แสนยานุภาพกองทัพไทย ตรึงชายแดนไทย-กัมพูชา



เปิดขุมกำลังกองทัพไทยยกพล-อาวุธ ยันกำลังกัมพูชา หลังรัฐบาลอนุมัติแผน "จักรีภูวดล" ลั่น เขมรจะมาไล่ทหารไทยออกจากผืนดินไทยไม่ได้


คำถามที่ใครต่อใครถามกันในขณะนี้ก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง "ไทย-กัมพูชา" จะพัฒนาไปสู่ "สงครามระหว่างประเทศ" หรือไม่


ถึงแม้ว่า ยังมีความหวังจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (เจบีซี) ระหว่างไทยกับกัมพูชา

แต่การออกมาประกาศกร้าวของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ขีดเส้นตายให้ "ทหารไทย" ถอนกำลังออกจากพื้นที่ บริเวณปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ก่อนเที่ยงวันที 14 ตุลาคม ทำให้ทุกฝ่ายจับตาว่า นี่คือพัฒนาการของสงครามระลอกใหม่


สิ้นเสียงของสมเด็จฮุน เซน...ทั้งสองฝ่ายต่างก็ลำเลียงยุทโธปกรณ์และกำลังพลเข้าประชิดชายแดน ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดน ตามแผนที่ที่ต่างฝ่ายต่างถือเป็นหลัก


เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วสำหรับภาวะเช่นนี้


สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะมนตรีในวาระพิเศษในบ่ายวันเดียวกัน

 ขุนทัพมากันพร้อมพรัก ทั้ง พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ


มีการยืนยันว่า ทหารไทยประจำการในเขตแดนไทย การมาขอให้ออกจากดินแดนของตัวเองเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้


เหล่าทัพประสานเสียงว่า จะต้องปกป้องอธิปไตย


แผน "จักรีภูวดล" เป็นแผนที่เตรียมกันไว้แล้วตั้งแต่เบื้องต้น และที่ประชุมก็อนุมัติให้ตามนั้น


เบื้องต้นจัดกองกำลังทหารพราน 1 กองร้อย และกองกำลังทหารราบ 2 กองพัน เข้าไปเสริมในพื้นที่ รวมถึงการส่งกำลังจากกองพันเคลื่อนที่เร็ว หรือ อาร์ดีเอฟ จาก ร.31 รอ. จ.ลพบุรี


นอกจากนี้ยังมีการสนธิกำลังจาก กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 1 กองพล โดยมีกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)



มอบหมายให้ พล.ท.วิบูลย์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่


ขณะที่ กองทัพอากาศ “สแตนบายด์” เครื่องบินขับไล่เอฟ 16 ที่ประจำการอยู่ที่กองบิน 23 จ.อุดรธานี ที่พร้อมปฏิบัติการได้ภายใน 5 นาที


น่าสังเกตว่า แผน "จักรีภูวดล" คือแผนปฏิบัติการป้องกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นี้ เน้นหนักไปในทาง "ตั้งรับ"


ทั้งนี้ แผน "จักรีภูวดล” จะเป็นแบ่งออกเป็น 3 ขั้น แต่ละขั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์

 ชั้นแรกจะใช้กำลังกองทหารพรานดูแลในพื้นที่ตามตะเข็บแนวชายแดนไทย-กัมพูชา


 ส่วนขั้นที่สอง ที่ห่างจากจุดชั้นแรกประมาณ 500-1,000 เมตร จะใช้กำลังหลักในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ในการดูแล หากพื้นที่ชั้นแรกไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พื้นที่ชั้นสองก็จะเข้าไปสนับสนุน


และพื้นที่ชั้นที่ 3 จะมีการจัดกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งกองทัพภาคที่ 1-2 และ 3 รวมถึงอาวุธหนัก ทั้งปืนใหญ่ 150 มิลลิเมตร และปืนใหญ่ 155 มิลลิเมตร ปืนใหญ่วิถีโค้ง


กำลังทั้งหมด พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 และผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้กำลัง


ขณะที่ กองทัพเรือ ได้จัดกำลังพลจาก กองพลนาวิกโยธิน จันทบุรี-ตราด ตรึงพื้นที่ รวมถึงการจัดเรือรบเข้าไปประจำอยู่ที่บริเวณชายแดนทางน้ำฝั่งตรงข้ามเกาะกงอีกด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์