ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ ได้ส่งจดหมายมาถึงทีมงาน"มติชนออนไลน์" ข้อความว่า
"ผมและคณะจิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาได้หารือกันแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นสิ่งชั่วร้ายที่คนที่คิดจะเป็นผู้บริหารบ้านเมืองไม่น่าจะทำต่อเพื่อนร่วมชาติหรือเพื่อนมนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อภาพพจน์ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างร้ายแรงที่สุด และขอให้นายสมชายรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว โดยการลาออกทั้งคณะ และให้มีกรรมการเข้ามาสอบสวนหาความจริงและนำผู้ทำผิดมาลงโทษ พวกเรากำลังทำป้ายมาติดหน้าสถาบันฯ ข้อความว่า
"คณะจิตแพทย์ขอประณามการกระทำรุนแรงต่อประชาชน รัฐบาลทรราชออกไป"
นอกจากนั้น ยังจะงดให้บริการแก่ตำรวจ หากต้องการมารับบริการให้มาแบบประชาชนทั่วไป
อย่ามาแสดงตนเป็นตำรวจ เพราะการกระทำของตำรวจในระยะที่ผ่านมา มิได้เป็นบทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เป็นผู้พิทักษ์ทรราชมากกว่า และสามารถมาถ่ายภาพที่หน้าสถาบันฯ ได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.)
ขณะที่กลุ่มอาจารย์แพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ว่า ควรจะมีมาตรการทางสังคมที่แสดงถึงการไม่ยอมรับการกระทำของผู้นำรัฐบาล ส.ส. และตำรวจ
โดย 1.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่มีรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
2.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตำรวจ เนื่องจากตำรวจไม่มีวุฒิภาวะในการแยกแยะความถูกผิดในวิชาชีพ แต่หากตำรวจนายใดมีความจำเป็นและมีความต้องการจะตรวจรักษากับแพทย์ ให้แจ้งลบชื่อ ยศ ตำแหน่ง ที่แผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล และต้องไม่ใส่เครื่องแบบไปขอรับบริการ
3.เรียกร้องให้เพื่อนแพทย์ทั่วประเทศ ร่วมกันดำเนินมาตรการกดดันทางสังคมต่อผู้นำรัฐบาล ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาล และตำรวจที่กระทำสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าห้องทำงานของ นพ.เกรียง ตั้งสง่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ติดป้ายข้อความว่า "ห้องนี้งดทำการตรวจให้กับตำรวจที่ทำร้ายประชาชน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน"
ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จุฬาฯ มี 400 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทุกสาขาวิชาชีพ
หมอจุฬาฯไม่รักษาครม.-ส.ส.รบ.-ตร.
นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการและแพทย์จาก 8 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาฯ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหิดล รามคำแหง เกษตรศาสตร์ รังสิต และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
มีมติร่วมกันประณามการกระทำของรัฐบาล และเรียกร้องให้ขอโทษ พร้อมทั้งยุติการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งประสานสภามหาวิทยาลัยของผู้ที่กระทำผิด ตรวจสอบและถอดถอนปริญญาบัตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้อีก นอกจากนี้เรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงครั้งนี้ ร่วมแสดงพลังแต่งชุดดำไว้ทุกข์ให้กับผู้เสียชีวิตและการเมืองไทย อย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่ารัฐบาลจะลาออก
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนกลุ่มนักวิชาการ และแพทย์จาก 8 สถาบัน กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. กลุ่มอาจารย์แพทย์ นิสิต นักศึกษา จะรวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ 2 รัชกาล และบริเวณอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย
นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ แพทย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการออกแถลงการณ์ไม่รักษาตำรวจจากเหตุการณ์สลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า เป็นความรู้สึกของแต่ละคน
โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำในนามสถาบัน เพราะกำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน แต่มีแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาฯเห็นด้วยกว่า 10 คนและแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 34 คน โดยมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากตำรวจที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งตำรวจก็ควรมีจรรยาบัญเพราะมีหน้าที่รักษาสันติราษฎร์ ดูแลทรัพย์สินให้กับประชาชน ทั้งนี้ ยืนยันว่า ที่ต่างประเทศไม่เคยมีการยิงแก๊สน้ำตาแล้วส่งผลให้ขาและแขนขาด สิ่งที่เราทำไม่ใช่เพราะเราเกลียดตำรวจ แต่อยากให้กลับมามองการกระทำของตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวตำรวจต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะทำการรักษาต่อไป
"หากตำรวจนายใดต้องการรักษากับแพทย์เฉพาะคน โดยที่แพทย์คนดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับการกระทำเมื่อวานนี้ ก็ไม่ควรใส่ชุดตำรวจหรือบอกว่าเป็นตำรวจ" นพ.สุเทพ กล่าวและยอมรับว่า ตนเป็นลูกศิษย์ของ นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งลูกสาวนิ้วเท้าขาดจากเหตุปะทะดังกล่าว
ด้าน รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เรากำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
โดยทางโรงพยาบาลจุฬาฯเคารพความเห็นแพทย์ทุกคน แต่หลักการก็ยึดความเป็นกลางตามที่ได้แถลงออกไป ยืนยันว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ผู้ป่วยเป็นใครก็ต้องรักษาอย่างเท่าเทียมตามจรรยาบัญ และไม่เลือกข้างว่าเป็นตำรวจหรือประชาชน ทั้งนี้ แม้จะใส่ชุดตำรวจเข้ามารักษาก็จะมีแพทย์ที่คอยดูแลอย่างแน่นอน เพราะเรามีทีมแพทย์จำนวนมากเพียงพอ