สุดท้ายก็เกิดการนองเลือดขึ้นจนได้!!
ในการสลายกลุ่มม็อบพันธมิตร ที่เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ตอนนี้ก็โต้กันไปมาว่าการตายและบาดเจ็บชนิดแขน-ขาขาดนั้น เกิดจากอะไรแน่!?
ฝ่ายพันธมิตรโยนเหตุทั้งหมดว่าเพราะฝีมือตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตาถล่มเข้าใส่ฝูงชน
แต่ฝ่ายตำรวจยืนยันว่าแก๊สน้ำตาไม่ว่าจะเป็นชนิดขว้าง หรือยิงด้วยปืน ไม่มีอำนาจทำลายล้างขนาดจะฆ่าคนตายได้
ไม่เช่นนั้นคงตายกันเป็นเบือทั้งโลกแล้ว เพราะตำรวจนานาชาติใช้แก๊สน้ำตาเป็นอาวุธหลักในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม
พร้อมกับการออกข่าวว่าพบระเบิด และอาวุธชนิดต่างๆ จากฝั่งผู้ชุมนุม!!
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดตามมาและกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ถึงความเหมาะสม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สงบต่างหาก
เมื่อกัปตันการบินไทย ไล่ส.ส.พรรคพลังประชาชน ไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน
กับเหตุการณ์แพทย์ร.พ.จุฬาฯ ปิดป้ายและประกาศไม่รับรักษาตำรวจ!!
คำถามที่ตามมาทันทีก็คือพฤติกรรมของกัปตันการบินไทย และแพทย์ร.พ.จุฬาฯ เหมาะสมกับวุฒิภาวะและจรรยาบรรณหรือไม่!?
แน่นอนว่าการแสดงออกถึงความไม่พอใจ หรือประท้วงการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ทำได้และสมควรอย่างยิ่ง
แต่การประท้วงก็ควรมีขอบเขตและความเหมาะสมด้วยเช่นกัน
หากเป็นโชเฟอร์แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร หรือหมอดูไม่รับดูดวงให้ เหตุเพราะไม่ชอบขี้หน้า หรือไม่พอใจพฤติกรรมบางอย่าง ก็คงไม่กระไรนัก
แต่เมื่อเป็นแพทย์ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าประกาศไม่รับรักษาผู้ป่วย
เพราะพื้นฐานของคนที่เป็นหมอ อาชีพที่ได้รับการยกย่องสูงสุดอาชีพหนึ่งในโลก
น่าจะอยู่ที่ชีวิตผู้ป่วยสำคัญที่สุด
ไม่ว่าจะร่ำรวย-ยากจน เป็นคนดีหรือฆาตกรชั่ว เมื่อมาถึงมือหมอแล้ว ทั้งหมดก็คือ"ผู้ป่วย"ไม่มีสถานะอื่น
แม้แต่ในภาวะสงคราม ฆ่ากันจะเป็นจะตาย หากมีผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยมาถึง หมอจะรักษาให้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตนหรือศัตรู
เพราะจรรยาบรรณที่สูงส่งของหมอนี่เอง จึงเป็นที่รับรู้กันทั้งโลกว่าไม่ว่าจะเกิดสงคราม หรือเหตุรุนแรงใดๆ
โรงพยาบาล และหมอ เป็นสถานที่และบุคคลที่ห้ามแตะต้องอย่างเด็ดขาด
หากมีรถที่ติดเครื่องหมาย"กากบาทสีแดง" ผ่านไปยังจุดใดจะได้รับการปกป้องและละเว้น
เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่าคนที่อยู่บนรถ คือ"นักบุญ" ที่พร้อมช่วยชีวิตหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
การแสดงออกของแพทย์ร.พ.จุฬาฯ ในเหตุการณ์นี้ เหมาะสมหรือไม่
ถามใจตัวเองดูก็แล้วกัน!?