พันธมิตรประกาศไม่รับ "3 ส." นั่งนายกฯลั่นไม่หยุดชุมนุม พธม.ยันไม่จำเป็นแลกนิรโทษกรรม"กบฏ"กับ111ทรท. ย้ำเจตนาเดิมรัฐบาลต้องออกเพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ เสนอทางออกยุบสภา สนนท.แนะปฏิรูปการเมือง สาธิตมัฆวานไม่หยุดเคลื่อน กปก.ให้พันธมิตรต่อสู้ในสภา ม็อบระบายความรู้สึกลงผ้ายาว 300 ม. "อนุพงษ์" ย้ำไม่สลายการชุมนุม
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างต่อเนื่องวันที่ 13 กันยายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเปิดทางให้มีการเมืองใหม่ ไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชาชน
พธม.ยันไม่จำเป็นแลกนิรโทษกรรม"กบฏ"กับ111ทรท.
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เสนอแนวคิดให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย รวมทั้งแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกให้สังคมสงบสุข ว่า ทางพันธมิตรฯไม่รับข้อเสนอดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เนื่องจากแนวทางนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของเรา อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นต้องแลกการนิรโทษกรรมข้อหากบฎกับการนิรโทษกรรมการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน เนื่องจากได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว โดยระบุว่าเป็นข้อหาที่รุนแรงเกินไป ทั้งนี้สุดท้ายอาจมีการเพิกถอนข้อหานี้ก็ได้
"กานต์"เล็งนิรโทษกรรมแกนนำพันธมิตร เพื่อปท.สงบสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นประธานเปิดการประชุมกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 17 จังหวัดภาคเหนือ
พ.ต.ท.กานต์ กล่าวว่า จะเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข นอกจากนี้ คิดว่าพันธมิตรฯ สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ เพราะมีเสียงสนับสนุนถึง 10 ล้านเสียง
พันธมิตรประกาศไม่เอา "3 ส."
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยืนยันไม่ว่าใครใน "3 ส." จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่หยุดการชุมนุม พร้อมย้ำในเจตนารมณ์เดิมคือ ให้รัฐบาลลาออก เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ โดยในการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตร เมื่อวันที่ 13 กันยายน ระบุว่า ไม่ว่าใครใน "3 ส." ของพรรคพลังประชาชน (พปช.) คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พันธมิตรจะไม่ยุติการชุมนุม เพราะถือว่า เป็นรัฐบาลเดียวกัน และที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายผิดพลาดมาตลอด อย่างเช่นเรื่องปราสาทพระวิหาร หรือความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ไม่สมควรมาเป็นรัฐบาลอีก
ย้ำเจตนารมณ์ "การเมืองใหม่"
พล.ต.จำลองยังย้ำถึงเจตนารมณ์ของกลุ่มพันธมิตรว่า รัฐบาลต้องลาออกไป เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มพันธมิตรที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการเมืองใหม่ จะมีใครใน 9 แกนนำพันธมิตรที่ถูกออกหมายจับในข้อหากบฏ จะเข้าไปรับตำแหน่งหรือไม่ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องความจำเป็นของแต่ละคน แต่ส่วนตัวแล้วคงไม่ขอรับ และอยากจะกลับไปทำงานส่วนตัวมากกว่า ซึ่งถ้าคิดจะเล่นการเมืองจริงๆ ป่านนี้ก็คงยังเล่นอยู่แล้ว เมื่อถามถึงกรณีมีการเรียกร้องให้ลงเลือกตั้งแข่งกับ พปช. พล.ต.จำลองกล่าวว่า "ผมก็เคยชนะมาหมดแล้ว ทั้งนายสมัคร และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสนามเลือกตั้ง"
"ชวน"บอกยุบสภาเป็นทางออก
เมื่อถามว่า กลุ่มพันธมิตรจะมีการถอยจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อใด พล.ต.จำลองกล่าวว่า ต้องถือว่าพันธมิตรโชคร้ายที่มีรัฐบาลหน้าหนา ซึ่งถ้าเป็นที่อื่นรัฐบาลก็ลาออกกันไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าการชุมนุมที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ เพราะอย่างน้อยก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีที่นายสมัครไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ด้านนายสมศักดิ์กล่าวถึงเรื่องการเมืองใหม่ว่า ไม่อยากให้ไปยึดติดว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น ที่ผ่านมาการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเลือกใครมาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนในสังคมได้ นอกจากเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ที่ควรจะมองคือ เมื่อเข้ามาแล้วได้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมหรือไม่ มีการตรวจสอบและการถอดถอนจากประชาชนได้หรือไม่
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่มาจาก พปช. และพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ทางออกมีอยู่หลายทาง ซึ่งการยุบสภาก็เป็นทางออกหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร
"อนุพงษ์" ย้ำไม่สลายการชุมนุม
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการ "ลับ ลวง พราง" ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 ที่ถามว่า จะมีการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรที่ปักหลักในทำเนียบรัฐบาลในช่วงสุญญากาศหรือไม่ว่า คณะกรรมการผู้รับผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ให้ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ว่า เดิมทีพันธมิตรมีการชุมนุมอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.ก.ออกมาสั่งว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งเท่ากับว่า มีการชุมนุมอยู่แล้ว แต่สั่งห้าม หมายความว่า ต้องเข้าไปดำเนินการ แต่เมื่อมีการดำเนินการไปครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผลที่ตามมายิ่งทำให้เกิดปัญหาและความไม่สงบมากกว่าเดิม
"อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่า แก้ปัญหา แต่ไปเพิ่มปัญหา ดังนั้น ต้องใช้มิติอื่น ซึ่งขณะนี้ทางการเมืองพยายามแก้ไขสถานการณ์ อย่างเช่นที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการดำเนินการ และประชาชนทั่วไปคงจะลดอุณหภูมิในการที่จะไปมีส่วนร่วม ดังนั้น เชื่อว่า น่าจะค่อยๆ แก้ปัญหาไปได้เรื่อยๆ ในตัวเอง" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
ยืนยันไม่มีวาระส่วนตัวใดๆ
เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ทหารอดทนต่อสถานการณ์ทางการเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า ทหารควรจะเป็นหลักของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทหารต้องประกันความมั่นคงของประเทศชาติ และยืนยันว่าไม่มีวาระส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น หากผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจ และเชื่อมั่นว่า ตนจะไม่นำพาไปในทางที่ผิด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เข้าไปยุ่ง เมื่อถามว่า หากการเมืองหาทางออกให้กับสถานการณ์ไม่ได้ กองทัพจะมีจุดยืนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คงเหมือนเดิม เพราะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ คงเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
สนนท.แนะปฏิรูปการเมือง
วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ได้มีการเสวนาเรื่อง "บทบาทนักศึกษาในสถานการณ์วิกฤตการเมือง" มีกลุ่มนักศึกษาเข้าร่วมจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กลุ่มสาธิตมัฆวาน และกลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก (กปก.) เข้าร่วมการเสวนา โดยนายธนากร สัมมาสาโก กรรมการบริหาร สนนท. กล่าวว่า จุดยืนของ สนนท.คือต้านการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร และยืนยันไม่เอาข้อเสนอ 70:30
"สนนท.เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ที่สามารถทำให้ภาคประชาชนควบคุมภาครัฐได้ แต่เห็นว่าขัดกับกฎหมาย และยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชั้นล่าง เช่น กรณีที่หยุดเดินขบวนรถไฟ" นายธนากรกล่าว และว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลดบทบาททางการเมืองแล้ว แต่กลุ่มพันธมิตรยังไม่ยุติการชุมนุม จึงเห็นว่าต่างฝ่ายต้องต่างถอย และไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เนื่องจากไม่ได้มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตย และอยากเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สาธิตมัฆวานฯไม่หยุดเคลื่อน
นายอนุธีร์ เดชเทวพร นายกกิจการภายนอก อมธ. กล่าวว่า ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและไม่ต้องการเห็นความรุนแรง อยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา และยอมรับไม่ได้กับการปะทะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกรณีการรุกล้ำเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ของพันธมิตร ที่ทำให้สังคมเกิดความรุนแรงและเสียหายในระดับหนึ่ง และอยากให้เพื่อนๆ นักศึกษาใช้สิทธิอย่างมีสติ มีความคิดเห็นอย่างไรก็ให้เป็นไปตามแนวทางนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือขอให้เคารพสิทธิของคนส่วนใหญ่ด้วย
นายศตวรรษ อิทรายุท ตัวแทนกลุ่มสาธิตมัฆวาน กล่าวว่า การออกมาร่วมชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มนักศึกษาหันออกมาร่วมกิจการของสังคมด้านต่างๆ มากขึ้น สำหรับแนวทางที่กลุ่มสาธิตมัฆวานต้องการเห็นคือ การให้มีตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพเข้ามาอยู่ในสภา โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่ถือเป็นอาชีพหลักของประเทศ แต่กลับไม่มี ส.ส.ที่มาจากอาชีพเกษตรกร
"ไม่ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรจะจบหรือไม่จบ ทางกลุ่มขอยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อไป และสิ่งที่กลุ่มสาธิตมัฆวานไม่พอใจรัฐบาลคือ การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความไม่มีจริยธรรมของนายสมัคร" นายศตวรรษกล่าว
กปก.ให้พันธมิตรต่อสู้ในสภา
นายกฤติกร วงศ์สว่างพานิช ตัวแทน กปก. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางกลุ่มพันธมิตรที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องข้อเรียกร้องด้วยการออกมาประกาศชุมนุมและไม่ยอมเลิกจนกว่าจะได้รับตามข้อเสนอ รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาล เพราะเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวและรุนแรงมาก การชุมนุมสามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย การเรียกร้องสามารถทำได้แต่ไม่ควรทำให้คนอื่นเดือดร้อน พันธมิตรควรจะออกมาจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ให้ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปต่อสู้ในสภา
ด้านนายประจักศ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มนักศึกษาไม่ควรนำเหตุการณ์ 14 ตุลา มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการออกมาเคลื่อนไหว เพราะเป็นเหตุการณ์คนละแบบกัน คิดว่าการมีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องถูกจำกัดด้วยเป้าหมายและวิธีการที่ถูกต้องด้วย รวมทั้งต้องใช้ความคิดและสติปัญญาในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้กับสังคม
ระบายความรู้สึกลงผ้า300ม.
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. แนวร่วมนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย หรือยัง แพด ได้จัดกิจกรรม ให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เขียนข้อความแสดงความรู้สึก ลงบนผ้ายาวเกือบ 300 เมตร ซึ่งปูตั้งแต่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ยาวไปถึงแยกมิสกวัน ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมพอสมควร
พันธมิตรฯไม่รับ 3ส.เป็นนายกฯ ลั่นไม่ยอมแลกข้อหา กบฎ กับการปลดปล่อย 111 ทรท.ให้เป็นอิสระ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง พันธมิตรฯไม่รับ 3ส.เป็นนายกฯ ลั่นไม่ยอมแลกข้อหา กบฎ กับการปลดปล่อย 111 ทรท.ให้เป็นอิสระ