เอเย่นต์เหล้า-เบียร์ทั่วประเทศฮือต้าน "หมอเหลิม" ห้ามขายช่วงเทศกาล บริษัทผู้ผลิตอัดแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ฟันธงแห่กักตุนแน่ ด้าน สธ.ทำโฟลล์ห้าม "ลอยกระทง-กาชาด"
หลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้กรมควบคุมโรคหาแนวทางเตรียมออกประกาศกระทรวง ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีอยู่แล้ว เพื่อควบคุมการจำหน่ายสุราในวันหยุดเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนาที่ราชการประกาศให้เป็นวันหยุด เพื่อลดจำนวนนักดื่มและให้เข้าถึงได้ยากขึ้นนั้น
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ตัวแทนและองค์กรภาคี 264 องค์กร เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายคำรณกล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1.เดินหน้านโยบายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ ลอยกระทง และงานกาชาด
ข้อ 2 นำข้อมูลการร้องเรียนทั้งหมดประกอบการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย กับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาละเมิดกฎหมาย 3.แก้ไขปัญหาร้านเหล้าเบียร์ ร้านเหล้าปั่น สถานบันเทิง รวมถึงป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ ที่อยู่ใกล้สถานศึกษาเกินไป และ 4.เร่งรัดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ก่อนที่ดำเนินการจะให้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากผลออกมาว่าเห็นด้วยจะเดินหน้าทันที และจากที่เคยทำการสำรวจในเรื่องนี้มา 67% เห็นด้วย ที่จะห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้งหมดจะให้ทันก่อนปีใหม่ หลังแถลงนโยบายเสร็จแล้วจะทำเวิร์กช็อปครั้งใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวหรือไม่เมื่อมีบริษัทสุราออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวยืนยันว่า ไม่กลัว และไม่รู้จะกลัวไปทำไม หากซื้อในช่วงเทศกาลไม่ได้ ก็ซื้อก่อนเทศกาลอยู่ดี และเชื่อว่าบริษัทสุราต้องเห็นด้วย ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะโดยหลักการจำหน่ายก็มีกำหนดเวลาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสุราขอเข้าพบก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่เข้าพบ อาจจะเดินทางไปเพื่อขอความร่วมมือเอง
ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า ร่างประกาศฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยและเสนอผ่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา และวันหยุดช่วงเทศกาล ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ และ 2.เวลาที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยจะคงเวลาเดิม คือ ให้จำหน่ายได้เฉพาะเวลา 10.00-14. 00 น. และ 17.00-24.00 น.
"การที่ร่างประกาศฉบับนี้ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแต่เฉพาะร้านค้า สถานบริการ ผับ บาร์ ให้แก่ผู้บริโภค แต่ไม่ได้ห้ามการจำหน่ายระหว่างผู้ผลิตไปยังผู้ค้าส่งหรือค้าปลีกไม่ได้เป็นการเอื้อกลุ่มผู้ผลิต ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายต้องการคุมการดื่มของผู้บริโภคที่ซื้อมาดื่มโดยไม่ได้มีการวางแผน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่กลุ่มผู้ใหญ่ที่ส่วนใหญ่จะวางแผนการดื่มล่วงหน้าจะไม่เดือดร้อน เพราะสามารถซื้อมาเก็บไว้ก่อนได้" นพ.สมานกล่าว
นพ.สมานกล่าวอีกว่า ส่วนเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เสนอให้มีการเพิ่มวันห้ามจำหน่ายให้ครอบคลุมวันลอยกระทงและงานกาชาดด้วยนั้น ได้ประสานไปยังสถาบันที่รับสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ซึ่งเมื่อได้รับผลโพลล์เป็นอย่างไร อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปรับแก้ร่างประกาศให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงห้ามจำหน่ายในวันลอยกระทง งานกาชาด หรือเทศกาลอื่นๆ และสถานที่ห้ามจำหน่ายที่ประกาศเดิมไม่ได้ห้ามไว้ เช่น ริมถนน
ส่วนนายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทันทีที่ประกาศออกมา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีความคิดห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองในทางปฏิบัติจริงๆ ยังสงสัยว่าจะสามารถลดปริมาณการดื่มในช่วงระยะเวลานั้นได้จริงหรือไม่ หรือลดอุบัติเหตุที่เกิดได้หรือไม่ เพราะการห้ามไม่ให้ขายช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคนจะเลิกดื่มตรงกันข้ามมีการซื้อตุนเอาไว้ล่วงหน้า
“การออกมาตรการควบคุมดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความยากลำบากในการหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุให้หมดไปได้ รัฐบาลควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่ควรเข้มงวดขึ้น เพื่อลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุลง รวมถึงการดูแลเหล้าขาว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ" นายปิติกล่าว
นายปิติกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการนี้ คงเป็นธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร เพราะถือเป็นช่วงขายดีที่สุดช่วงหนึ่งของธุรกิจ เนื่องจากคนคงหันไปเฉลิมฉลองกันที่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของลานเบียร์ คงต้องยกเลิกในช่วงเทศกาลตามที่กฎหมายกำหนด
เช่นเดียวกับนายวรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์วิสกี้ บริษัท ดิอาจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตามทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีและต้อนรับปีใหม่ในระหว่างไตรมาส 4 ซึ่งช่วง 3 เดือน มียอดขาย 30-40% จากยอดขายทั้งปี ส่วนช่วงสงกรานต์ยอดขายมีไม่มาก
"ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ผู้ที่ได้รับผลประกอบโดยตรง คือ ผู้ประกอบการในช่องทางออฟพรีมิส เช่น โมเดิร์นเทรด ร้านค้าต่างๆ ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่จะออกมาควบคุม" นายวรรัตน์กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ทั่วประเทศ นางเอ (นามสมมติ) ตัวแทนจำหน่ายใน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากช่วงเทศกาลสำคัญ ลูกค้าจะมาซื้อเหล้าเบียร์ไปดื่มกินที่บ้านเพื่อสังสรรค์ ไม่ได้ออกไปไหนที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกอย่างวัฒนธรรมของคนอีสานที่ในช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ ก็จะมีงานสังสรรค์กันธรรมดา หากรัฐบาลห้ามจำหน่ายจะตอบสังคมอย่างไร หากจะคุมต้นตอที่แท้จริง ต้องไปควบคุมบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าห้ามผลิตในช่วงเทศกาล
"การออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาล ไม่แน่ใจว่าเพื่อสังคมหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่" นางเอกล่าว
ด้านนางศุภลักษณ์ กาญจนเวนิช ผู้จัดการสุรานารีการสุรา ตัวแทนจำหน่ายใน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า ร.ต.อ.เฉลิม เสนอแนวความคิดเรื่องการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลนั้น เป็นห่วงเรื่องอะไรกันแน่ ซึ่งถ้าเป็นห่วงเรื่องการเกิดอุบัติเหตุก็ควรรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
"ถ้าห้ามจำหน่ายทุกเทศกาลถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค แต่ถ้าเป็นช่วงงานประเพณี เช่น วันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา คนไทยก็ไม่ดื่มอยู่แล้ว และร้านต่างๆ ก็หยุดจำหน่าย" นางศุภลักษณ์กล่าว
ร.ท.สมจิตร สัตนาโค เจ้าของร้านค้าส่งสุรา ที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ช่วงเทศกาลเป็นนาทีทองของร้านค้า เพราะถ้าไม่ใช่เทศกาลก็ไม่ค่อยมีคนซื้อสุรา อยากให้เห็นใจคนค้าขายบ้าง รัฐบาลควรรณรงค์ให้คนดื่มเหล้าน้อยลงจะดีกว่า
น.ส.รัตนาวดี แซ่โค้ว ตัวแทนจำหน่ายใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รัฐบาลควรควบคุมเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา ส่วนเทศกาลรื่นเริง เช่น สงกรานต์หรือปีใหม่ รัฐบาลน่าจะอนุโลมให้จำหน่ายได้ตามปกติ
ส่วนนางดวงใจ สุทธิสัตยารักษ์ ตัวแทนจำหน่าย จ.นครนายก กล่าวว่า ถ้า ร.ต.อ.เฉลิมทำอย่างที่พูดจริง จะมีผลกระทบต่อยอดขายแน่ เพราะวันหยุดเป็นวันที่คนนัดดื่มสุรา ถือเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติกันมานาน ส่วนผู้ค้ารายย่อยก็คงต้องหาวิธีการแอบขาย เพราะผู้ที่ชอบดื่มสุราคงไม่หยุดดื่มไปด้วย
ขณะที่นายสันติ ปิติคาม อดีตประธานชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอข้อกฎหมายการห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ของไทย แม้ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายย่อย หรือรายใหญ่ ต่างปิดกิจการไปแล้วประมาณ 50% ส่วนที่เหลือก็ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดหลายรูปแบบ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขายเหล้าและเบียร์ราคาต่ำกว่าต้นทุน
"ถ้านักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาดื่มกินตามปกติ ต้องมาเจอกับการห้ามจำหน่ายสุราในสถานบันเทิง คงความรู้สึกผิดหวัง และบอกต่อในหมู่นักท่องเที่ยวด้วยกันว่า ประเทศไทยมีการห้ามจำหน่ายสุราในสถานบันเทิง" นายสันติกล่าว
นายสันติเสนอว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้จริง ขอให้ยกเว้นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเมืองพัทยา ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ เนื่องจากดึงดูดนักท่องเที่ยว และเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมหาศาลทุกปี