อัยการลุ้นศาลฯ พิพากษาลับหลัง แม้ว-อ้อ คดีที่ดินฉาว เหตเผ่นตั้งแต่ชั้นพิจารณา อดีตผู้นำอ่วมเจอหมายจับ 3 ใบ

อัยการลุ้นศาลอ่านพิพากษาลับหลังจำเลยคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ยกเหตุ "แม้ว-หญิงอ้อ" เผ่นตั้งแต่ชั้นพิจารณา ต่างจากคดี "วัฒนา อัศวเหม" แต่ให้รอฟังดุลพินิจเลื่อนหรือไม่ ส่วนคดีเอสซีฯอัยการนัดสั่งคดีใหม่ 29 ตุลาคม "ทักษิณ" เจอหมายจับใบที่ 3 คดีปล่อยเงินกู้พม่า ศาลฎีกาชี้เจตนาหลบหนี สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าตามตัวได้

นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เขต 8 หนึ่งในคณะทำงานรับผิดชอบคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ กล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน ถึงคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-2 และขอให้ยึดทรัพย์จำนวน 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในการประมูลซื้อที่ดินตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 กันยายนนี้ ว่า เป็นไปได้ที่ในวันฟังคำพิพากษาจำเลยทั้งสองจะไม่มา และอาจเป็นเหตุให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ซึ่งแม้ตามกฎหมายจะต้องให้อ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลย แต่เมื่อคดีนี้ศาลอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลย และในรายงานกระบวนพิจารณาคดีศาลเคยระบุว่า แม้จำเลยทั้งสองอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ถือว่าตัวจำเลยยังอยู่ในอำนาจศาล ดังนั้น อาจไม่ต้องออกหมายจับจำเลยอีกและเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปอีก 30 วัน แต่ทั้งนี้จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
 
"ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) อัยการไม่จำเป็นต้องแถลงต่อศาลยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองหลบหนีไปอีก เพราะข้อเท็จจริงมีปรากฏในกระบวนพิจารณาของศาลแล้ว และหากศาลอ่านคำพิพากษาทันที ถ้าตัดสินว่าจำเลยมีความผิดลงโทษตามฟ้อง จะออกหมายจับจำเลยมารับโทษ แต่ถ้าศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดแล้วยกฟ้องกระบวนการทางคดีก็ยุติ" นายนันทศักดิ์ กล่าว
 
นายนันทศักดิ์ กล่าวอีกว่า คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับคดีนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความแตกต่างกัน เพราะนายวัฒนามาศาลเกือบทุกนัดระหว่างการพิจารณา ขณะที่ศาลมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษานายวัฒนายังไม่ได้หลบหนี กระทั่งวันพิพากษานายวัฒนาไม่ได้มาศาลจึงถูกออกหมายจับ แล้วเมื่อยังไม่ได้ตัวมาภายใน 30 วัน หลังจากออกหมายจับ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง แต่ในส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กลับปรากฏว่าหลบหนีไปตั้งแต่ชั้นพิจารณาโดยไม่มารายงานตัวหลังจากเดินทางไปต่างประเทศตามที่ศาลสั่งไว้จนถูกออกหมายจับ ซึ่งศาลไม่ได้สั่งจำหน่ายคดีเพื่อพักการพิจารณาคดี แต่ได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 17 กันยายน เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-2 และขอให้ยึดทรัพย์จำนวน 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในการประมูลซื้อที่ดิน ตกเป็นของแผ่นดิน และเป็นที่แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองจะไม่มาฟังคำพิพากษา ซึ่งอยู่ที่องค์คณะผู้พิพากษาจะพิจารณาเลื่อนอ่านคำพิพากษาแล้วออกหมายจับจำเลยมาศาลภายใน 30 วัน  หรือศาลจะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. นายปัญญา สุทธิบดี รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 กันยายน เพื่อพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ให้สั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร
 
เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี ทางนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายโจทก์และคณะ พร้อมด้วยนายวัชระ สุคนธ์ ทนายจำเลยกับคณะมาศาล ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณจำเลยไม่มาศาล
 
จากนั้นศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับหมายเรียกแล้ว โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์จึงมีเจตนาจะหลบหนี ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป เมื่อได้ตัวจำเลยมาจึงจะนำคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนที่ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 ขอถอนนายวัชระ สุคนธ์ และคณะรวม 3 คน ออกจากทีมทนายความจำเลย องค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาต ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 โต้แย้งข้อกฎหมายที่ใช้บังคับคดีนี้ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลเห็นควรมีคำสั่งประเด็นดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นับว่าเป็นหมายจับฉบับที่ 3 แล้ว โดยสองครั้งแรกเป็นคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก และศาลได้มีการสั่งปรับนายประกันไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 8 ล้านบาท
วันเดียวกัน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นจำเลยในคดีออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) เดินทางมายื่นคำร้องและหลักทรัพย์ เพื่อขอประกันตัว โดยใช้เงินสดและบัญชีเงินฝาก ประกันตัวออกไป โดยศาลตีราคาหลักทรัพย์ประกันคนละ 500,000 บาท
 
ส่วนที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้นัดฟังการสั่งคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นผู้ต้องหาที่ 1-4 ซึ่งวันนี้มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายประกัน ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังการสั่งคดีออกไป โดยอ้างว่าจะติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มาฟังการสั่งคดีในนัดหน้า ซึ่งหากทั้งสองไม่มาตามนัด ยินดีให้ปรับนายประกัน
 
ภายหลังนายเศกสรรค์กล่าวว่า ทางพนักงานอัยการยังต้องพิจารณาสำนวนอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังจากได้รับเอกสารพยานหลักฐานการถือครองหุ้นบางส่วนจากต่างประเทศที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามมาแล้ว จึงเห็นสมควรให้เลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ซึ่งหาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานไม่มาฟังคำสั่ง จะปรับนายประกันคนละ 1 ล้านบาท และออกหมายจับต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์