คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงร่วมกับร.พ.จุฬาฯ ยันไม่ปฏิเสธรักษาตร. พร้อมให้บริการทุกคนตามวิชาชีพ ไม่เลือกว่าใครจะมีความคิดทางการเมืองต่างกันอย่างไร ขณะที่"หมอสุเทพ"แกนนำคว่ำบาตรตร. เผยเสียใจที่ทำให้ร.พ.จุฬาฯถูกโกรธเคือง อ้างทำไปโดยความเห็นส่วนตัว ต้องการสื่อความรู้สึกของแพทย์ที่เห็นประชาชนถูกยิงแขนขาขาด ซึ่งสะเทือนใจมาก ฝ่ายอาจารย์แพทย์ มช. เอาด้วย ประกาศไม่รับรักษาตร. ทางด้านนายกแพทยสภาชี้ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน แพทย์ทุกคนต้องไม่ปฏิเสธการรักษา แต่หากไม่ฉุกเฉิน มีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษาได้หากไม่สบายใจ ตร.สามพรานแฉโดนแล้วกับตัว แพทย์เห็นยศนำหน้าไล่ให้ไปแก้ยศออกจากบัตรคนไข้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ต.ค. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการงดตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตำรวจ รัฐมนตรี และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลในครม.ชุดปัจจุบัน
รศ.น.พ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฝ่ายบริหาร รักษาการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ข่าวในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟัง เพราะด้วยความเร่งรีบของทุกฝ่ายที่อยากแก้ปัญหา อาจทำให้มีความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ขอยืนยันว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพร้อมให้บริการประชาชนทุกคนตามจริยธรรม จรรยาของวิชาชีพ โดยไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ก็ยืนยันจะรักษาและดูแลอย่างเต็มที่
รศ.น.พ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวว่า โรงพยาบาลยืนยันว่า ได้นำหลักของสภากาชาดไทย ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่คือยึดหลักตามความเป็นกลาง ไม่แบ่งฝักฝ่าย แต่จากข่าวที่ออกไปว่าแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ จะปฏิเสธการรักษาตำรวจ ฯลฯ นั้น ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลจะให้การรักษาประชาชนทุกคน โดยเฉพาะพี่น้อง ญาติตำรวจอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องแบบแต่อย่างใด จึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศด้วย ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ทำหนังสือชี้แจงถึงพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ยืนยันในการดูแลให้การรักษาประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าแพทย์จุฬาฯ คงไม่มีท่านใดปฏิเสธการรักษาคนไข้แม้แต่รายเดียว กระแสข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้อาจเป็นความคลาดเคลื่อน
รพ.จุฬาวุ่น-แจงพัชรวาท ยันรักษา-ไม่เลือกคนเจ็บ
ทางด้านรศ.น.พ.สุเทพ กลชาญวิทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ แพทย์แกนนำกลุ่มศัลยแพทย์ ที่เคลื่อนไหวปฏิเสธไม่ขอรับรักษาผู้ป่วยที่เป็นตำรวจและนักการเมือง กล่าวว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีความคลาดเคลื่อนว่า โรงพยาบาลจุฬาฯจะไม่รักษาผู้ป่วยที่เป็นตำรวจ ทำให้ประชาชนโกรธเคืองโรงพยาบาล ตนเองมีส่วนรับผิดชอบแก้ไขกับสิ่งที่เกิดขึ้น
"ผมไม่ได้หวังร้ายหรือเกลียดเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่ต้องการสะท้อนความรู้สึกและกระตุ้นให้เห็นความสำคัญสิ่งเหล่านี้ จึงไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งเครื่องแบบมาให้ผมรักษา เพราะหมอทั้งหลายเมื่อเห็นเครื่องแบบก็จะรู้สึกไม่สบายใจ เพราะภาพติดตาคือ ตำรวจกระทำต่อประชาชนด้วยความโหดร้าย ไม่ได้หมายความถึงการปฏิเสธการรักษา ถ้าจะให้แพทย์สบายใจก็ไม่ควรสวมชุดตำรวจมา ทั้งนี้ แพทย์ที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้เป็นเพียงแพทย์ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะองค์กรก็มีความหลากหลายทางความคิดที่ต่างกันไป" รศ.น.พ.สุเทพกล่าว และว่า เป็นการตัดสินใจและดำเนินการโดยส่วนตัวเป็นสิทธิบุคคล แพทย์ที่มาร่วมแนวคิดนี้ก็เป็นการตัดสินใจอิสระ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ขณะนี้มีกลุ่มศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์ในกรุงเทพฯ มาร่วมแนวคิดแล้ว 10 กว่าคน และยังมีแพทย์จากจ.เชียงใหม่ มาร่วมเพิ่มอีก 34 คนแล้ว
น.พ.เกษม ตันติผลาชีวะ จิตแพทย์ประจำสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า คณะจิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้ประชุมร่วมกันและมีข้อสรุปร่วมกันว่า คณะจิตแพทย์ไม่ยินดีรักษาตำรวจ หากมาในลักษณะที่บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การแต่งเครื่องแบบ ฯลฯ แต่หากมีรับการรักษาในลักษณะของประชาชนธรรมดาก็ยินดีให้บริการ ถือเป็นการลงโทษทางสังคม อย่างน้อยจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนึกได้ว่าการใช้ภาษีของประชาชน มาทำร้ายประชาชนไม่ถูกต้อง และคบต่อไปไม่ได้ นอกจากนี้จะมีการขึ้นป้ายขนาด 5 เมตรที่บริเวณสถาบัน แสดงข้อความ "คณะจิตแพทย์ ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รัฐบาลทรราชต้องออกไป" เพื่อเป็นการแสดงจุดยืน
ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาคงไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรมทางการแพทย์ของกลุ่มแพทย์ที่ปฏิเสธการรักษาตำรวจ หากไม่ได้ปฏิเสธการรักษาในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นสิทธิของแพทย์จะสามารถดำเนินการได้ ไม่ถือว่าผิดหลักจริยธรรม แต่ต้องเป็นกรณีไม่ฉุกเฉินเท่านั้น หากปฏิเสธในกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถจะเลือกปฏิบัติได้
"อย่างไรก็ตามการดำเนินการลักษณะดังกล่าวของกลุ่มแพทย์เป็นไปตามสิทธิในเรื่องเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ ในมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ จึงเท่ากับว่าหากแพทย์ไม่สะดวกที่จะตรวจรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ป่วยฉุกเฉินจึงสามารถปฏิเสธคนไข้ได้ ถือว่าเป็นการกระทำแบบอารยะขัดขืน" ศ.น.พ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อเวลา 08.00 น. กลุ่มอาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ลงชื่อร่วมกันรวม 35 คน ออกแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มอาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีมาตรการทางสังคมที่แสดงถึงการไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับการกระทําดังกล่าวต่อผู้นํารัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กระทําสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชนโดย
1.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่มีรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน
2.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตํารวจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าตํารวจไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะความถูกผิดในวิชาชีพตนเองได้ ทั้งๆ ที่หน้าที่ของตํารวจคือรักษาความสงบเรียบร้อย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ตํารวจในปัจจุบันกลับเป็นผู้ทําร้ายประชาชน
3.ขอเรียกร้องให้เพื่อนแพทย์ทั่วประเทศร่วมกันดําเนินมาตรการกดดันทางสังคมต่อผู้นํารัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กระทําสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชนโดยพร้อมเพรียงกัน
น.พ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ผอ.ร.พ.หลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาด้วยวิธีการรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทางชมรมแพทย์ชนบทมีความรู้สึกไม่สบายใจมาก และได้ติดตามดูว่ารัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบททั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้นั้นได้ตกลงว่า แพทย์ชนบทและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดสีดำเป็นเวลา 100 วัน เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของน.ส.อังคณา หรือ "น้องโบว์" ที่เสียชีวิตระหว่างมีการสลายการชุมนุม และเพื่อต้องการแสดงให้รัฐบาลได้เห็นว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล และไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดสภ.สามพราน จ.นครปฐมว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันเดียวกัน ได้เดินทางไปที่ร.พ.ศูนย์นครปฐมเพื่อตรวจอาการเจ็บที่เข่าซึ่งบาดเจ็บ เข้ารับการรักษามาแล้วประมาณ 3 อาทิตย์ และวันนี้เป็นวันที่แพทย์กระดูกนัดตรวจ หลังยื่นบัตรที่ห้องบัตรรับเอกสารจากห้องบัตรตามขั้นตอนแล้วก็เข้าไปยังต้องตรวจกระดูกที่ชั้นใต้ดิน หน้าห้องอาหารตึกอำนวยการ โดยในห้องจะมีห้องแพทย์ตรวจ 2 ห้อง โดยที่หน้าห้องของแพทย์ทั้ง 2 ห้องจะมีชื่อของแพทย์ติดอยู่ และวันนี้ปรากฏว่าทั้ง 2 ห้องมีประกาศข้อความพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์บนกระดาษ A4. ปิดอยู่ข้อความว่า "ห้องนี้ไม่รับตรวจผู้ทำร้ายประชาชน(ตำรวจ)" โดยเมื่อตนยื่นเอกสารให้แพทย์เพื่อจะข้ารับการตรวจ แต่เมื่อนายแพทย์ท่านนั้นรับเอกสารไปดูแล้วก็หันมาพูดกับตนว่า "ไม่รับตรวจ เพราะที่หน้าชื่อตนมียศ ด.ต.นำหน้าอยู่ หากจะตรวจ ให้ไปแก้ไขเอายศที่นำหน้าชื่อออกที่ห้องบัตร" ตนจึงตัดสินใจไม่ตรวจ เดินทางกลับเข้าที่ทำงาน แล้วมาเล่าให้สารวัตร เจ้านายและเพื่อนๆ ตำรวจที่ทำงานฟัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.30 น. กลุ่มแพทย์และพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นำโดยน.พ.สมบุญ ตันสุพัฒน์สวัสดิกุล ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลพุทธชินราช ได้ประชุมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ห้องพลับพลึง ร.พ.พุทธชินราช มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า กลุ่มแพทย์พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลพุทธชินราชไม่เห็นด้วยและขอประณามกับการสลายการชุมนุมที่รุนแรง ให้รัฐบาลดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ตั้งคณะกรรมกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อไต่สวนผู้กระทำความผิดในการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง เบื้องต้น แพทย์ของโรงพยาบาลพุทธชินราช ได้นัดกันแต่งชุดดำ ในวันที่ 10 ต.ค. 2551 เวลา 09.30 น. จะแถลงถึงท่าทีและมาตรการ ว่าจะรับรักษาหรือปฏิเสธตำรวจในจ.พิษณุโลกและพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 6 หรือไม่ต่อไป