ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่ๆ ที่จู่ๆ ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสี่เหล่า นำโดย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั่งเรียงกันเป็นตับ ที่ห้องส่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3
สรยุทธ สุทัศนะจินดา คือผู้ดำเนินรายการที่ถูกเลือกแล้วว่า จะทำให้ภาพที่ออกมาไม่ซูเอี๋ย หรือ เอนเอียง หรือตั้งใจจะไม่ซักไซ้ในเรื่องที่สังคมภายนอกซุบซิบนินทา
ขณะเดียวกัน ช่อง 3 คือช่องทางที่ถูกเลือกแล้วว่าน่าจะดีที่สุด เหมาะสมที่สุด เมื่อเทียบกับช่อง 5 ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ภายใต้การกำกับของกองทัพ หรือช่อง 7 สีที่หลายคนยังเห็นสีเขียวมากกว่าสีอื่นๆ
“ถ้าไปออกทีวีช่อง 5 เดี๋ยวคนดูก็จะตกใจหมด ว่าอยู่ดีๆ ผบ.เหล่าทัพทั้งหมดมารวมตัวกันออกทีวี แต่ยืนยันว่าการกออกทีวีครั้งนี้ไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไร เพียงแต่ทางรายการของช่อง 3 มีการติดต่อมา และเวลาตรงกันก็มาออกพร้อมกันเท่านั้น" พล.อ.ทรงกิตติบอกกับ "คม ชัด ลึก"
แต่ที่เหล่าทัพเปิดเกมนี้ ก็เพราะกระแสสังคมที่บีบเค้นให้เหล่าทัพแสดงท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ "จัดการ" กับคนรับผิดชอบ จนมีแนวโน้มว่า แม้แต่วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ด้วยการยึดอำนาจ รัฐประหาร ก็อาจได้รับการยอมรับ โดยผลที่จะตามมาไม่ต้องคิดถึง
เพราะเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เป็นคำสั่งที่ยากที่สังคมจะยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็ยิ่งตอกย้ำให้ความแตกแยกขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ขณะที่ความพยายามแก้ไขปัญหาของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ตั้งกรรมการมาสอบสวนและเยียวยา เป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อกอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้นานที่สุด
ตลอด 1 ชั่วโมงในรายการพิเศษที่ช่อง 3 มีทั้ง “ลึก” ทั้ง “ลับ” ทั้งสาระ ครบเครื่อง
แม้ว่าเบื้องลึกการจับมือกันไปออกทีวีครั้งนี้มีข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เป็น “ตัวตั้งตัวตี” และได้ติดต่อประสานไปยัง ผบ.เหล่าทัพด้วยตัวเอง แต่เมื่ออยู่ช่วงออกอากาศสด ก็กลับถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรง ล้วงลึกไปถึงครอบครัว และเงินช่วยงานศพ 50 ล้าน
แม้จะแรง แต่ก็น่าเชื่อว่านั่นคือจุดประสงค์หลัก เพื่อปลดล็อก ผบ.เหล่าทัพออกจาก ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย
เพราะถ้อยแถลงของทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีและ ครม.เป็นผู้สั่งการ ที่ตำรวจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมีกฎหมายระบุให้ตำรวจต้องปฏิบัติตาม
การสลายการชุมนุมจึงเกิดขึ้น
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ นั้นชัดเจนว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บริหารประเทศแล้วประชาชนได้รับอันตรายบาดเจ็บและเสียชีวิต
หนทางที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเลือกมีเพียง 2 ทาง
ลาออก หรือ ยุบสภา
แต่เมื่อพิเคราะห์แล้ว การลาออก เป็นหนทางที่ควรจะถูกเลือกมากที่สุด ในฐานะที่บริหารงานผิดพลาด ไม่ใช่เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ
หากเป็นเช่นนี้ก็จะเปิดทางให้มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ "รัฐบาลแห่งชาติ" จะถูกนำเสนอ เพื่อลดแรงต้าน ลดความแตกแยก และแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา กำหนดกติกาเลือกตั้งใหม่
อาจใช้เวลา 3 เดือน หรือครึ่งปี ก็ยังดีกว่า สภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่ไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะไปสิ้นสุดลงที่ใด
รัฐบาลแห่งชาติ จะต้องเป็นฝ่ายริเริ่มความปรองดอง เปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองอย่างเท่าเทียมกันและสมานฉันท์
พูดกันดีๆ อย่างนี้แล้ว ไม่รู้ว่า สมชาย จะเข้าอกเข้าใจหรือไม่
เพราะลงได้ชื่อว่า "นักการเมือง" แล้วมีใครเชื่อว่าชาติต้องมาก่อน
ถ้าข้อสมมติฐานนี้เป็นจริง ผบ.เหล่าทัพที่อุตส่าห์จับมือกันออกรายการสดจะทำอย่างไร ?
คำว่า "จะยับยั้งการใช้อำนาจ" ของ พล.อ.อนุพงษ์ หมายความว่าอย่างไร แบบไหน ?