"...สิ่งเหล่านี้จะพอเป็นเหตุผลและเป็นน้ำหนักให้ "ทหาร" ตัดสินใจปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ สิ่งเหล่านี้พอจะเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ออกมาผลักดันการปฏิวัติใดๆ หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนปมที่ "สมชาย" ที่แม้จะไม่ได้เป็นคนผูกโดยตรง แต่ก็จะต้องลงมาแก้ ลงมาล้างภาพต่างๆ ให้หมดสิ้นไป..."
เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้จะช็อคความรู้สึกของคนทั้งประเทศไทย ซึ่งไม่มีคนคาดคิดว่า จะใช้วิธีโบราณอย่างการนำเอาทหารและรถถังออกมายึดอำนาจ จะเกิดขึ้นอีก ใน "พ.ศ." นี้ แต่สุดท้ายมันก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้เหตุผลและเหตุการณ์เดิมๆ คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง !!
จากอารมณ์ความไม่พอใจนำไปสู่วงเสวนาอย่างเผ็ดร้อนในแวดวงของนักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัย ก่อนจะนำไปจุดประเด็น ขยายผล โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ในเมืองไทยรายสัปดาห์
ปลายปี 2548 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2549 มวลชนกลุ่ม "ต่อต้านระบอบทักษิณ" จึงรวมตัวกันติดอย่างรวดเร็ว จาก ในชื่อ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และหนึ่งในข้อโจมตีกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดของกลุ่มพันธมิตรฯ คือข้อกังขาในความจงรักภักดีต่อระบอบกษัติย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยผู้ที่ฉีกแผลให้ลึกและกว้างขึ้นคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำ ทำให้มวลชนส่วนหนึ่งเชื่อ ปักใจว่า "ทักษิณ" มุ่งล้าง "ระบอบเจ้า"
ต่อมามีการปลุกระดมมวลชนให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายพันธมิตรฯ กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล โดยกำหนดนัดรวมพลใหญ่คือวันที่ 20 กันยายน 2549 จึงมีการคาดการณ์กันว่าหากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจริงจะมีประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เลือดจะต้องนองแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง !!
แต่แล้วทุกอย่างก็เป็นอันสะดุดหยุดลงจากข้อความว่า "โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง" และ "ขออภัยในความไม่สะดวก" เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 นำโดย "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก" ได้กระทำการปฏิวัติรัฐประหารในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) ซึ่งนับจากวันนี้ก็ครบ 2 ปีพอดี !!
พฤศจิกายน 2549 สองเดือนหลังจากรัฐประหาร คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว" ชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจาก เหตุผลของ คมช. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับประธานองคมนตรี
อย่างไรก็ตาม หลังการจากไปของคณะรัฐบาลเฉพาะกิจโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี "ฟ้าประทาน" ของคณะปฎิวัติ ก็เข้าสู่ยุครัฐบาลประชาธิปไตยของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 โดยมีพรรคพลังประชาชน (พปช.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับอีก 6 พรรคการเมือง ซึ่งเกิดใหม่ภายพรรคหลังรัฐประหาร
ภาพสะท้อนการเมืองไทย19 ก.ย. 51ฤๅจะเป็นกระจกเงารัฐประหาร 19 ก.ย. 49
แต่การเข้ามาของนายสมัคร ผู้ซึ่งประกาศเต็มปากเต็มคำว่าเป็น "นอมินี" ให้พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมกับการลั่นวาจาว่าจะนิรโทษกรรมให้กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ยิ่งปลุกระดมความไม่พอใจเดิมๆ ให้กลับมาอีกครั้ง
25 เมษายน 2551 พันธมิตรฯ ประกาศฟื้นและรวมตัวชุมนุมใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ต่อมา 25 พฤษภาคม 2551 นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก่อนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดกั้นไว้ก่อนได้ จึงได้ยึดสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นเวทีและฐานบัญชาการต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่นั้นมา
26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ บุกรุกเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง NBT หรือ ช่อง 11 เดิม พร้อมๆ กับการที่สามารถบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นครั้งแรกหลังจากพยายามมาหลายครั้ง ฐานที่มั่นถูกเปลี่ยนมือจากฝากรัฐบาล มาเป็นฝ่ายต่อต้าน และมีแนวโน้มว่าจะไม่ยอมคืนอีกด้วย
2 กันยายน 2551 เมื่อเวลา 03.00 น. เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตฯ และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ความรุนแรงคงไม่ต้องบรรยาย พื้นที่ข่าวของประเทศทั้งหมดได้รายงานถึงเหตุการณ์เหล่านั้นไปจนสิ้น เป็นผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 40 ราย และมีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายคือ "ณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง" คงไม่ต้องระบุว่าเป็นฝ่ายใดที่สูญเสีย เพราะเป็นประเทศไทยนั่นแหละที่สูญเสีย !!
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ นายสมัคร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศ พระราชกำหนดบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่ "ทักษิณ" พยายามจะประกาศใช้เมื่อครั้งถูกยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่กระทำไม่สำเร็จ
บอกเล่ากลับไปในช่วงการเมืองคลุกฝุ่น ทางฝ่าย "ทัพบู๊ท" เองก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ที่เป็นเสมือนทายาทของ "บิ๊กบัง" มีความสนิทเป็นเนื้อเดียวกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะนายสมัคร ชนิดที่เรียกว่าติดสอยห้อยตามไปต่างประเทศในทุกครา แม้กระทั่งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสมัครยังวางใจ พร้อมมอบ "ดาบอาญา" ให้ "บิ๊กป๊อก" เชือดพันธมิตรฯ เรียกว่าภาพความสัมพันธ์ภายนอกนี้ อาจหลอกตาให้คนเชื่อได้ว่า "การปฎิวัติรัฐประหาร" จะไม่รีเทิร์น !!
หากยังจำได้กับเงื่อนไขหนึ่งของ "คปค." ที่ระบุว่าเงื่อนไขการปฏิวัติคือการสกัดเหตุประชาชนปะทะกันในวันที่ 20 กันยายน 2551 แต่ภาพเหล่านี้เริ่มฉายกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
พูดถึงในแง่ของความจงรักภักดี นับว่านายสมัครแก้ปมด้อยนี้จากพ.ต.ท.ทักษิณ ได้เฉียบขาด การประกาศจัดงาน "116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ" สกัดข้อครหานี้ออกไปได้ พร้อมกับเกียรติประวัติทางครอบครัวที่เจ้าตัวยืนยันว่ารับใช้ราชวงศ์มาอย่างยาวนาน ทำให้ข้อค่อนคอนดังกล่าวตกไป
อย่างไรก็ตาม วันอังคารที่ 9 กันยายน พลันเก้าอี้ของนายสมัครเป็นอันต้องกระเด็นตกไป เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้นายสมัครสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 สืบเนื่องมาจากการเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ในฐานที่ไปรับจ้างทำงานให้กับบริษัทเอกชน
โซ่ที่คล้องระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดย "สมัคร" กับ "พล.อ.อนุพงษ์" หลุดออกจากกัน...
17 กันยายน 2551 สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ได้ตัว "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" พร้อมกับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 อย่างไรก็ตาม ทราบกันดีว่าเป็น "น้องเขย" พ.ต.ท.ทักษิณ แน่นอนว่าได้รับการปฏิเสธทันทีจากกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่ฝ่ายทหารเอง ดูจากท่าทีในการแถลงการณ์ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 14 กันยายน ก็อาจจะฉายภาพไม่ชัด
แต่เมื่อฟังจากการเข้าไปไกล่เกลี่ยก่อนการเลือกตั้งนายสมชายนั้น มีการพูดกันว่า นายสมชายต้องโทรไปหาพล.อ.อนุพงษ์ด้วยตัวเองว่าทางพรรคฯ มีมติจะเสนอชื่อตน ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ก็ไมได้ขัดข้องอะไร เรียกได้ว่าพปช.มีความพยายามที่จะสกัดกั้นความไม่พอใจของฝ่ายทหาร ไม่ทำให้เกิดเงื่อนไขในการรัฐประหารซ้ำ
อย่างไรก็ดี ภาพซ้อนต่างๆ ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้ง ภาพของระบอบเก่าที่กลับมาครองอำนาจซ้ำ เนื่องจากสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งระหว่าง "สมชาย" และ "ทักษิณ" หรือแม้แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแม้ขณะนี้ภาพอาจจะยังไม่ชัดเท่าในอดีตแต่ก็มีเค้าลางพอให้ได้เห็น จากการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวง และหน่วยงานกุมอำนาจทุนต่างๆ
สิ่งเหล่านี้จะพอเป็นเหตุผลและเป็นน้ำหนักให้ "ทหาร" ตัดสินใจปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ สิ่งเหล่านี้พอจะเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ออกมาผลักดันการปฏิวัติใดๆ หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนปมที่ "สมชาย" ที่แม้จะไม่ได้เป็นคนผูกโดยตรง แต่ก็จะต้องลงมาแก้ ลงมาล้างภาพต่างๆ ให้หมดสิ้นไป
...ล้วนแล้วแต่เป็นปมที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องติดตามต่อไป ไม่ว่าผู้มีอำนาจใดจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังว่าทุกอย่างจะกระทำไปด้วยความเห็นแก่ประชาชนและบ้านเมืองอย่างแท้จริง...
********************************************************
เรียบเรียงโดย ธนิตย์ ขาวเจริญ นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม