ดร.แดนกับนโยบาย ต้านเมืองโรคระบาดผลพวงจากภาวะโลกร้อน

เมืองโรคระบาด ผลพวงจากภาวะโลกร้อน



ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นับเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างรับรู้ว่าได้เกิดขึ้นแล้ว

เช่น อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลง การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และในอนาคตอันใกล้อีก 11-12 ปี จากนี้ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส กรุงเทพฯ นับเป็นเมืองหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น  อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากอุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นและถี่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางลมมรสุมแปรปรวน  ข้อมูลจากสถาบันเวิลด์วอทช์  ระบุว่า กรุงเทพฯ จะเป็น 1 ใน 21 เมือง จาก 33 ประเทศ ที่จะจมน้ำในอีก 7 ปีข้างหน้า
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เหล่านี้  ส่งผลให้กรุงเทพฯ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังอย่างรุนแรงและเมื่อน้ำท่วมขังทั้งเมือง จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรคที่เหมาะสมมาก

การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเกิดจากภาวะโลกร้อน อาจส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำหลายชนิด

เช่น การกลับมาระบาดอีกครั้งของโรค ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค วัณโรค เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็วขึ้น ระบาดได้รวดเร็ว รวมถึงแหล่งรังโรคและพาหะนำโรคมีมากขึ้น แพร่โรคได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยุง หนู แมลงสาบ หรือสัตว์อื่น ๆ  ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เป็นเมืองที่เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค การเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น จึงเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ของสัตว์เหล่านี้ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของแมลงและสัตว์พาหะนำโรค

ยิ่งในอนาคตที่มีปัจจัยเสริมดังเช่นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่กล่าวมาข้างต้น กรุงเทพฯ ยิ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโรคที่มาจากสัตว์เหล่านั้นอย่างรวดเร็ว
 
หากเราไม่สามารถจัดการเพื่อลดปริมาณสัตว์พาหะเหล่านี้ลงได้ อาจได้พบกับเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ของสัตว์พาหะนำโรค และยังเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคใหม่ และโรคเก่าอุบัติซ้ำหลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค วัณโรค

การแก้ไขปัญหาเรื่อง การแพร่ระบาดของสัตว์พาหะนำโรคนี้ จึงต้องเริ่มคิดวางแผนจัดการป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้อย่างจริงจัง

โดย “ประกาศสงครามกับหนู แมลงสาบ ยุง แมลงวัน” และหาวิธีในการกำจัดสัตว์พาหะเหล่านี้ โดยอาศัยความรู้ เทคโนโลยี และการวิธีทางชีวภาพเข้ามากำจัดอย่างถูกต้อง รวมถึงต้องสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการลด ละ เลิกพฤติกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสภาวะเหมาะสมกับการหากิน และอยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องการระบาดของสัตว์พาหะนำโรคเหล่านี้  จึงถือเป็นวาระสำคัญที่เราไม่สามารถละเลยได้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวพี่น้องประชาชนทั้งในเชิงสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิต


หมายเลข 2
   ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์