หึ่ง! "ทักษิณ" ยกหูสั่งสู้ต่อ "สมชาย" ปากกล้าขาสั่น ชูมติ 6 พรรคร่วมหน้าด้านเพื่อชาติ ไม่ยุบไม่ออก พิงประชาชนอ้างรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จะไปจะมาต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โยน "จิ๋ว"
รับผิดชอบคำสั่งฆ่าประชาชน อัปยศ! ซื้อเวลา 15 วัน ส่อต้มคนทั้งประเทศ ระบุหากผลสอบระบุว่าผิดพร้อมรับผิดชอบ แต่ประธานกรรมการสอบระบุจะไม่ชี้ผิดชี้ถูกเพราะไม่ใช่ศาล พลังประชาชนตั้งวอร์รูมสู้ ผู้นำกองทัพยกการ์ดสูง สะพัดเตรียมเด้ง "อนุพงษ์" ส่งซี้พี่เมียเสียบแทน "เสธ.หนั่น" เผลอรับมติ ครม. 6 ตุลา.ต้องเข้าสภาให้ได้
การเมืองไทยก้าวเข้าสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนกรานที่จะบริหารประเทศต่อไป และไม่สนใจเสียงเรียกร้องผ่านหน้าจอทีวีจากผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้ลาออกเพื่อรับผิดชอบจากการปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ตลอดวันศุกร์ ทุกสายตาจับจ้องไปที่นายสมชายว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร รวมถึงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างให้ความสนใจและคาดว่าอาจมีการลาออกหรือยุบสภา โดยการซื้อขายหุ้นอยู่ในแดนบวกตั้งแต่ช่วงสายยันบ่าย
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีความพยายามจากพรรคพลังประชาชนในการออกมาตอบโต้กองทัพ ส.ส. 8 คนซึ่งนำโดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ นางอนุสรา ยังตรง ส.ส.สมุทรปราการ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ส.กทม. ได้ร่วมกันแถลงข่าว
นายพีรพันธุ์ตั้งคำถามกับ ผบ.เหล่าทัพทั้ง 4 คนว่า กำลังทำหน้าที่อะไร เมื่อเป็นกองทัพของชาติ แต่การแสดงออกให้เห็นอย่างนี้เป็นภาพที่คุ้นเคยว่ากำลังเกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว จึงมีคำถามว่าที่อ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ปรากฏคือจะมาพูดเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แต่สุดท้าย ผบ. 4 เหล่าทัพไปออกรายการพูดอีกเรื่องอีก อย่างนี้เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่
"ขอเรียกร้องยังประชาชนทั้งหลายว่า ขณะนี้มีคนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้นายกฯ ลาออกหรือยุบสภา หรือหากไม่เกิดขึ้น ก็จะมีการยึดอำนาจ แต่ดูเหมือนการยึดอำนาจจะถูกต่อต้านไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่ต่างประเทศสังคมนานาชาติจะไม่เอาด้วย ความเสียหายจะกลับมาสู่ประเทศมหาศาล อยากเรียกร้องว่าไม่ว่าปฏิวัติเงียบหรือไม่เงียบ ขอให้ประชาชนออกมาต่อต้านการยึดอำนาจโดยที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อหยุดยั้งความชั่วร้ายกับประเทศ"
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ไม่ได้ท้าทายกองทัพ แต่สิ่งที่พวก ผบ.เหล่าทัพออกทีวี เราได้รับโทรศัพท์สอบถามมากมายว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีความวุ่นวายหรือไม่ ซึ่ง ผบ.เหล่าทัพควรให้เกียรตินายกฯ ก่อนออกรายการทีวี วันนี้มีความพยายามกดดันนายกฯ ให้ออก เมื่อออกแล้วก็แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก
ด้านนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน เรียกร้องให้ ผบ.เหล่าทัพทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด คือเตรียมกำลังเพื่อปกป้องอธิปไตย รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งงานที่รัฐบาลมอบหมาย ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการที่ ผบ.เหล่าทัพได้แถลง
ท่องคาถามาจากเลือกตั้ง
"ในฐานะพวกผมมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเป็นคนเลือก จึงขอเรียกร้องให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทำหน้าที่ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่สำคัญกองทัพต้องทำงานที่รัฐบาลมอบหมาย" นายอำนวยกล่าว และว่า ประเด็นที่พันธมิตรฯ บาดเจ็บล้มตาย รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ อยากฝากให้สื่ออย่าเพิ่งด่วนสรุป เราต่างมีบาดแผลใจ อยากให้ทุกคนได้ร้องเพลงชาติด้วยกัน
มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชาชนแจ้งว่า ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขณะนี้ พรรคพลังประชาชนได้มีการจัดตั้งวอร์รูมของพรรคเกาะติดสถานการณ์เพื่อรายงานและสรุปสถานการณ์เป็นช่วงๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยนายพีรพันธุ์ยอมรับว่ามีการตั้งวอร์รูมตามปกติ ซึ่งมีการแบ่งคณะทำงานเป็นชุดๆ ในการรับผิดชอบดูแลวอร์รูม เพื่อเกาะติด วิเคราะห์ พร้อมในการชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย
พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ อดีต ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ว่า ในแง่ความมั่นคง รัฐบาลอยู่ลำบาก อยู่ไม่ได้ ซึ่งนายกฯ ก็รับทราบปัญหาว่าอยู่ลำบาก ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร นายกฯ ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเวลา 14.00 น. ต้องดูก่อนว่าผลประชุมจะเป็นอย่างไร แต่ตนจะเสนอในที่ประชุมให้ทำตามเสียงประชาชนว่าต้องการอะไร
สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสมชาย ช่วงสายวันเดียวกันนายกฯ เดินทางไปศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่
ระหว่างการบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ นายกฯ ได้พูดโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาด้วยสีหน้ากังวล ซึ่งมีทั้งสายเรียกเข้าและโทร.ออกไปด้วยตัวเอง นอกจากนี้พอวางโทรศัพท์นายกรัฐมนตรียังเรียกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เลขานุการส่วนตัวมาคุยด้วย จนไม่ได้ฟังเนื้อหาการบรรยาย ซึ่งผิดจากที่ผ่านมาที่นายสมชายจะไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
เสร็จแล้วนายกฯ ได้เดินทางกลับ กทม.ไปยังทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ท่าอากาศยานดอนเมืองทันทีเพื่อหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
กระทั่งเวลา 16.00 น. มีการเปิดแถลงข่าว โดยนายสมชายกล่าวว่า เมื่อมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นและเป็นที่สนใจอยากรู้ความเป็นไปเป็นมาของการทำงานภาครัฐบาลนั้น รัฐบาลก็ควรจะต้องแสดงให้พี่น้องประชาชนทราบ
"เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่เราเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นรัฐบาลที่มาในระบอบประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นการทำสิ่งใด ก็มารายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพราะว่าเรามีความรับผิดชอบต่อบุคคลที่ส่งให้เรามาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน เป็นครั้งเป็นคราว"
นายกฯ กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลนั้นจุดมุ่งหมายเมื่อขึ้นมาแล้ว ไม่ได้มีเป้าประสงค์ว่าจะทำงานเฉพาะด้านการเมือง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรากังวลก็คือ การที่เราจะต้องดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน โดยเสมอภาคกันทั้งประเทศ
จากนั้นเขาบอกว่าอยากจะพูดถึงเหตุการณ์ซึ่งยังเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอยู่ทุกวันนี้ ก็คือเหตุที่ได้เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายของรัฐบาลว่า ตกลงมันเป็นอย่างไรกันแน่ เมื่อรัฐบาลได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว หลังจากที่ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว เป็นกฎข้อบังคับของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน ภายหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะฉะนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนดนัดวันประชุม
"สมชาย" โยนผิดให้ "จิ๋ว"
นายสมชายกล่าวว่า การกำหนดนัดวันที่ 7 ตุลาคมนั้นเป็นการนัดของนายชัย ในวันที่ 6 ตุลาคมกลางคืน ตนได้รับข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลที่จะไปปิดการเข้าไปในสภา ในคืนนั้นตนเชิญ ครม.ทั้งคณะมาประชุมเป็นการเร่งด่วน ฉุกเฉินตอน 5 ทุ่ม ที่ประชุมก็ได้ให้ความเห็นกันหลากหลาย หลายท่านก็บอกว่าเราควรย้ายที่ประชุมไปประชุมที่อื่นได้มั้ย ซึ่งตนก็เห็นว่าถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ดี จะได้ไม่ต้องไปรบรากัน เราไม่ได้เจตนาจะไปรบรากับใคร แต่ก็มีเสียงส่วนหนึ่งก็มีเหตุมีผลว่าการประชุมนั้นนัดโดยท่านประธานสภาฯ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเองได้ ต้องฟังท่านประธานสภาฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าประชุมไม่ได้
นายกฯ บอกว่าในคืนนั้นเมื่อสรุปดังนั้นแล้ว ครม.จึงได้มอบหมาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นรองนายกฯ อยู่ในขณะนั้น ซึ่งท่านก็รับภาระจะเป็นผู้ประสานงานและดูแลในส่วนที่ไปปิดล้อมสภาอยู่ เป็นสิ่งที่เล่าให้ฟังว่าการประชุม ครม.คืนนั้นจบลงตรงนี้ แต่เมื่อวันรุ่งขึ้นเกิดเหตุการณ์ จากที่ทราบกันแล้วตนคิดว่าสิ่งนี้หลายท่านไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ เหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครทำอะไรใครบ้าง ใครทำอะไรตรงไหน ใครต้องรับผิดกับใครไม่ต้องรับผิด
"ผมได้ตั้งคณะกรรมการฯ ที่ผมเป็นผู้เซ็นตั้งโดย ครม.นั้น ผมอยากจะกราบเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่า เมื่อเป็นเรื่องของกรรมการอิสระแล้ว ท่านย่อมมีสิทธิ์ที่จะต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ข้อวินิจฉัยของท่าน มีสิทธิ์ดำเนินการไป ผลจะออกมาเป็นประการใด รัฐบาลจะยอมรับตามผลที่ออกมานั้น ถ้ามีส่วนใดใครต้องรับผิดชอบเราต้องยอมรับไปตามนั้น นี้คือเจตนาที่แท้จริง ไม่มีความประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น แล้วถึงไปดูว่ามีเหตุมีผลอย่างไรก็ต้องคอยฟังกัน"
นายสมชายยังอ้างว่า รัฐบาลต้องอยู่ต่อ เพราะมีงานใหญ่ๆ อยู่ข้างหน้า 3 งาน งานแรกคืองานพระราชพิธีในวันที่ 14-19 พฤศจิกายน นั้นคืองานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ งานที่ 2 ก็คืองานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ สุดท้ายคืองานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน บวกกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ท่านจะอาจจะมองว่าเป็นเรื่องในอาเซียน แต่ทั่วโลกเขาจับตามอง
"อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันเพื่อรักษาหน้าตาของเรา และงานนี้จะมีนักท่องเที่ยวและคนเข้ามาใช้บริการ มีอะไรต่ออะไรมากมายมหาศาล ฉะนั้นอยากให้เรามาร่วมมือกัน เพื่อจัดงานทั้งหมดนี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เชิดหน้าชูตาประเทศของเรา ดีกว่าที่เขาจะไปนินทาว่าเรามีแต่ทะเลาะกัน และไม่ได้รักษาเกียรติภูมิของชาติเอาไว้"
นายสมชายเน้นว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีที่มาที่ไป การมาการไปของรัฐบาลนั้นมีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เหนือสิ่งอื่นใดคือว่า จะไปจะมา จะต้องมองประโยชน์ของชาติและของประชาชนเป็นสำคัญ อันนี้เป็นจุดยืนของรัฐบาลทั้ง 6 พรรค ได้ปรึกษาหารือกัน คิดว่าอันนี้เป็นแนวทางดำเนินการร่วมกัน และมาแถลงร่วมกันในวันนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กองทัพออกมากดดันให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยการลาออก จะมีการปิดประตูคุยกันหรือไม่ นายสมชายตอบว่า จะปิดหรือจะเปิดเป็นเรื่องที่ตนกับข้าราชการจะคุยกัน ยังไงตนก็ยังต้องร่วมทำงานกับข้าราชการ แต่ว่าเรารับฟังความเห็นข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่จะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่งานรัฐบาลต้องทำต่อไป ข้าราชการเองก็มีระบบระเบียบในการทำงานอยู่
เลี่ยงตอบข้อเรียกร้อง ผบ.ทบ.
ซักว่า ผบ.ทบ.บอกว่าถ้าเป็นนายกฯ แล้วเกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 7 ตุลาคมคงออกไปแล้ว นายสมชายตอบเพียงว่า ได้เรียนไปแล้วว่าเป็นเพียงความเห็น อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ.
"ไม่เข้าใจคำว่าปฏิวัติหน้าจอ แต่ได้ตอบไปชัดเจนแล้วว่าใครมีความเห็นอย่างไรรัฐบาลพร้อมรับฟังและนำมาวิเคราะห์พิจารณา" นายสมชายตอบคำถามถึงการออกมาให้สัมภาษณ์ของ 4 ผู้นำเหล่าทัพทางทีวีช่อง 3 ที่มองว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบหนึ่ง
ถามว่าวันที่ 6 ตุลาคม การประชุม ครม.ฉุกเฉินใครเป็นคนสั่งการสลายการชุมนุม นายสมชายเลี่ยงว่าได้แถลงชัดเจนแล้ว เมื่อถามย้ำว่า ท่านเป็นผู้สั่งเองหรือ พล.อ.ชวลิตเป็นคนสั่งการ นายกฯ โต้ว่า "คุณอย่าถามอย่างนั้น มันไม่มีใครไปสั่ง เมื่อกี๊ก็บอกแล้ว ที่แถลงไปทั้งหมดไปจดแล้วไปอ่านทบทวนอีกครั้งนะครับ"
เมื่อถามว่า 15 วันหลังการสอบสวนคณะกรรมการฯ จะมีคำตอบจากปากนายกฯ ใช่หรือไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร นายสมชายกล่าวย้ำว่า ต้องดูผลว่าใครผิดใครถูก ก็ว่ากันไป
ด้าน พล.ต.สนั่น กล่าวว่า นายกฯ ได้แถลงแล้วว่าได้ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาสอบสวนแล้ว ฉะนั้นขอให้รอฟังผลของคณะกรรมการฯ รอฟังเหตุผลของกรรมการตัดสินว่ามีใครถูกใครผิดอย่างไร ท่านก็เรียนให้ทราบแล้วว่าจะรับผิดชอบในคำสั่งที่ตัดสิน คาดว่า 15 วันจะรู้ผล รอฟังกรรมการสรุปว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ยืนยันว่ามติ ครม.ในคืนวันที่ 6 ตุลาคมไม่เคยให้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่บอกว่าเราจะไปประชุมตอนเช้าให้ได้เท่านั้นเอง
การที่นายสมชายอ้างว่าจะรอผลสอบสวนของกรรมการสอบซึ่งมีกำหนดเวลา 15 วัน หากชี้ว่าผิดก็จะแสดงความรับผิดชอบนั้น พบว่าเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อนายปรีชา พานิชวงศ์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคมของรัฐบาล ออกมาให้ความเห็นถึงหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลว่า
"ประเด็นสอบสวนคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้ารัฐสภาว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น และใครทำอะไรบ้าง โดยเราไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าใครทำผิดหรือใครทำถูก เพราะไม่ใช่ศาล แต่จะเอาความจริงที่ตรวจสอบมาเสนอสาธารณชนให้ทราบ" นายปรีชาระบุ
รายงานข่าวจากที่ประชุมแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมนายกฯ มีสีหน้าไม่ค่อยดีนัก พร้อมกับย้ำต่อที่ประชุมว่าขอให้ ครม.ทำงานต่อไป รัฐบาลมี 3 ภารกิจหลัก รวมทั้งการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อปฏิรูปการเมือง นอกจากนี้นายกฯ ยังได้บอกว่าได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกองทัพบางฝ่าย โดยสอบถามความเคลื่อนไหวจากเพื่อนร่วมรุ่น วปอ. ซึ่งดูแล้วนายสมชายมีทีท่าไม่ไว้ใจ ผบ.ทบ. หลังจากออกรายการโทรทัศน์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
ทั้งนี้ นายสมชายระมัดระวังตัวมากขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวอาจมีการปฏิวัติในวันที่ 18 ตุลาคม ซึ่งนายสมชายมีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะไปชมการแข่งขันเรือยาวประจำปีในเวลา 09.00 น. พร้อมจะเดินทางไปเยี่ยมนายทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่โรงพยาบาลสัมประสิทธิประสงค์ โดยไม่มี พล.อ.อนุพงษ์ติดตามไปด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ใช้บริการเครื่องบินพาณิชย์แทนเครื่องบินของกองทัพอากาศที่มักใช้บ่อยกว่า
ตลอดทั้งวันผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยัง ผบ.เหล่าทัพทุกคน แต่นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำตัว ผบ.เหล่าทัพได้บอกว่า ขณะนี้ติดประชุมไม่สามารถรับได้ หากผู้สื่อข่าวมีอะไรก็ให้ฝากโน้ตเอาไว้
สำหรับ พล.อ.อนุพงษ์นั้นทราบว่าเดินทางไปทอดกฐินที่ จ.สุพรรณบุรี โดยมีคนกลุ่มหนึ่งติดตามไปโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าคนที่ติดตาม พล.อ.อนุพงษ์อาจจะคิดปองร้ายหลังจากที่ไปออกทีวีช่อง 3 เพื่อประกาศให้รัฐบาลลาออก
"ทักษิณ" สั่งสู้
ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเผยว่า การที่นายสมชายไม่ยอมประกาศลาอออก เพราะคืนวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากที่นายสมบัติ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าหารือที่บ้านพักแจ้งวัฒนะ โดยในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์มาหานายสมชาย และบอกว่าให้สู้ต่อ อย่าเพิ่งลาออก เพราะถึงอย่างไรการลาออกก็ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างหนักในเวลา
"พ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้ท่านสมชายอยู่ในตำแหน่งต่อไป เนื่องจากเห็นว่าการลาออกไม่ได้เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหา เพราะหากลาออกแล้วจะเข้าทางกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะการลาออกหรือยุบสภาไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะหยุดการเคลื่อนไหว ดังนั้นขอให้อยู่ทำงานต่อไปก่อน อีกทั้งขณะนี้การลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษก็ยังไม่สมบูรณ์ จึงยื้อเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งก่อน"
แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า ตอนนี้พรรคพลังประชาชนและแกนนำคนสำคัญของพรรคได้พยายามหาวิธีเพื่อตลบหลัง ผบ.เหล่าทัพ โดยมีแนวคิดที่จะมีการปลด ผบ.เหล่าทัพออกจากตำแหน่ง และพยายามหาคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแทน โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่ตลอดทั้งวันมีกระแสข่าวว่านายสมชายได้มีการเซ็นลงนามในคำสั่งให้ พล.อ.อนุพงษ์มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการผลักดันให้เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกที่ได้รับการผลักดันจาก พ.ต.ท.ทักษิณมาหลายครั้ง
แหล่งข่าวเผยว่า วิธีการดังกล่าวถูกยกเลิกกะทันหัน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหารุนแรง โดยเฉพาะขุมกำลังของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ได้จัดวางไว้เรียบร้อยหมดแล้ว โดยเฉพาะขุมกำลังที่อยู่ในพื้นที่ กทม. อีกทั้งขณะนี้ พล.อ.อนุพงษ์ได้มีคำสั่งให้หน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก และเหล่าทัพอื่นๆ เตรียมความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 24 ชั่วโมง ภายหลังเกิดเหตุการณ์ทหารไทยปะทะทหารกัมพูชาบริเวณแนวชายแดน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ที่กลุ่ม นปช.ระบุว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า วันที่ 18 ตุลาคมนี้ พล.อ.อนุพงษ์และ ผบ.เหล่าทัพจะเดินทางไปร่วมงานทอดกฐินที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการคุยนอกรอบระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ เพื่อหารือสถานการณ์การเมือง ภายหลังที่นายสมชายประกาศจะไม่ลาออกและไม่ยุบสภาตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ได้เสนอแนะไปก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวใกล้ชิดนายทหารระดับสูงเผยว่า ขณะนี้ทางกองทัพได้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไว้แล้ว เนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทางกองทัพไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และเกรงว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการเช่นเดิมในการสลายผู้ชุมนุมอีกครั้ง ทางกองทัพจึงได้มีการหารือกันในทางลับ
หากมีเหตุปะทะกันในลักษณะดังกล่าวอีก ทางกองทัพคงจะต้องเข้ามาระงับเหตุ โดยภายใต้ชื่อคณะต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งมี พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ โดยจะไม่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่คณะต่อต้านการใช้อำนาจรัฐปฏิบัติการเสร็จสิ้น ได้มีการวางตัวนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.อนุพงษ์ และหากให้เป็นนายกฯ ที่มาจากพลเรือน ได้มีการวางตัวนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเอาไว้
ทั้งนี้ หลังจาก พล.อ.อนุพงษ์นำผู้นำกองทัพแสดงจุดยืนของกองทัพผ่านทางโทรทัศน์ จี้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภานั้น ทางรัฐบาลได้มีการติดต่อภายในไปยังคนใกล้ชิดนายทหาร โดยรัฐบาลได้เตรียมไว้ 3 แผน 1.เจรจาขอให้เหล่าทัพสงบ 2.หากแผน 1 ทำไม่สำเร็จ รัฐบาลจะสร้างกระแสต่อต้านการปฏิวัติเยื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณต่างๆ และแผนที่ 3 ยุบสภาและลาออก เป็นทางสุดท้ายหลังการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรง 7 ตุลาคม
"สุวิทย์" จี้ "สมชาย" ลาออก
เสียงเรียกร้องให้นายสมชายแสดงความรับผิดชอบขยายวงกว้าง แม้ในพรรคร่วมรัฐบาลเอง นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า นายสมชายต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก โดยไม่ต้องรอผลสอบของคณะกรรมการ เพราะคณะรัฐมนตรีสามารถลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้เอง รวมทั้งจะทำให้คณะกรรมการทำงานและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า การแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องที่จำเป็น และที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งกันสูงในทางการเมือง และมีการประท้วงลุกลามบานปลาย เพราะว่าเราไม่แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ไปเข้าใจผิดว่าการได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 4 ปี หมายถึงจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เป็นประชาธิปไตยแล้วใช้หลักการนี้ ดังนั้น สิ่งที่มีการเรียกร้องในการรับผิดชอบคิดว่าเป็นเสียงสะท้อนที่ไม่ต่างจากหลายๆ ฝ่ายที่เรียกร้องมา
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าสำหรับบ้านเมือง เหตุผลเพราะว่าหากมีการลาออกก็มีอยู่ 3 ทาง คือ 1.รัฐบาลเดิม แต่หาคนใหม่มาเป็นนายกฯ ถ้าเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายสมชาย ไม่คิดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นอะไรให้กับประชาชนได้เลย 2.มีการเปลี่ยนขั้ว สมมติว่าเกิดขึ้นจริง และหากเปลี่ยนขั้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ประโยชน์เป็นรัฐบาลแน่นอน
"ผมก็มองว่าแรงต่อต้านในสังคมและความขัดแย้งยังมีอยู่ เพราะต้องยอมรับว่ามีผู้สนับสนุนรัฐบาลจำนวนไม่น้อยที่มองว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เปลี่ยนขั้วอย่างนี้ก็เหมือนกับเป็นการจำนน แต่แรงกดดันที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่ง สุดท้ายผมยังเชื่อว่าความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่"
สำหรับข้อ 3 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คือ การมีรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลพิเศษ ซึ่งเราเคยเสนอเรื่องนี้มาแล้วในช่วงที่นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง แต่ข้อเท็จจริงพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลไม่พร้อมและไม่ยอมรับความจริง เพราะว่าจะกระทบสัดส่วนตำแหน่งต่างๆ
ถามว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว แล้วมาจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์จะรับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องมาประเมินกันว่าความยอมรับและการทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้จริงๆ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการตั้ง ส.ส.ร.3 ว่าแนวทาง ส.ส.ร.3 ได้ถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเครื่องมือในการทำให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไปได้ จะเห็นได้ชัดว่าล่าสุด นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้มีแถลงการณ์ออกมา แต่แถลงการณ์ดังกล่าวของนายชัยนั้นไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่ชุมนุม ทั้งที่ประธานสภาฯ มีส่วนรับผิดชอบอย่างเต็มที่
พันธมิตรฯ ซัดอยู่เพื่อพี่เมีย
ขณะที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์ว่า นายสมชายคงจะทำงานเพื่อพี่ภรรยา ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ โดยพยายามให้ตัวเองอยู่เหนืออำนาจให้ได้นานที่สุด คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ต้องการอยู่ในอำนาจเช่นกัน ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้บริหารบ้านเมืองเพื่อประเทศชาติ
"วันนี้ถือเป็นการประจักษ์ชัดเจนแล้วว่านายสมชายหมดความชอบธรรม และสิ่งที่นายสมชายทำไปถือเป็นการช่วยเหลือพี่เมีย เชื่อพี่เมีย อาจจะตายเพราะเมีย และอาจจะติดคุกตลอดชีวิตเพราะเมียก็ได้ เพราะนายสมชายมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ฉะนั้นก็ขอให้ทำต่อไป และเราก็จะทำหน้าที่ของเราต่อไปเช่นกัน" นายสมศักดิ์กล่าว
ที่นายสมชายอ้างว่าจะต้องอยู่เพื่อทำงานต่อไป เพราะมีภารกิจสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ อาทิ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และการประชุมอาเซียนซัมมิตนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลหมดความชอบธรรมก็ไม่สมควรจะต้องจัดงานที่เป็นสิริมงคล ควรให้รัฐบาลที่มีความจงรักภักดีเข้ามาทำจะดีกว่า
นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ผู้นำเหล่าทัพน่าจะมีกระบวนการที่คิดไว้อยู่แล้ว ไม่กล้าก้าวล่วง แต่ก็ถือว่ากองทัพกล้าหาญ เป็นการกระทำที่น่ายกย่อง และขอเรียกร้องให้ข้าราชการระดับสูง อาทิ ปลัดกระทรวง อธิบดี ให้ออกมาแสดงความกล้าหาญ เพื่อให้การกระทำของ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ถ้าสังคมในทุกภาคส่วนแสดงความกล้าหาญด้วย รัฐบาลคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลาออก
เมื่อถามว่า พันธมิตรฯ เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่ นายพิภพกล่าวว่า ถ้าเป็นการปฏิวัติในแบบเดิมคงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นการปฏิวัติสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้หลุดพ้นจากวิกฤติก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า สถานการณ์ในตอนนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ 3 วันอันตราย โดยจะเป็นการลองเชิงระหว่าง ผบ.ทบ.กับนายกฯ โดยนายกฯ มีสิทธิ์ที่จะปลด ผบ.ทบ.ได้ และ ผบ.ทบ.ก็มีสิทธิ์ที่จะปลดนายกฯ ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกนาที โดยเฉพาะโค้งสุดท้ายที่ศาลฎีกาจะมีการพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
นายสุรชัย ศิริไกร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าวันนี้นายสมชายจะยังไม่ลาออก แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะต้องลาออกแน่ พล.อ.อนุพงษ์คงจะไม่ปล่อยให้อยู่ไปอีก 8 เดือน เพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 เสร็จก่อน เชื่อว่า พล.อ.อนุพงษ์คงมีมาตรการกดดันตามมาแน่นอน แต่หากรัฐบาลนี้ยังดึงดันจะอยู่ต่อไป มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการยึดอำนาจแน่นอน
ที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว. และคณะกรรมาธิการ 3 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยเรียกร้องให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นตัวแทนวุฒิสภาไปประชุมร่วม 4 ฝ่าย เพื่อหารือแนวทางตั้ง ส.ส.ร.3 ถอนตัว เนื่องจากไม่เคยมีการเรียกประชุม ส.ว.เพื่อขอมติให้นายประสพสุขไปเป็นตัวแทนของวุฒิสภา.