สุขุมพงศ์ไม่สน ปชป.- ส.ว.ค้านลั่นมอบปากกาให้ ส.ส.ร.เผาทิ้งฉบับพปช.จี้สอบรสนาควงคนนอกเข้าสภา


รอง ปธ.วุฒิสภาฯฉุน 40 ส.ว.ตั้งหน้าปฏิเสธ ตีรวนไม่เลิก ยันไม่ได้ทำโดยพลการ ปธ.ยกร่างกรอบแก้ไข ม.291 ไม่สน ปชป.- ส.ว.เมิน ชี้ต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมาก อ้างกรอบตุ๊กตาที่นำเสนอนั้นก็พยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากที่สุดบอกไม่นำร่าง พปช.มาใช้ให้เอาไปเผาไฟทิ้ง ไม่มองฉบับ คปพร. ปล่อย ส.ส.ร.3 ไปคิดอ่านกันเอง พปช.ขู่ยื่น "ชัย" สอบวินัยร้ายแรง"รสนา" พาคนนอกเข้าประชุมรัฐสภา

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยกร่างกรอบการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 ตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม 4 ฝ่าย กล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ว่า คณะกรรมการยกร่างได้ยกร่างแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และที่มาและจำนวน ส.ส.ร 2 แนวทางเสร็จแล้วโดยจะเสนอที่ประชุม 4 ฝ่ายพิจารณาในวันที่ 20 ตุลาคม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร.3 นั้นถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ โดยกรอบตุ๊กตาที่นำเสนอนั้นก็พยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากที่สุด หลักการกว้างๆ ที่ที่ประชุม 4 ฝ่าย มอบหมายให้คณะทำงานทำคือ ส.ส.ร 3 ต้องมีความเป็นกลาง อิสระ ปราศจากครอบงำ ต้องมีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนจริงๆ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับมอบหมายมา

"ภาษาพระบอกเป็นเรื่องนานาจิตตัง คงไม่ถูกใจทุกคน ผมในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชาชน รองประธานวุฒิสภา และตัวแทนพรรคอื่นๆ ได้พยายามช่วยกันยกร่างให้ดีที่สุด เบื้องต้นได้ข้อยุติ 1.กำหนดให้มีส.ส.ร.ขึ้นมา 2.การสรรหา ส.ส.ร.ให้มีการสรรหาตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก โดยจำนวน ส.ส.ร.มี 2 แนวทางคือ จำนวน 120 คน และ 100 คน ซึ่งในกรอบแรกนั้นให้เลือกมาจากจังหวัดทั่วประเทศจังหวัดละ 1 คนรวม 76 คน ผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 24 คน และตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ 20 คน ผมคิดว่าสัดส่วนนี้น่าจะเป็นธรรม ส่วนเงื่อนเวลาและคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาก็นำมาจากคุณสมบัติของ ส.ส.ร.ปี 40 โดยรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ มีหน้าที่เพียงอนุมัติหรือไม่อนุมัติ หากไม่อนุมัติก็กลับไปที่ประชาชนให้ตัดสินใจว่า จะเลือกตามรัฐสภาหรือ ส.ส.ร." นายสุขุมพงศ์กล่าว

ส่วนเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เข้าร่วมการประชุม 4 ฝ่าย นายสุขุมพงศ์กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่มาเอง ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เมื่อฝ่ายค้านไม่มาบ้านเมืองก็คงรอไม่ได้เหมือนกัน

"เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่อาจจะมีประมาณ 40 คน จาก 150 คน ที่ไม่ร่วม ก็จะกลายเป็นว่ามี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 164 คน จาก 480 คน ที่ไม่มาร่วม เราต้องเคารพเสียงข้างน้อย แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมาก ไม่เช่นนั้นประเทศก็เดินต่อไปไม่ได้" นายสุขุมพงศ์กล่าว

ประธานคณะกรรมการยกร่างกรอบการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตคงไม่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชาชน เคยทำมาใช้เป็นโมเดลหรือนำมาทำอะไร

"ร่างแก้ไขพวกนั้นทิ้งไปเลย ไม่ดูเลย เผาไฟทิ้งไปหมดแล้ว เพราะไม่รู้จะไปดูทำไม ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งหน้าจะไม่มีการพูดถึงว่าเป็นร่างของใคร หรือพรรคไหน แต่เป็นร่างที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือส.ส.ร.ที่จะมาทำ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะ นพ.เหวง โตจิราการ (หรือฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ คปพร.) ก็ไม่ชายตาไปมองเลย เพราะเราได้ตกลงกันแล้วว่าจะให้ ส.ส.ร.ทำ ก็ต้องให้สิทธิ ส.ส.ร.ในการดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบ ให้เขาคิดเอง จะไม่มีการไปชี้นำ ดังนั้น เรื่องมาตรา 190, 237 หรือ 309 ที่มองว่าฝ่ายการเมืองจะแก้ไขเพื่อตัวเองก็จะไม่มีการพูดถึง ให้ ส.ส.ร.แต่ละคนไปคิดอ่านทำกันเอง" นายสุขุมพงศ์กล่าว

ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวกรณี 40 ส.ว.ยื่นหนังสือเรียกร้องไม่ให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมผู้นำ 4 ฝ่าย ในวันที่ 20 ตุลาคม เนื่องจากจะเป็นการไปรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลว่า เชื่อว่านายประสพสุข มีจุดยืนในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอีกคนหนึ่งเช่นกัน ว่าประธานวุฒิสภามีหน้าที่ทำอะไร และเรื่องใดเป็นความเห็นส่วนตัวเรื่องใดเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่จะต้องรักษาเอาไว้ ทั้งนี้ เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นในสภา ดังนั้น ส.ส.และส.ว.แต่ละคนย่อมมีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน

"กระบวนการประชุมร่วม 4 ฝ่าย จะต้องดำเนินการต่อไปไม่เช่นนั้นจะไม่จบ วันนี้ประชาชนเริ่มถามกันแล้วว่าเรื่องนี้เมื่อไหร่จะจบเสียที ไม่ว่าจะฝ่าย 40 ส.ว.หรือฝ่ายค้าน ที่ไม่เห็นด้วยในการประชุมร่วมนั้นก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องมีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าฝ่ายไหนไม่เห็นด้วย ฝ่ายไหนเห็นด้วย ทำความเห็นออกมา 2 ฝ่ายเราก็จะสบายใจ" นายวิทยากล่าว

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงพิมพ์เขียวโครงสร้าง ส.ส.ร.ที่จะเสนอที่ประชุม 4 ฝ่ายพิจารณาใน 2 รูปแบบว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะใช้รูปแบบใด เพราะสถานการณ์บ้านเมืองระหว่างการตั้ง ส.ส.ร. ปี 2539 แตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีความแตกแยกอย่างชัดเจน แต่ควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสเสนอรูปแบบของ ส.ส.ร. 3 ในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขในขณะนี้ โดยนายสุขุมพงศ์ควรตั้งกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาคัดเลือกรูปแบบ ส.ส.ร.3 ที่ภาคประชาชนเสนอเข้ามาเป็นการเฉพาะ ว่ารูปแบบไหนที่สังคมให้การยอมรับมากที่สุด สำหรับตัวแทนนักวิชาการนั้น ควรที่จะมีสัดส่วนเพียง 4-5 คนเท่านั้น เดิมทีนักวิชาการเป็นผู้นำทางความคิดที่สามารถจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ แต่วันนี้นักวิชาการไม่น้อยได้เดินหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตย จึงหมดหวังและไม่อยากไว้วางใจฝ่ายวิชาการมากนัก

ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิ รักษาการแทนประธานวุฒิสภา กล่าวกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยน .ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ระบุว่า การไปร่วมประชุม 4 ฝ่าย เป็นการกระทำโดยพลการ ไม่ขอมติจากที่ประชุมก่อนว่า ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภาเข้าร่วมประชุม เพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤตให้บ้านเมือง เป็นการแต่งตั้งโดยใช้อำนาจทางบริหารของรัฐสภา และที่เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะเป็นคำสั่งของประธานวุฒิสภา ซึ่งติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ แล้วตนจะไปขออนุมัติจากที่ประชุมวุฒิสภาได้อย่างไร ไม่ทราบว่าคนที่ออกมาพูดเข้าใจเรื่องอำนาจทางบริหารหรือไม่ คิดว่าไม่ได้ทำความเสียหายอะไร เป็นการร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมือง เรื่องนี้ต้องแยกให้ออก ส่วนผลการประชุมออกมาแล้วนายกรัฐมนตรีจะนำไปอ้างอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่อง

"วันนี้ทุกฝ่ายก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีปัญหา ถึง ผบ.ทบ.จะปฏิวัติรัฐประหารก็ต้องตั้งคนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรให้รัฐบาลเลย เราต้องดูเหตุผลกันบ้าง การเมืองใหม่ที่พันธมิตรเสนอ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน หรือหากเกิดอะไรขึ้นกับนายกฯแล้วไม่สามารถหานายกฯที่มาจากการเลือกตั้งได้ หากไม่ตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างแก้ไขมาตรา 291 แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่าตั้งหน้าปฏิเสธกันอย่างเดียว" นายนิคมกล่าว

นายนิคมกล่าวว่า หากมอบให้กลุ่ม 40 ส.ว. ไปทำหน้าที่แทน คงมีการตีรวนสุดท้ายก็หาทางออกไม่ได้ ก่อนหน้านี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นชอบตามแนวทางนี้ ทางกลุ่ม 40 ส.ว. ก็ไม่เห็นออกมาคัดค้าน แต่มาตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนท่าทีไป ทางกลุ่ม 40 ส.ว. ก็ออกมาต่อต้าน "ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายใด มีหลายเรื่องก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ผมจะนำผลการหารือเรียนให้ประธานวุฒิสภาทราบทันทีที่ท่านเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ตุลาคม เพื่อจะได้เตรียมตัวเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ในวันที่ 20 ตุลาคม ที่รัฐสภา เราเป็นผู้ใหญ่ ท่านประธานก็เป็นผู้ใหญ่ และยึดแนวทางการแก้ปัญหาโดย 4 ฝ่ายมาตลอด อยู่ๆ จะมาคัดค้านไม่ให้เราเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ต่อไปใครเขาจะเชื่อถือวุฒิสภา เชื่อว่าท่านประธานจะเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่ายแน่" นายนิคมกล่าว

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ กลุ่มวังบัวบาน พรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ตุลาคม จะร่วมกับ ส.ส.พรรคประมาณ 40 คน ยื่นหนังสือให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ตรวจสอบจริยธรรมการกระทำที่ผิดข้อบังคับของ น.ส.รสนา ที่นำผู้ติดตามเข้าห้องประชุมระหว่างการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะถือเป็นการกระทำผิดทางวินัยที่ร้ายแรง นอกจากนี้จะเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกด้วย "การนำผู้ติดตามเข้าห้องประชุมไม่เคยปรากฏมาก่อนในการประชุมสภา เพราะ ส.ส.และ ส.ว.ในอดีตต่างให้เกียรติสภา ซึ่งกรณีของน.ส.รสนานั้นคงจะต้องบันทึกลงกินเนสส์บุ๊กได้เลย" นายสุรพงษ์กล่าว
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร.3 ของรัฐบาล ว่า เท่าที่ดูรายละเอียดของ ส.ส.ร.ทั้ง 2 รูปแบบ คิดว่าไม่สามารถช่วยแก้วิกฤตสังคมได้ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการยอมรับจากสังคม ต่างจาก ส.ส.ร.1 หรือ 2 ล้วนแต่ได้รับความเห็นชอบจากสังคมให้เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ ดังนั้นวันนี้การตั้ง ส.ส.ร. ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เป็นเพียงเครื่องมือยืดอายุให้รัฐบาลอยู่ได้นานที่สุด     

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์