กรุงเทพธุรกิจ
ส.ว.เรืองไกร ขู่ยื่นเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัย ถ้าวุฒิโหวตเห็นชอบงบปี 52 ระบุ กมธ.วิสามัญ สภาฯ ปรับเพิ่มไม่ได้ ขัด รธน. "รสนา"ต้านงบส.ส.คนละ25ล้าน "เสธ.อู้-ตวง"เสนอส่งศาลรธน.เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า สมัยคำวินิจฉัยปี 2543 ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยเรื่องการแยกอำนาจ 3 ฝ่าย แต่คำวินิจฉัยหลังสุดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีการพูดถึงการแยกอำนาจ 3 ฝ่าย โดยเปิดให้สมาชิกเป็นกรรมการฝ่ายนิติบัญญัติได้ เช่น สถาบันพระปกเกล้า และกรรมการข้าราชการรัฐสภา แต่เป็นกรรมการในฝ่ายบริหารไม่ได้
ในคราวนั้น ตนจึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของวิปรัฐบาล เปรียบเทียบกรณีนี้ก็เป็นหลักการเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้นกรรมาธิการก็ไม่มีความหมาย โดยหากกรรมาธิการปรับลดแล้ว ส่วนราชการจะขอ ครม.อีกก็ไม่สมควร เพราะอาจเป็นการเปิดช่องให้กรรมาธิการไปยุ่งเกี่ยวในฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ฉะนั้น ตนจะรอให้วุฒิสภาโหวตเสร็จก่อน จึงจะยื่นเรื่องได้ตามที่มาตรา 154 (1) บัญญัติ ซึ่งมีสมาชิกเตรียมเข้าชื่อ 1 ใน 10 อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี อาจไม่ต้องยื่น หากวุฒิสภาโหวตให้ร่างพ.ร.บ.ไม่ผ่าน เพราะร่างพ.ร.บ.นี้มีปัญหามาก ทั้งเรื่อง การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯพิจารณาเกินเวลาโดยไม่มีการขออนุญาตที่ประชุมสภา และการที่วุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาก่อนที่สภาผู้แทนฯจะรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
อนึ่งสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 32 / 2543 ระบุว่า กรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ และส.ส. ไม่สามารถเสนอหรือยกคำขอเพิ่มเติมงบประมาณของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่ครม.ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบขึ้นพิจารณาได้
"คำนูณ" ไม่เห็นชอบร่างพรบ.งบฯ ไม่สมเหตุผล
การพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. มีนาย นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ วุฒิสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ 8 ก.ย. 2551 ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคสาม บัญญัติ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบงบประมาณที่ตั้งไว้ 1 ,835,000,000,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ไม่เกิน 1 ,807,459,822,500 บาทและเพื่อชดใช้เงินคงคลังเป็นจำนวน 27,540,177,500 บาท ทั้งนี้มีการปรับลดลงจำนวน 45 ,009,585,700 บาท และปรับเพิ่มจำนวน 15 ,009,585,700 บาท แบ่งเป็น การปรับเพิ่มประมาณ 2.9 หมื่นล้านสำหรับโครงการของหน่วยราชการที่เพิ่มขึ้น และปรับเพิ่มประมาณ 1.6 หมื่นล้าน สำหรับเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้นายนิคมแจ้งว่า ส.ว.มีเวลาอภิปราย 740 นาที แบ่งเป็นคนละ 10 นาที ไม่รวมรัฐมนตรีตอบ โดยวันนี้มีเวลาอภิปรายนาน 8 ชั่วโมง
จากนั้นจึงเริ่มการอภิปรายโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การจัดงบประมาณแผ่นดินในครั้งนี้ไม่ยึดการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่อว่าจะใช้จ่ายไม่สมเหตุผล และมีกระบวนการตราที่น่าสงสัยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ทั้งนี้ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้จากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการหดหายแสนล้านบาทจากการประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้การประมาณการรายรับน่าจะผิดเพี้ยน เศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับมุ่งทำโครงการขนาดใหญ่อย่างการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 6 , 000 คัน ซึ่งสตง.ทักท้วงว่า เงินลงทุนสูงและระยะยาวควรพิจารณาใหม่ หรือโครงการการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ไม่มีการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และด้านสังคม(เอสไอเอ)อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 67 หรืองบผู้ว่าราชการจังหวัด แม้จะดูดีในแง่การกระจาย แต่หากดูงบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แสนล้านบาท เป็นเงินที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้ แต่ กทม.และพัทยา ได้เงินลดลง ทั้งนี้รัฐบาลคิดจะทำโครงการใหญ่ๆ ขณะที่สภาวะประเทศไม่ร่ำรวยและต้องกู้เป็นแสนล้านบาท ฉะนั้นควรทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งตนจึงไม่อาจให้ความเห็นชอบ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจโลกตกต่ำ บริษัทใหญ่ในโลกล้ม น้ำมันราคาสูง ก่อให้เกิดภาวะกดดันเศรษฐกิจไทย ภาวะเงินเฟ้อน่าเป็นห่วง ฉะนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาครัฐ จึงเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ที่ต้องเพิ่มการลงทุนโดยภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นบรรยากาศในการประชุมตึงเครียดขึ้นมา เมื่อนาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา อภิปรายทักท้วงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรคห้า บัญญัติว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้ แต่ตามเอกสารพบว่า ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร มีการเพิ่มรายการเข้ามาจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นถือว่า กระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง วุฒิสภาจึงควรพิจารณาประเด็นนี้ก่อนว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสามหรือไม่ แต่นาย นิคม ชี้แจงว่า มาตรา 168 วรรคห้า ส.ส.จะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการมิได้ แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯของสภาผู้แทนราษฎร สามารถทำได้ ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมานานแล้ว ทำให้นายเรืองไกร กล่าวว่า รองประธานวุฒิสภา กำลังวินิจฉัยแทนศาลรัฐธรรมนูญ และหากพิจารณาต่อไปอาจมีปัญหา เพราะไม่มีกฎหมายใดมาหักล้างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ที่ทำกันคือ ทำการกันไปเองโดยอ้างเป็นประเพณี
นายนิคม ชี้แจงอีกครั้งว่า ตนไม่ได้วินิจฉัยแทน แต่เมื่อดูตามรัฐธรรมนูญและขั้นตอนการพิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนที่สมาชิกเห็นว่า ไม่ชอบ ก็ให้ดำเนินการไปทางศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ขอดำเนินการประชุมต่อ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มาตรา 168 วรรคเจ็ด ระบุว่า กรณีที่ส.ส. หรือส.ว. 1 ใน 10 ของสภาตนเอง เห็นว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืน ก็เสนอศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาในส่วนนั้นสิ้นผลไปได้ ฉะนั้นวุฒิสภาสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้ แต่ในส่วนดังกล่าว ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส.ส.เพิ่มงบไปลงพื้นที่ของตน ก็วินิจฉัยให้ส่วนที่ปรับเพิ่มตกไปได้ แต่ส่วนอื่นวุฒิสภายังสามารถพิจารณาและทูลเกล้าฯได้
ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบฯ วุฒิสภา ชี้แจงว่า การพิจารณาวันนี้ต้องเดินต่อ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องพิจารณาให้เสร็จใน 20 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกสังคมตั้งคำถามในการทำหน้าที่ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่ได้เห็นแตกต่างจากที่สมาชิกมองข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าสมาชิกเห็นว่าเป็นปัญหาก็ให้ดำเนินการไปทางศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนายวิทยา อินนาลา ส.ว.นครพนม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคห้า ให้ส.ส.ปรับลดไม่ได้ให้ปรับเพิ่ม แต่ในส่วนกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯ ครม.ให้เอกสิทธิ์กรรมาธิการปรับรายการเพิ่มได้แต่ต้องไม่มากกว่ารายการที่ปรับลด
ขณะที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 3 ประการคือ มีรัฐมนตรีที่มาร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาด้วยคือ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลกรณีหวยบนดิน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พักงาน และกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลไทยขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง และกรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะคดีชิมไปบ่นไป ถือว่ากระบวนการตรากฎหมายงบประมาณขัดรัฐธรรมนูญ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายนิคม ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2543 พร้อมทั้งส่งเอกสารดังกล่าวให้นายเรืองไกร ซึ่งหลังจากอ่านอยู่ประมาณ 20 นาที ก็ได้อภิปรายว่า เท่าที่ดูคำวินิจฉัยและเอกสารพิจารณางบประมาณ ตนยังเห็นว่า ขั้นตอนที่ ครม.จัดทำงบประมาณ อาจจะขัดรัฐธรรมนูญเพราะขั้นการปรับลดแล้วปรับเพิ่มรายการกลับมา ไม่มีการผ่านครม. ซึ่งตนเตรียมเอกสารที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว กับอีกทางหนึ่งคือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคสอง ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้นายกฯระงับการดำเนินการประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน จากนั้นที่ประชุมจึงมีการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯต่อไป
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปราย ว่า ขอตั้งข้อสังเกตที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯ ปรับลดงบลง 4.5 หมื่นล้านบาทลงไปแล้ว แต่กลับมีการปรับเพิ่ มเข้ามาในจำนวนที่เท่ากัน โดยที่ปรับเพิ่มในส่วน กรมทางหลวงชนบท จำนวน 6 , 700 ล้านบาท ตนได้สอบถามไปยังสำนักงบประมาณถึงการเพิ่มงบในส่วนนี้ และได้รับคำชี้แจงว่า งบที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มจำนวนดังกล่าว กรมทางหลวงต้องคัดเลือกหนังสือที่ขอโครงการโดยมีขั้นตอนตามที่ระเบียบราชการระบุไว้ ไม่ใช่จะอนุมัติง่ายๆ นอกจากนี้ในส่วนเงินอุดหนุนท้องถิ่น จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท มีข่าวลือออกมาว่า มีการเตรียมการจัดสรรแบ่งปันกันในหมู่ ส.ส.ทั้ง 480 คน คนละ 25 ล้านบาท คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลต้องชี้แจง