สถานการณ์ จำลอง สถานการณ์ ตุลาคม 2551 คำตอบ อยู่ที่ มวลชน


มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างสถานการณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการจับกุม นายธีรยุทธ บุญมี และคณะในกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

กับ สถานการณ์การจับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2551

ความแตกต่าง 1 อยู่ตรงที่การจับกุม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 เพราะว่ากลุ่มของ นายธีรยุทธ บุญมี เรียกร้องต้องการ "รัฐธรรมนูญ" ให้เข้ามาแทนที่ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร" อันเป็นผลิตผลจากการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514

ขณะที่การจับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 ดำเนินไปตามหมายจับซึ่งออกโดยศาลอาญา

เป็นความผิดอันเนื่องจากปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551

เป็นปฏิบัติการที่มีการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT เป็นปฏิบัติการที่มีการยึดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ และที่สุด ลงเอยด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาล

ความแตกต่าง 1 อยู่ตรงที่กลุ่มของ นายธีรยุทธ บุญมี ไม่ได้ต้องการให้จับ ขณะที่กรณีของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ต้องการให้จับ

ต้องการให้จับเมือนกับสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ยิ่งหากมองอย่างลงลึกไปยังเป้าหมายการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาตม 2551 ยิ่งมากด้วยความแตกต่าง

เมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป้าหมายคือต้องการ "รัฐธรรมนูญ"

เพราะว่าบ้านเมืองในเดือนตุลาคม 2516 มีแต่ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร" อันเป็นผลิตผลของการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 แล้วอีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ทิ้ง

นั่นก็คือ ต้องการ "ประชาธิปไตย" คัดค้านระบอบเผด็จการโดย "ถนอม-ประภาส"

แต่การเคลื่อนไหวโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งลงเอยด้วยการออกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ไปถูกจับระหว่างลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเดือนตุลาคม 2551 เป้าหมายก็เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นผลิตผลจากการรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2549

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การตัดสินใจให้จับของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เกิดขึ้นภายหลังมติร่วม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ส.ส.ร. 3 คือ จุดอันละเอียดอ่อนที่อาจนำไปสู่การพลิกสถานการณ์ทางการเมือง

ไม่มีผู้ใดสรุปได้ว่า ในที่สุด สถานการณ์การจับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จะลงเอยอย่างไร

จะลงเอยเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2516 จะลงเอยเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

แต่นี่คือไพ่ใบ 1 ที่ทรงความหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แน่นอน ไพ่ใบนี้มิได้ทิ้งลงอย่างบังเอิญ ตรงกันข้าม ได้ผ่านกระสวนในการขบคิดและพิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ

จดหมายของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แสดงว่าผ่านการวางแผนมาแล้ว

โทรศัพท์จาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถึง นายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2551 แสดงว่าการออกไปลงคะแนนเสียงของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ดำเนินไปอย่างมีการตระเตรียม

ที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สรุปว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตั้งใจให้จับ เพื่อวัดกระแสและปลุกกระแส จึงใกล้เคียงกับความเป็นจริง

เป้าหมายชั้นสูงสุดก็เพื่อให้เรื่องจบเร็วยิ่งขึ้น

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ บทจบของเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร และตัดสินใจด้วยปริมาณมากน้อยเพียงใด

การปฏิรูปการเมืองจึงไม่ง่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ง่าย

เพราะว่า การเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับการเมืองของนักการเมืองไม่เหมือนกัน เพราะว่าแต่ละกลุ่มฝ่ายย่อมปฏิรูปการเมืองไปตามเจตจำนงทางอัตวิสัยของตน

ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงจึงอยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกยืนอยู่กับฝ่ายใด

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์