ถือว่าได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของวงการสีกากี หลังปะทะกับม็อบพันธมิตรที่ยกกำลังเข้าปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา
กรณีน.ศ.สาวที่เสียชีวิตนั้น ชัดเจนว่ามาจากเหตชุลมุนที่เกิดขึ้น
ส่วนอดีตตำรวจหัวหน้าการ์ดพันธมิตรที่ตายจากแรงระเบิดนั้น ยังน่าสงสัย!?
แต่เมื่อเกิดการเจ็บและตายขึ้น จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ปัญหาอยู่ที่ใครควรจะรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้!?
ล่าสุดส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.สอบสวน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร., พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.
กล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจสั่งการให้สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา
ป.ป.ช.รับเรื่องสอบไว้ 3 ราย คือพล.ต.อ.พัชรวาท, พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.อำนวย พร้อมตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง
เป็นเหยื่อรายต่อไปหลังจากผู้ตายและบาดเจ็บ!
เพราะรับรู้กันว่าตำรวจในยุคพล.ต.อ.พัชรวาทนั้นไม่เน้นใช้ความรุนแรงมาแต่ไหนแต่ไร
สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ เคยฮึ่มๆ จะจัดการพันธมิตรที่บุกยึดทำเนียบ
แต่พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ช่วยกันเบรกไว้หลายต่อหลายรอบ
เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม จึงยังน่าสงสัยอยู่ว่าตำรวจนึกสนุกยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างนั้นหรือ!?
เพราะหากตำรวจลงมือโดยพลการคงปะทะกันตั้งแต่สมัยพันธมิตรบุกยึดทำเนียบแล้ว
ครานั้นแกนนำพันธมิตรก็เชื่อว่าคงปะทะกันแหลกแน่ แต่เมื่อผิดแผนจึงเกิดปฏิบัติการล้อม "รัฐสภา" ตามมา
ที่น่าสนใจคือคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อนุพงษ์ เคยพูดแบบอ้อมๆ ให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ไปเคลียร์ปัญหาคืนวันที่ 6-7 ตุลาคม จนทำให้คนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋วต้องออกมาชี้แจงอย่างพัลวัน
ตามรายงานพบว่าคืนวันที่ 6 ตุลาคม พล.อ.ชวลิตนั่งบัญชาการรับมือม็อบที่จะบุกมารัฐสภาในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม!?
และที่ไม่มีการพูดถึงก็คือม็อบที่มาล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย จะได้ผิดรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐบาลต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วันหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถือว่าเหมาะสมหรือไม่
คนที่ต้องรับผิดชอบกับการตาย-เจ็บที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีแน่นอน
แต่หากดูตามขั้นตอนแล้ว ตำรวจถือว่าเป็นปลายสุดของกระบวนการทั้งหมด
หากจะตามหากันจริงๆ นั้นไม่ยากดอก
อยู่ที่ว่าจะทำกันจริงๆ จังๆ หรือไม่เท่านั้น!?