พันธมิตรฯ ฟ้อง ทักษิณ-กกต. เพิกถอนยุบสภา ชี้มิชอบ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2549 16:37 น.
เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นศาลปกครองฟ้อง นายกฯ - กกต. ให้เพิกถอนกฤษฎีกายุบสภาที่ออกโดยมิชอบ ระบุเหตุผลในการยุบสภาเป็นการใส่ร้ายป้ายสีให้เสียหาย อีกทั้งการหารือกับ กกต.ต้องใช้เสียง 4 ใน 5 แต่ขณะนั้นมี กกต.อยู่แค่ 3 คน ออกเสียงไม่ถึง 4 ใน 5
วันนี้ (2 ก.พ.) นายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค น.ส.กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นายเดช พุ่มคชา น.ส.อนุสรณ์ ไชยพาน นายประยุทธ วีระกิตติ ได้ร่วมกันยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ รวมทั้งประกาศของ กกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549
นายพิทยา กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีที่ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ สาเหตุที่ยื่นฟ้อง เพราะเราเป็นผู้เสียหายจากการยุบสภาฯ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาได้ใส่ร้ายป้ายสีพวกกลุ่มชุมนุมที่เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ได้กล่าวข้อความดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับความเสียหาย ซึ่งพระราชกฤษฎีกาเมื่อออกมาแล้วจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะถูกบิดเบือนว่าสาเหตุจากการยุบสภาฯ เกิดจากมีกลุ่มบุคคลก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ต้องการล้มล้างรัฐบาล และพยายามใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาล ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ทำตัวเองให้ขาดซึ่งจริยธรรมทางสังคม เพราะสาเหตุนี้ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาตรวจสอบ จนเป็นเหตุให้เกิดความบีบคั้นทางการเมือง
การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ และให้เหตุผลดังที่กล่าวมา เท่ากับเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นไป ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ร้องเรียนต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ นายพิทยา กล่าว
นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับมอบหมายของผู้ฟ้องคดีทุกคน กล่าวว่า ถ้าพิจารณาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 จะเห็นว่า กฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้อำนาจทางการบริหารทางการเมือง เพื่อบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี คือ เรื่องการยุบสภาฯ แต่วรรค 2.กำหนดไว้ว่าการยุบสภาฯ จะต้องกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งวันเลือกตั้งมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนการเลือกตั้งไว้ชัดเจน
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งไว้ด้วยในมาตรา 4 และข้อเท็จจริงได้กำหนดตามแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อ 3.ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลได้หารือกับ กกต.ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าเป็นการหารือโดยลำพัง ซึ่งการมีมติของ กกต.จะต้องทำในรูปของคณะกรรมการ กฎหมายกำหนดไว้ 4 ใน 5 แต่ กกต.ขณะนั้นอยู่ในประเทศไทยเพียง 3 คน ซึ่งไม่ครบ 4 ใน 5 ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ก็แสดงว่าในพระราชกฤษฎีกามีการกระทำมีบทบัญญัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ด้วย จึงต้องมีการฟ้องขอให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ นายนิติธร กล่าว
นายนิติธร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้งในแง่การประกาศและการกระทำของ กกต.ในขณะนี้ รวมถึงการรับสมัคร การตรวจสอบบัญชีรายชื่อก็ขอให้ระงับก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า การยุบสภาฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีคนเดียว การชุมนุมของภาคประชาชนเพื่อต้องการให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี แต่แทนที่นายกรัฐมนตรีจะเปิดให้มีการตรวจสอบ แต่กลับใช้วิธีการยุบสภาฯ ซึ่งการยุบสภาฯ โดยนิติประเพณีจะต้องยุบเนื่องจากทำงานไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีปัญหาต่อกัน จึงจะถือว่าเป็นเหตุผลที่เหมาะสม แต่การทำแบบนี้เป็นการตั้งบรรทัดฐานที่ผิด นายกรัฐมนตรียุบสภาฯ เพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง คือ ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่นายกรัฐมนตรีกลับใช้วิธีปิดเกมและเปิดเกมใหม่ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการกำหนดเวลาการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่เกิดจากการยุบสภาฯ จะให้เวลามากกว่าการเลือกตั้งที่สภาหมดวาระ แต่รัฐบาลกลับกำหนดเวลาไว้สั้นมาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นการแสวงหาความได้เปรียบทางการเมือง ในแง่นี้ กกต.ก็เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยไม่มองผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นในสังคม และตนยังมองว่าจุดนี้ยังมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงมีการฟ้องเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ทั้งหมด หากศาลปกครองพิจารณาเห็นว่าคำร้องของกลุ่มรับฟังได้และมีเหตุผล และถ้ามีการยกเลิก ทางกลุ่มจะเรียกร้องต่อไปว่านายกรัฐมนตรีควรรับผิดชอบด้วยการลาออก