รักษาการผอ.เร่งเคลียร์ เล็งขึ้นค่าจ้างให้ หลังพนง.NBT ลุกฮือ! ขอเปลี่ยนกลับใช้ โลโก้ช่อง11

พนง.NBT ลุกฮือ! ยื่นเงื่อนไขผู้บริหาร 3 ข้อ ให้ขอเปลี่ยนกลับใช้โลโก้ช่อง11 "ณัฐวุฒิ"อ้าง"ไม่เกี่ยวขอเปลี่ยนโลโก้ ปชป.หนุนคืนอิสระกลับสู่ช่อง11 ในที่สุด รักษาการผอ.เร่งเคลียร์ เล็งขึ้นค่าจ้างสกัดม็อบ

เล็งขึ้นค่าจ้าง "เอ็นบีที" สกัดม็อบ
 
ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถนนวิภาวดี นายสุรยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เรียกประชุมเป็นการภายในระหว่างผู้บริหาร วันที่ 16 กันยายน หลังจากเกิดความไม่พอใจของกลุ่มลูกจ้างประจำของช่อง 11 เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์กับพนักงานบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ทั้งเรื่องเวลาทำงาน อุปกรณ์ รวมถึงเงินเดือน ซึ่งพนักงานบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งได้สูงกว่า ทั้งกำลังจะปรับขึ้นอีกในเร็วๆนี้ ทั้งๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นพนักงานเอ็นบีทีเหมือนกัน
 
หลังการประชุมนายสุริยงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า คุยกันเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงของลูกจ้างชั่วคราว เนื่องจากมีฐานเงินเดือน 7,000 บาท ขณะที่พนักงานบริษัท ดิจิตอลฯได้ 9,300 บาท จึงต้องหาช่องทางช่วยเหลือ อาจจะต้องแก้ไขกฎบางอย่างของกรมประชาสัมพันธ์ จะหารือกันอีกครั้งในวันอังคารหน้า

"ยังไม่มีการประท้วงอะไร ตอนนี้อยู่ในขั้นอธิบายกันว่าการที่พนักงานดิจิตอลได้เงินเยอะกว่า ไม่ใช่ว่าเขามั่นคงกว่า เพราะบริษัทเขาอาจจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ผมเองอยากจะพูดกับกรมประชาฯ เหมือนกันว่า จะทำอย่างไรกับปัญหานี้ เพราะช่องเราเหมือนโรงฝึกบุคคลาการให้ช่องอื่น มันสมองไหลเยอะมาก ช่องอื่นได้ค่าตอบแทนมากกว่าเกือบ 2 เท่า ส่วนเรื่องโลโก้เป็นปัญหาเก่า แต่ถูกนำมาเชื่อมโยงกันเท่านั้น" นายสุริยงค์กล่าว
 
ปชป.หนุนคืนอิสระกลับสู่ช่อง11
 
นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนและให้กำลังใจกับการเคลื่อนไหวของคนในกรมประชาสัมพันธ์ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กลับมาเป็นช่อง 11 เหมือนเดิม เรื่องนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเรียกร้องความเป็นอิสระกลับคืนมาสู่สถานีโทรทัศน์ของรัฐ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงในกรมประชาสัมพันธ์นำพาองค์กรสื่อของรัฐไปรับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างน่าเกลียดจนละเลยหลักการแห่งวิชาชีพ ทำให้กรมประชาสัมพันธ์ตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
 
นายอภิชาต กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตำหนิผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ทั้งอธิบดี และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ยอมทำสัญญาให้บริษัทเอกชนจากภายนอกเข้ามากุมงานหัวใจของสถานีโทรทัศน์คืองานข่าว นอกจากจะทำให้ทิศทางงานข่าวของสถานีบิดเบี้ยว ขาดความเป็นกลาง กลายเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายการเมืองเต็มรูปแบบ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างรุนแรงแล้ว  พนักงานช่อง 11 เดิมซึ่งเป็นคนของกรมประชาสัมพันธ์ถูกจำกัดบทบาทในการทำงาน ถูกละเลยในเรื่องโอกาสในการเรียนรู้และการตัดสินใจ รวมถึงเรื่องสวัสดิการ เพราะทุกอย่างไหลเทไปให้บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาทั้งหมด สภาพอย่างนี้ผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์กลับทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาว
 
ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศด้วยว่า ต้องให้ความสำคัญกับบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลสื่อมวลชนของรัฐ ไม่เพียงแต่จะต้องเลิกคิดเข้ามาแทรกแซง ควบคุม หรือใช้สื่อเป็นเครื่องมือของตัวเองเหมือนที่ผ่านมาแล้ว ยังต้องสนับสนุนการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง ต้องมีวิสัยทัศน์ในการเสริมสร้างเกียรติภูมิความเป็นสื่อมวลชนของรัฐที่จะต้องเป็นแบบอย่างของสื่อมวลชนทั่วไปให้ปรากฎด้วย ซึ่งจะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
"ณัฐวุฒิ"อ้าง"ความจริงวันนี้"ไม่เกี่ยวพนง.ประท้วง
 
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นช่อง 11 เช่นเดิม และมีการระบุว่ารายการ "ความจริงวันนี้" เป็นส่วนที่ทำให้ถูกโจมตีและทำงานได้ลำบาก ว่า จากการสอบถามการเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากหลายประเด็นซึ่งรวมถึงประเด็นอัตราค่าตอบแทน ส่วนรายการความจริงวันนี้ ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นการนำความจริงมาพูด และหากมีเรื่องใดที่ขัดต่อข้อกฎหมาย ผู้ร่วมรายการทั้ง 3 คน พร้อมที่จะรับผิดชอบ ส่วนเรื่องภาพลักษณ์ของสถานี ขอให้พิจารณาจากความนิยมของสถานีมากกว่า แต่คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถไกล่เกลี่ยได้ในที่สุด

พนง.NBT ลุกฮือ! ขอเปลี่ยนกลับใช้โลโก้ช่อง11
 
ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสถานีโทรทัศน์ NBT  กรมประชาสัมพันธ์  ในส่วนของฝ่ายช่าง ฝ่ายเทคนิค จำนวนกว่า 20 คน ได้เคลื่อนไหวรณรงค์เรียกร้องพนักงาน ให้ออกมาประท้วงฝ่ายบริหาร  ด้วยการนำโลโก้ช่อง 11 กลับมาใช้ แทน NBT  ดังเดิม เนื่องจากเห็นว่า การเปลี่ยนเป็น NBT นั้น ทำให้เสียภาพลักษณ์ สูญเสียความน่าเชื่อถือ เพราะถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานดังกล่าว ยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะที่ผ่านมา พนักงานที่มาจากภายนอกกับพนักงานเดิมที่มีอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนที่ต่างกันจึงปรากฏให้ความขัดแย้ง
 
ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงของพนักงานนั้น นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ NBT ได้เรียกพนักงานทุกฝ่ายเข้าชี้แจงเพื่อทำความเข้ราใจภายในห้องประชุมชั้น 8 ซึ่งบรรยากาศการชี้แจงเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยยังไม่ทราบว่าจะได้ข้อยุติลงเอยอย่างไร

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนพนักงานช่อง 11 ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูง NBT จำนวน 3 ข้อ คือ

1.ต้องเปลี่ยนแปลงโลโก้ NBT เป็นโลโก้ช่อง 11 ทันที เนื่องจากพนักงานไม่ได้รับความปลอดภัยจากโลโก้ NBT
2. ต้องพิจาราฐานเงินเดือนของพนักงานช่อง 11 เดิม ให้เทียบเท่ากับพนักงานไอทีวี ที่มาดูแล โดยได้ยกตัวอย่าง ในส่วนช่างภาพไอทีวี ฐานเงินเดือนสตาร์ท 20,000 บาท แต่ลูกจ้างช่อง 11 เริ่มต้น 7,500 บาท
3.ให้ดูแลเงินเบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการ ไม่ให้มีการลักหลั่นกัน หรือเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป และควรจ่ายให้ตรงเวลา ซึ่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับเรื่องไว้จะนำเสนอระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจต่อไป
      
ขณะที่ การหารือระหว่างตัวแทนพนักงานช่อง 11 และตัวแทนผู้บริหารยังคงไม่ยุติ และบรรยากาศเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด ซึ่งในส่วนของตัวแทนของพนักงานช่อง 11 ได้กล่าวชัดเจนว่า ถ้ายังไม่ได้คำตอบในเรื่องผลตอบแทนที่เหมาะสม  การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือน หากไม่มีความคืบหน้าก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงกว่านี้อีกครั้ง

สำหรับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที ถูกเปลี่ยนแปลงมาจากสทท.  11 ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551   โดยนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น  ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงโดยอ้างความทันสมัย เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการบริหารงาน และตอบสนองเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี  โดย สถานี เอ็นบีที เป็นการใช้ชื่อที่จดทะเบียนสมาชิกกับสหภาพวิทยุ-โทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก และได้ออกอากาศรายการในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สมประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี และเพื่อประโยชน์สาธารณะ  โดยให้บริษัทเอกชนภายใต้ชื่อบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานและกลุ่มทุนจากไอทีวีเดิมในยุคที่บริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ NBT ได้มีการนำอดีตผู้ประกาศข่าวของทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีหลายคนซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เข้าทำงานกับทางองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ตวงพร อัศววิไล, จอม เพชรประดับ, จิรายุ ห่วงทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งทาง NBT ได้นำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นสถานีข่าว ผ่านทางการให้เวลานำเสนอข่าวมากกว่า 9 ชั่วโมง และปรับรูปลักษณ์ของสถานีเพื่อให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งในช่วงแรก NBT ถูกจับตาอย่างยิ่งจากหลายฝ่าย จากการที่ NBT ประกาศว่าจะทำการแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะหรือ ThaiPBS หรือ TPBS ในขณะที่ยังใช้ชื่อว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในลักษณะของ "สงครามทีวีภาครัฐ" เนื่องจาก NBT พยายามใช้ภาพความเป็นทีวีสาธารณะภาครัฐบาลขึ้นสู้กับทางไทยพีบีเอส ที่ประกาศเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะช่องแรกของประเทศไทยมาก่อนหน้า และนอกจากนี้ NBT ถูกจับตามองอย่างยิ่งในแง่มุมของการเสนอข่าว ซึ่งมีบางฝ่ายวิพากย์วิจารณ์ว่า NBT นำเสนอข่าวในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชเป็นพิเศษ และเน้นโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่เป็นโทรทัศน์ภาครัฐ

นอกจากนี้ กระแสความไม่พอใจจากสังคมได้เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่มีการให้ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาจัดรายการ “ความจริงวันนี้” โดยลักษณะรายการเป็นการตอบโต้และโจมตีฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยล่าสุดได้โจมตีกระบวนการยุติธรรม เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์