยึดอำนาจรัฐประหารจริงๆ ทำความเสียหายให้ประเทศร้ายแรง
การยึดอำนาจอาจไม่สำเร็จหรือหากสำเร็จก็จะขัดแย้งต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ทุกฝ่ายต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ความชอบธรรม ไม่ใช่ยอมว่าผบ.ทบ.พูดแล้วนายกฯต้องลาออก หรือยอมให้ยึดสตช.บ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้
ต้องไม่กลัวว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วกองทัพจะยึดอำนาจ หากมีรัฐประหารประชาชนต้องช่วยกันคัดค้านต่อต้านโดยสันติวิธี ไม่ใช้อาวุธต่อสู้เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย
ผมไม่เห็นด้วยที่จะเตรียมการใช้อาวุธชุมนุมผู้คนเพื่อตอบโต้พันธมิตรฯ ลักษณะนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง
ทำไมจึงประเมินว่ากองทัพมีแนวคิดจะทำรัฐประหาร
คำพูดของพล.อ.อนุพงษ์อธิบายไม่ได้ว่าแปลว่าอะไร การจะหยุดใช้อำนาจของรัฐบาลไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีอำนาจ การทำรัฐประหารก็เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากองทัพจะชอบหรือไม่ชอบหากทำตามที่พูด แนวโน้มการเมืองที่จะมาถึงจุดยึดอำนาจก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง
ผมไม่เห็นด้วยเพราะจะเสียหายใหญ่หลวงกับประเทศ นายกฯไม่ควรลาออกเพราะถูกจี้ว่าจะรัฐประหาร เพราะเท่ากับเรายอมรับการปกครองในระบอบผู้นำทหารเป็นใหญ่
นายกฯระบุว่าจะลาออกหากตั้ง ส.ส.ร.3เสร็จ
หากถึงตอนนั้นก็คิดได้ แต่นายกฯคนปัจจุบันไม่น่าจะอยู่ถึง น่าจะมีการยุบพรรคก่อน ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แต่ถ้าไม่แก้โดยส.ส.ร.3 แนวโน้มทหารก็จะยึดอำนาจและไปสร้างรัฐธรรมนูญใหม่เหมือนกัน
นายกฯบอกจะลาออกหากผลสอบสลายชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.สรุปว่าผิดจริง
ต้องดูว่าการสอบบนฐานอะไร ตั้งประเด็นสอบอะไรบ้าง การพิจารณาเหตุการณ์วันนั้นต้องดูหลายเรื่อง ตั้งแต่ต้นเหตุยึดทำเนียบ ปิดล้อมสภาตั้งแต่เช้าผิดกฎหมายชัดเจน ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลหรือตำรวจควรทำอย่างไร ส่วนช่วงบ่ายก็ปิดสภาไม่ให้คนออก มีการใช้กำลังอาวุธและให้นำตัวส.ส.บางคนมาแขวนคอ หากไม่ยอมจะตายกันหลายสิบคน หากสู้กันจะตายเป็นร้อยคน ดังนั้นต้องเปิดทางให้คนออกมาจากสภาให้ได้ แล้วถ้าไม่เปิดทางให้ออกจะเป็นอย่างไร
การที่ตำรวจเปิดทางให้คนเข้าสภาช่วงเช้า หาทางให้คนออกจากสภาช่วงบ่าย เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ การใช้แก๊สน้ำตาหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่สุด แต่อาจขัดข้องทางเทค นิค หากนายกฯจะผิดก็ต้องดูว่าผิดขั้นตอนไหน เปิดทางเข้าออกสภาไม่ผิดแต่ผิดในการเลือกใช้แก๊สน้ำตา หากนายกฯสั่งโดยตั้งใจฆ่าคนก็ควรลาออกและลงโทษประหาร แต่ตอนนี้เรากำลังพิจารณาแบบตัดตอนว่าเกิดแก๊สน้ำตามีคนบาดเจ็บล้มตายโดยไม่ได้ไล่ดูทั้งหมด
ต้องเรียกร้องผู้นำการชุมนุมรับผิดชอบด้วยหรือไม่
ผู้นำการชุมนุมต้องรับผิดชอบตั้งแต่การยึดทำเนียบที่ผิดกฎหมายชัดเจน สร้างเงื่อนไขความรุนแรง บางเรื่องไม่ต้องแจ้งความเพราะตำรวจประสบเหตุด้วยตัวเองอยู่แล้ว
นายกฯพบผบ.ทบ.เมื่อเช้าวันที่ 19 ต.ค. มีข่าวตกลงว่ารัฐบาลขอเวลาอีก 2 เดือนบริหารประเทศต่อ
ไม่ทราบว่านายกฯคุยอะไรกับผบ.ทบ. แต่การตัดสินใจของรัฐบาลต้องไม่ขึ้นกับผบ.ทบ. ไม่ต้องกลัวผบ.ทบ.หรือกลัวยึดอำนาจ หากยอมตามเท่ากับเราปกครองแบบเผด็จการ สังคมโลกจะไม่ยอมรับ ประชาชนคัดค้านเพราะคนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ มีเยอะมาก
แต่หากจะออกเพราะเหตุผลทางสภาหรือยุบพรรค ก็ไม่ต้องคำนึงว่าผบ.ทบ.จะพูดอะไร ถ้านายกฯไปตกลงกับผบ.ทบ.จริงถือว่าไม่เหมาะสม นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะตกลงหรือขออยู่กี่เดือนไม่ได้
จาตุรนต์จวกปฏิวัติหน้าจอ หนุนสมชายไม่ยุบสภา
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง จาตุรนต์จวกปฏิวัติหน้าจอ หนุนสมชายไม่ยุบสภา