สภาวิชาชีพหลายองค์กร แถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง ให้สองฝ่ายทบทวนท่าที


หลายองค์กรออกแถลงการณ์ชี้รัฐตัดสินใจผิดพลาด ขอให้สองฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ทบทวนให้มีการเจรจา ซัดรบ.ใช้อำนาจทำร้ายปชช.แพทย์พยาบาลเคลื่อนไหวช่วยรักษาไม่แบ่งฝ่าย สภาทนายความร้องตร.ยุติสลายม็อบ

คณะกรรมการสิทธิฯระบุรัฐตัดสินใจผิดพลาด
 
ช่วงสาย วันที่ 7 ตุลาคม คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ ประณามความรุนแรงในการสลายการชุมนุม โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมเมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็ดสาหัสหลายราย  ซึ่งเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอประณามการใช้ความรุนแรงครั้งนี้ และมีมติหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ประธานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บเพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เวลาประมาณ 12.30  น.
    

สภาทนายความออกแถลงการณ์ให้ตร.ยุติใช้กำลังปชช.
 
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สภาทนายความออกแถลงการณ์ประณามการกระทำเกินกว่าเหตุของรัฐบาลต่อการชุมนุมต่อต้านอย่างสงบของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแถลงการณ์ ระบุว่า จากที่ได้มีการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนเช้าตรู่วันที่ 7 .. ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตร บริเวณ .อู่ทองใน ด้านประตูข้างรัฐสภาเพื่อจะสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสและมีอันตรายเกิดแก่กายและจิตใจหลายราย สภาทนายความเห็นว่า การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การชี้นำของรัฐบาลซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยแถลงการณ์เพื่อให้ทราบ เพื่องด หรือปฏิบัติโดยพลัน ดังนี้

1.
รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการสืบทอดอำนาจจากบริหารจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะถูกยุบพรรคพลังประชาชนเพราะเหตุที่กรรมการบริหารพรรค ได้ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาว่าใช้สิทธิเลือกตั้งโดยทุจริตและเป็นเหตุให้พรรคต้องถูกยุบไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นประเด็นที่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของศาล

2.
สำหรับกรณีที่มีความเห็นทางกฎหมายภาครัฐหรือฝ่ายการเมืองที่เห็นว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ยังจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จริงๆ แล้วที่ถูกต้องแนวความเห็นดังกล่าวใช้กับคดีอาญาเท่านั้น ซึ่งต่างกับความสง่างามของพรรคการเมือง โดยความสง่างามของสมาชิกนิติบัญญัติขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือที่ต้องใช้หลักกฎหมายในทางทฤษฎีความน่าจะเป็น ไม่ใช่ทฤษฎีให้ปราศจากข้อสงสัยเช่นในทางคดีอาญา เมื่อไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะเหตุที่พรรคการเมืองโดยที่มีกรรมการบริหารพรรคทำการทุจริตตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ก็เท่ากับว่าการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสภานั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ดังนั้นเมื่อเป็นการได้มาโดยไม่สุจริตย่อมที่จะไม่ได้รับการรับรองและไม่ควรจะรับรอง

3.
แนวความคิดของการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มพันธมิตร นั้น ได้ต่อสู้กับการทุจริตทุกรูปแบบและเป็นเรื่องที่นานาอารยประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะมีกติกาขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียงภาคีสมาชิก เห็นได้ว่าระดับการทุจริตของประเทศไทยนั้นเป็นระดับที่สูงขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว และมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้การทุจริตรับสินบนนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่ผ่านมา สภาทนายความจึงเห็นว่าการชุมนุมต่อต้านการกระทำของพรรคการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่หากได้มาอย่างไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะมีอำนาจสั่งการอย่างใด แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนที่ดำเนินไปจึงชอบด้วยกฎหมาย

4.
สภาทนายความเสียใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลุแก่อำนาจใช้อาวุธยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยเล็งเห็นได้ชัดว่าจะเกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นได้ แต่ก็ยังฝ่าฝืนกระทำทั้ง ที่รู้ว่ารัฐบาลที่ได้พยายามจัดตั้งขึ้นมาในคราวนี้ยังมีปัญหาค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีโอกาสถูกเพิกถอน ดังนั้นการกระทำที่เกินไปของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีผู้รับผิดชอบ สภาทนายความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพราะคำสั่งดังกล่าวของผู้บังคับบัญชาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้อง รวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก

5.
สภาทนายความขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) สั่งระงับการดำเนินการอย่างใดที่ใช้กำลังเพื่อปะทะกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธซึ่งชุมนุมคัดค้านและส่วนใหญ่เป็นสตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการของรัฐบาลที่มีที่มาโดยไม่ชอบอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของการชุมนุม ดังนั้นการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กระทำโดยอำนาจที่ไม่ชอบหรือตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ออกคำสั่งก็ดี ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งก็ดี ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด


แถลงการณ์ของกลุ่มแพทย์ พยาบาลเพื่อประชาธิปไตย

ขอประกาศแถลงการณ์จุดยืน  ฉบับที่ 1
 
1.ขอยืนอยู่ข้างประชาชน....ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ทำร้ายประชาชนที่บริสุทธิ์ทำให้มีการบาดเจ็บรุนแรงทั้งที่รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ และไม่ขอขึ้นตรงกับรัฐบาลที่ทำร้าย
ประชาชน จะขอเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คอยดูแลประชาชนโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
 
2.รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป
 
3.ขอให้ ทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ข้างประชาชน ไม่ทอดทิ้งและทำร้ายประชาชน
 
4.แพทย์  พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขทั่วประเทศ  พร้อมเป็นหน่วยแพทย์ พยาบาล เคลื่อนที่เร็ว ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และขอให้   ตำรวจ  ทหาร อำนวย ความสะดวก บุคลากรทางการแพทย์ ในการทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
 
5.เห็นด้วยในการดำเนินการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในแนวทางสันติและอหิงสา 

ลงชื่อ

น.พ.สวรรค์ กาญจนะผู้นำกลุ่มแพทย์พยาบาลเพื่อประชาธิปไตย    อดีตผู้นำแพทย์ประจำบ้านผู้ช่วยเหลือประชาชนพฤษภาทมิฬ35
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  คณะแพทย์ศาสตร์ ม ขอนแก่น  
รศ.นพ.เชาวลิต ไพโรจน์กุล  คณะแพทย์ศาสตร์  ม.ขอนแก่น
ผศ.นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศักดิ์   ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ภากร  จันทนมัฐฏะ  คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผศ.นพ.สมพร ลี้พลมหา   คณะแพทย์ศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
ผศ.นพ.สุธี รัตนมงคลกุล  คณะแพทย์ศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
อ. นพ.รังสฤษณ์  กาญจนะวนิช  คณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ผศ.นพ.ธีระพงษ์  สุขไพศาล  คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
นพ.ฐาปณวงศ์  ตั้งอุไรวรรณ   โรงพยาบาลสมเด็จพระนั่งเกล้า 
นพ.ณรงค์ศักดิ์  วชิรานันทวัฒน์   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนอม
นพ.ประมวล  ไทยงามศิลป์  อายุรแพทย์โรงพยาบาลกาฬสินธุ์                       
นพ.พงศ์ศักดิ์  ชุมพงษ์ทอง  โรงพยาบาลศรีราชา ชลบุรี
นพ.จรัส จันทร์ตระกูล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งสง
นพ.ธีระพล สุขมาก   อายุรแพทย์โรงพยาบาลทุ่งสง
เภสัชกร จุลพงษ์  พงษ์ไพบูลย์ 
เภสัชกร สุทธิพงษ์  หนูฤทธิ์
คุณทัศนีย์  เกตุศิริ    พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณชูใจ  ชูสุวรรณ   พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณกิจจาลักษณ์  แสงเงิน   พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณอุดร  กำโชติ  หัวหน้าพัสดุโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณอำนาจ  บุญเมือง  รังสีการแพทย์โรงพยาบาลทุ่งสง
คุณกิจจานี  บุญราษฎร์  พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณเฉลิมศรี  ขาว  พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
คุณถาวร ศิรวิโรจน์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลทุ่งสง
-------------------------------

 
แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐไทยยุติการใช้ความรุนแรงตอบโต้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
 
เช้าตรู่ของวันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 06.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5 กองร้อย ได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 1,500 คน ที่ชุมนุมอยู่บริเวณถนนราชวิถีและถนนสุโขทัยโดยรอบรัฐสภา เพื่อสลายการชุมนุมเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีสามารถเข้าร่วมประชุมการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่รัฐสภาได้
 
กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มต้นชุมนุมมาตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ 2 ประการ กล่าวคือ 1. กรณีที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร.เข้าสู่วาระพิจารณา 2. รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สถานการณ์ล่าสุดหลังมีการสลายการชุมนุม คือ ผู้บาดเจ็บจำนวนมากอย่างน้อย 50 รายรวมถึงจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวเนชั่นพบว่า มีประชาชนที่ได้
รับบาดเจ็บจนขาขาด 1 ราย ด้วยเช่นกัน
 
ในนามของมูลนิธิสันติวิถี(Peaceway Foundation) แม้เราไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในหลายประการ แต่นั่นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของการอยู่ร่วม เราคิดว่าการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อผู้ชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา และไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมถึงยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติวิธีซึ่งเป็นแนวทางที่สังคมไทยมุ่งสร้างมา
 
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐไทยจะปฏิเสธความรับผิดชอบในครั้งนี้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด
 
ภาพสะท้อนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่าสะท้อนถึงการมุ่งใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมเข้าควบคุมและทำลายสิทธิในการชุมนุมโดยสันติของประชาชน โดยไม่พิจารณาถึงทางเลือกอื่นๆในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แนวคิดแบบนี้ย่อมไม่สามารถนำพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่มุ่งไปสู่การยอมรับในความแตกต่างทางความคิด อันเป็นปรากฏการณ์ปกติที่มีในสังคมประชาธิปไตยทั่วไป
 
ดังนั้นเราจึงขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของฝ่ายรัฐ และประณามทุกฝ่ายที่นำพาไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเป็น
 
สิ่งที่หลายฝ่ายได้ออกมาเคลื่อนไหวและเตือนสติในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธีที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะนั่นย่อมเป็นการนำไปสู่หนทางแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังต่อกันยิ่งขึ้น
 
สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาร่วมกันก่อนที่รัฐไทยจะใช้ความรุนแรงเป็นวิถีในการแก้ปัญหาในครั้งต่อๆไป คือ การทบทวนท่าทีทั้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ แนวทางการนำไปสู่การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองร่วมกัน และการเปิดให้ประชาชนในสังคมทุกฝ่ายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออก
ทางการเมืองร่วมกัน
 
ขณะเดียวกันสิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักนั่นคือ ความเห็นต่างที่นำไปสู่ความเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะสร้างความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้น และกลายเป็นความชอบธรรมที่ฝ่ายที่มีอำนาจและฝ่ายต่างๆที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้นได้
 
เราเชื่อมั่นว่าสันติวิธีเป็นแนวทางที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เราคาดหวังกับสังคมไทย คือ เราหวังว่าสังคมไทยจะยอมรับรวมถึงเสี่ยงที่จะไว้วางใจต่อผู้ที่คิดต่าง และแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยการรับฟังในความคิดเห็น ยอมรับเหตุผลของความแตกต่างและไม่ผลิตซ้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่มุ่งสร้างแนวทางสันติจากทุกระดับจากประชาชนทุกคน
 
ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นพลังสามัญชน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์