วปอ.ชี้ทักษิณต้นตอความขัดแย้ง ผู้ทรงอิทธิพล เป็นอุปสรรคทางการเมือง

วปอ.แถลงยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ "ทักษิณ"ต้นต่อความขัดแย้ง ระบุหากยัง "ทรงอิทธิพล" เป็นอุปสรรคการเมืองไทย เผย "เอเอสทีวี-พีทีวี" เชื้อไฟขยายความขัดแย้ง ชี้ต้องแก้ รธน.พัฒนาการเมือง

เมื่อเวลา 15.00 น.ที่ศูนย์นิทรรศการไบเทค บางนา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานการแถลงยุทธศาสตร์ชาติของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นปี 2550 ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 50 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 20 สำหรับเอกสารยุทธศาสตร์ชาติปี 2552 -2556 กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า ขณะนี้มีความปัญหาความแตกแยกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย และมีผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายจำนวนมาก และไม่มีแนวโน้มที่จะสมานฉันท์ในเวลาอันสั้น ซึ่งรัฐบาลมีปัญหา เพราะสังคมมองว่าคณะรัฐมนตรี ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากเป็นตัวแทนรัฐบาลในอดีต

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างที่จำกัด และได้รับอิทธิพลโครงสร้างรัฐธรรมนูญจากต่างประเทศ โดยไม่ได้คำนึงถึงสังคมไทย และวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างแท้จริง

อีกทั้งยังมีความหวาดระแวงอำนาจเดิม ทำให้มีจุดอ่อนและข้อขัดแย้ง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องให้ความเห็นชอบในหนังสือสัญญาที่ทำโดยฝ่ายบริหารส่งผลกระทบต่อความเสียเปรียบในเวทีโลก ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีแนวโน้มที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างเข้มข้น ซึ่งจะทำให้การเมืองโปร่งใส

ส่วนปัญหาและภัยคุกคาม เห็นว่า เกิดจากปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนและขยายตัวไปยังคนไทยในต่างประเทศ

โดยการตั้งสถานีโทรทัศน์ทั้งพีทีวี และเอเอสทีวี ทำให้ความขัดแย้งขยายวงยิ่งขึ้น รวมถึงพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งภายในและภายนอกต่างประเทศเป็นเรื่องกระตุ้นรุกเร้าสร้างความนิยมศรัทธาตลอดเวลา ดังนั้น หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นปัจจุบันจะเป็นปัญหาและอุปสรรคทางการเมืองต่อไป
 


เอกสารยังระบุว่า ปัจจุบันประชาชนมีความเคลือบแคลงรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาลตัวแทน และมีเสียงข้างมากในสภา

ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และจะใช้วิธีการเคลื่อนไหวตรวจสอบนอกสภาด้วยวิธีการเรียกร้อง ชุมนุม และเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน โดยกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องบริหารงานอย่างล่าช้าและต้องตอบคำถามกับสังคมตลอดเวลา หากรัฐบาลไม่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งข้อขัดแย้งการเมืองภาคประชาชนจะส่งผลดีต่อการตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้อำนาจรัฐ นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ในสภา ซึ่งจะทำให้การบริหารโปร่งใสและสุจริต ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนแอละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้นโยบายประชานิยมส่งเสริมให้ประชาชนเน้นการบริโภค ทำให้ฟุ่มเฟือย และลดการพึ่งพาตนเอง จึงควรจะต้องส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาควรต้องพิทักษ์รักษาเสริมสร้างและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงเพื่อเป็นศูนย์รวมของคนในชาติให้มีความรักความสามัคคี ขจัดความขัดแย้ง และการแบ่งฝ่ายของประชาชน ทั้งนี้ การเมืองไทยได้ผ่านปัญหาและอุปสรรคมาบ่อยครั้ง องค์กรอิสระรวมทั้งศาลฎีกา ได้มีการวินิจฉัยพิพากษาปัญหาการเมืองอยู่หลายกรณี ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทย ซึ่งจะทำให้การเมืองมีความโปร่งใส สุจริต เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนสังคมและประเทศชาติ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์