“พันธมิตร” ประกาศเลิกแถลงข่าวในห้องนักข่าว หลังถูกซักดุต่อเนื่อง ให้สื่อไปถามกลางม็อบ “จำลอง” การันตีความปลอดภัย ด้าน “นักข่าว” หวั่นมวลชนกดดัน ลงมติไม่ถาม สุดท้ายโดนม็อบโห่เยาะเย้ยไล่หลัง ขณะที่ “ยังพีเอดี” หนุนรัฐบาลแห่งชาติ เดินสายเรียกร้องจริยธรรมนักการเมืองจากทุกพรรค ลุย พปช.ยื่นหนังสือจี้นักการเมืองลาออก ขณะที่ตำรวจชะลอส่งตัว "จักรภพ" ต่ออัยการ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กันยายน บรรยากาศการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 115 และเป็นวันที่ 22 ของการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล โดยเมื่อเวลา 08.15 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตร กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน แกนนำพันธมิตรจะเปลี่ยนรูปแบบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จากเดิมแถลงข่าวที่ห้องผู้สื่อข่าว มาเป็นบนเวทีพันธมิตรในเวลา 10.00-10.30 น. ขอให้ผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์บนเวที เพราะกลุ่มพันธมิตรมีความจริงที่สามารถตอบได้ทุกคำถาม และเพื่อให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบข่าวที่แกนนำพูดไปทันที ไม่ต้องไปรออ่านข่าวในวันรุ่งขึ้น
ลากนักข่าวสัมภาษณ์กลางม็อบ
จากนั้นเมื่อเวลา 09.45 น. พล.ต.จำลองเข้ามายังห้องผู้สื่อข่าวเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล สะพานมัฆวานฯ และผู้ที่ดูเอเอสทีวีทางบ้านได้รับทราบข่าวสารไปพร้อมๆ กับนักข่าวที่อยู่ในทำเนียบ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สื่อข่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า การให้นักข่าวไปถามกลางผู้ชุมนุมจะเป็นการกดดันการทำหน้าที่สื่อมวลชนมากกว่า พล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่ได้เป็นการกดดัน การที่แกนนำพันธมิตรมาพบนักข่าวแต่ละครั้งก็ดีใจ การแถลงข่าวแต่ละครั้งก็พูดและคิดไปตามเหตุผล พร้อมกับขอรับรองความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวทุกคน แต่เรื่องที่ผู้ชุมนุมแสดงอาการยิ้มหรือหัวเราะออกมาเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมานักข่าวก็ถามกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว ถามแล้วตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ
พล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่ได้เจาะจงว่านักข่าวจะเป็นสำนักไหน หรือสื่อประเภทใด เรามีความเสมอภาค และไม่มีอคติต่อสื่อ การย้ายสถานที่แถลงข่าวอยู่ที่ผู้สื่อข่าวจะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ได้บังคับ ใครอยากมาก็มา ไม่อยากมาก็ไม่เป็นไร ยืนยันว่าจะไม่มีแรงกดดันและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามแกนนำบนเวที การกระทำเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการคุกคามสื่อ แต่เป็นการเปิดเสรีภาพของสื่อที่จะถามได้ทุกคำถาม รวมทั้งประชาชนและผู้ชุมนุมสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทันที
นักข่าวลงมติบอยคอต
หลังจากที่ พล.ต.จำลองออกจากห้องผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวทุกแขนงได้หารือร่วมกันโดยลงความเห็นว่าจะไม่มีการไปซักถามแกนนำบนเวทีหรือหน้าเวที ตามข้อเสนอของ พล.ต.จำลอง โดยถือว่าเป็นความพยายามกดดันการทำหน้าที่สื่อมวลชน และเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยในการทำหน้าที่ แต่จะรายงานข่าวตามที่แกนนำกล่าวบนเวทีเท่านั้น
เวลาต่อมา พล.ต.จำลองขึ้นปราศรัยบนเวทีว่า ได้บอกกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร ว่าจะขออาสารับบริจาคเงินจากชาวพันธมิตรทั่วประเทศ เพื่อนำมาช่วยเหลือเป็นเงินเดือนของพนักงานเอเอสทีวีทุกคน เนื่องจากสิ้นเดือนกันยายนนี้ ไม่ทราบว่าจะได้รับเงินเดือนตรงกำหนดหรือไม่ หากใครเห็นใจอยากบริจาคเงินให้เอเอสทีวี ขอให้ส่งเงิน หรือเช็ค หรือธนาณัติ ใส่ซองถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตู้ ปณ.100 ราชดำเนิน โดยจะนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือเอเอสทีวี และจะไม่นำเงินไปใช้ผิดประเภท เพราะที่ผ่านมาก็เคยขอรับบริจาคเงินในลักษณะนี้ช่วยชาวเอเอสทีวีมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้เงินบริจาคถึง 12.5 ล้านบาท
สื่อเจอม็อบโห่ไล่หลัง
พล.ต.จำลองกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ตำรวจระบุว่าจัดชุดไล่ล่าแกนนำพันธมิตรทั้ง 9 คน ที่ถูกออกหมายจับนั้น แกนนำพันธมิตรยืนยันว่าจะไม่ขอมอบตัว เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หากจะมาจับหรือสลายแกนนำไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลังจากจับไปแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะหากจับแกนนำไปแล้ว อีก 2-3 วันต่อมา ชาวพันธมิตรทั่วประเทศอาจรวมตัวกันไปลุยกับตำรวจ นี่ไม่ใช่คำขู่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ฝากถึง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ว่า อย่ามาขู่ แกนนำทั้ง 9 คนไม่กลัว และทุกคนก็ไม่กลัวด้วย อย่าเอาหน้าที่มารังแกชาวบ้าน อย่าส่งคำขู่มาอีก ยิ่งขู่คนยิ่งมาเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวของ พล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จบลงเมื่อเวลาประมาณ 10.25 น. พล.ต.จำลองได้เชิญให้ผู้สื่อข่าวถามคำถาม แต่ไม่มีผู้สื่อข่าวถามแม้แต่คำถามเดียว พล.ต.จำลองจึงกล่าวว่า ให้เวลาในการถามแค่นี้ แล้วอย่ามาไล่ถามทีหลัง ส่วนนายสมศักดิ์กล่าวบนเวทีว่า ทำไมไม่กล้าถามเหมือนตอนที่อยู่ในห้องผู้สื่อข่าว และระหว่างที่ผู้สื่อข่าวเดินกลับไปยังห้องผู้สื่อข่าวนั้น ผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจพากันตะโกนโห่ร้องและหัวเราะไล่หลังว่าทำไมถึงไม่ถาม เปิดให้ถามก็ไม่ยอมถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการแถลงข่าวโดยให้ผู้สื่อข่าวไปถามกลางผู้ชุมนุมนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่หลายวันที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวซักถามถึงจุดยืนและเป้าหมายในการชุมนุมทุกวัน แต่แกนนำกลับให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วต้องการอะไรกันแน่
"ยังพีเอดี" เรียกร้องจริยธรรม
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ (ยังพีเอดี) นายวสันต์ วานิชย์ ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึงพรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ยกเว้นพรรคพลังประชาชน เพื่อเรียกร้องจริยธรรมของนักการเมืองให้มีคุณธรรม จริยธรรมในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยขอให้เลือกผู้ที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
เวลา 11.00 น. นายเหมวัส ชาญชัยวานิช ได้นำกลุ่มเครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ เดินทางมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องจิตสำนึกทางการเมือง ฉบับที่ 4/2551 มีเนื้อหาต้องการให้นักการเมืองยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว เพื่อมาร่วมวางกรอบแนวทางความคิดใหม่ ทั้งเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกาล รัฐบาลพิเศษ และรัฐบาลประชาภิวัตน์ ที่จะเป็นแนวทางสร้างจิตสำนึกทางการเมืองอย่างแท้จริง ในการได้นักการเมืองเข้ามาบริหาร และแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของประเทศ ด้วยการให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ และมีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึง
ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนรับจดหมายพร้อมทั้งกล่าวว่า คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากวิกฤติการเมืองตั้งแต่ปี 2540 ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงการเมืองใดๆ พรรคก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน หากเป็นไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการมีรัฐบาลพิเศษ ที่เปิดกว้างให้แก่ตัวแทนทุกภาคส่วนในสังคมซึ่งอยู่นอกเหนือการเมือง เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายวิกฤติบ้านเมืองได้ นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องดี ที่เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวตื่นตัวกับการเมืองมากขึ้น
ลุย พปช.จี้นักการเมืองลาออก
ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. มีกลุ่มเครือข่ายเยาวชนกู้ชาติประมาณ 10 คน นำโดยนายวสันต์ แกนนำ เดินทางมาที่พรรคพลังประชาชน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องจิตสำนึกทางการเมือง ผ่านเจ้าหน้าที่ของพรรค โดยให้นักการเมืองพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลลาออก พร้อมวางมือทางการเมืองเพื่อผ่าทางตัน และขอให้พิจารณาเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้และมีจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริงเข้ามาบริหาร และแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อไป
ชะลอส่งตัวจักรภพต่ออัยการ
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายจักรภพ ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนได้ประสานงานไปยังทนายความของนายจักรภพ เพื่อนัดหมายวันเวลาในการส่งตัวนายจักรภพต่ออัยการ แต่ปรากฏว่าทนายความนายจักรภพแจ้งกลับมาว่า ได้ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีดังกล่าวไปยังกองคดี สตช. เพื่อขอให้มีการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 18 ปาก ทำให้พนักงานสอบสวนต้องชะลอการส่งสำนวน พร้อมผู้ต้องหาต่ออัยการไปก่อน เนื่องจากต้องรอการพิจารณาจากทางกองคดี และ สตช.อีกครั้งว่าจะมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีของนายจักรภพนั้น เมื่อสำนวนผ่านคณะกรรมการระดับ สตช. ก็ถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว และตามขั้นตอนจะต้องนัดผู้ต้องหาพร้อมนำสำนวนส่งให้อัยการพิจารณา แต่เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมนั้น สตช.ต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้มีการสอบพยานตามคำร้องหรือไม่ หรือจะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งการต่อไป คาดว่าคงใช้เวลาอีก 1-2 วัน จึงจะทราบผล