คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีชิมไปบ่นไป

คำว่า "ลูกจ้าง" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายหรือการแปลตามความหมายทั่วไป หรือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ในความหมายของ "ลูกจ้าง" ว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่


เวลา 15.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และคณะรวม 29 คน

ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมตรี กรณีไปจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า"
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องและคำชี้แจงตามข้อกล่าวหาตามเอกสารประกอบพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากคำอุทธรณ์ทุกคนแล้วเห็นว่าคำร้องทั้ง 2 มีหลักฐานเพียงพอที่จะมีการวินิจฉัย จึงกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (1) วรรคเจ็ด และมาตรา 267 เพราะเหตุผู้ถูกต้องดำรงตำแหน่งในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลประโยชน์หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือไม่


โดยประการแรกต้องดูว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้การกระทำขัดกันของผลประโยชน์อันจะก่อให้เกิดการขาดจริยธรรม ซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ จะขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัวจะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ อันทำให้เจตนาของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล


การแปลคำว่า "ลูกจ้าง" ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 หมายถึง ลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น

เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์แตกต่างกันไปตามเหตุผลและการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวก็มีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์คุ้มครองการกระทำที่จะเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย
อนึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ มุ่งจัดตั้งรับรองสถานะสถาบันและสิทธิเสรีภาพของประชาชนกำหนดพื้นที่ฐานการดำเนินการของรัฐให้รัฐได้ใช้กับสภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์


ดังนั้น คำว่า "ลูกจ้าง" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมาย หรือการแปลตามความหมายทั่วไป หรือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

ในความหมายของ "ลูกจ้าง" ว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นหากได้มีการตกลงรับจ้างกันทำการงานการแล้วย่อมมีความของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น
มิฉะนั้นผู้เป็นลูกจ้าง รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือนมาเป็นลูกจ้างจากงานที่ทำ เช่น แพทย์ก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายเปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษา หรือค่าทำความเห็นเป็นรายครั้ง ซึ่งจะมีความผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้รับทำงานให้ 


หลังจากผู้ถูกร้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็นพิธีกร ในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ให้แก้บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด

เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้ทำร่วมกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ทำเพื่อมุ่งค้าหากำไรมิใช่เพื่อกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องก็ต้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ เมื่อได้กระทำในระหว่างผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและมีสิทธิสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายมาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อมิให้เกิดผลประโยชน์ทำซ้อนกับธุรกิจกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ทั้งยังปรากฏจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องในหนังสือพิมพ์สกุลไทย ฉบับที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 37 ที่ว่า การทำหน้าที่พิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.30-11.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ผลิตรายการโทรทัศน์โดยบริษัท เฟซ มีเดีย นั้น ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด  8 หมื่นบาท


สำหรับหนังสือของนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด มีถึงผู้ถูกร้องลงวันที่15 ธันวาคม 2550 ปรากฏปรึกษาว่าผู้ถูกร้องจะดำเนินการอย่างไร ในการเป็นพิธีกรับเชิญในรายการ "ชิมไปบ่นไป"

และหนังสือของผู้ถูกร้องก็มีถึงนายฉัตรชัย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2550 แจ้งว่า ผู้ถูกต้องจะทำให้เปล่าๆ โดยไม่รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคยนั้น ผู้ถูกร้องไม่เคยแสดงหนังสือทั้งสองฉบับนี้มาก่อน จนถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเรียกมาชี้แจง โดยผู้ถูกร้องชี้แจงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และยังคงยืนยันเสมือนว่าก่อนเดือนธันวาคม 2550 ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนเป็นเพียงค่าน้ำมันรถเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และหลักฐานทางภาษีอากรดังกล่าวข้างต้น ที่ว่าก่อนหน้านั้นผู้ถูกร้องได้รับค่าจ้างแสดงไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ อันเป็นข้อพิรุธส่อไปในทางว่าเป็นการทำหลักฐานย้อนหลังเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้ถูกร้อง


แถมผู้ถูกร้องเองก็เบิกความว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้ค่าน้ำมันรถและค่าใช้จ่ายน่าจะเป็นการนำเงินไปให้คนขับรถมากกว่า ขัดแย้งกับคำของผู้ถูกร้องโดยที่วันที่ 30 มิถุนายน 2551

ขึ้นให้การว่า การที่ผู้ถูกร้องได้รับเชิญไปในรายการ "ชิมไปบ่นไป" ได้รับค่าพาหนะ โดยค่าพาหนะจะได้รับเฉพาะเมื่อไปออกรายการเท่านั้น ถ้าไม่ได้ไปออกรายการตามที่เชิญมาก็ไม่ได้รับค่าพาหนะ จึงรับคำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องทำหน้าที่พิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ผู้ถูกร้องยังคงมีค่าตอบแทนในลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด


ดังนั้นการที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างทำการงาน ตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 267 แล้ว

กรณีนี้ถือได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
อนึ่ง มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน เห็นว่า "ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่อีก"


ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน เห็นว่า "การเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และการใช้รูปใบหน้าของผู้ถูกร้องในรายการของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อการกระทำกิจการร่วมกันเพื่อประสงค์แบ่งปันกำไรจักพึงได้ ได้แก่กิจการที่ทำนั้นในเป็นลักษณะเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน"


ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน

จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือไม่อีก
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเป็นเอกฉันท์จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)


และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (10) และด้วยความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นความสิ้นสุดลงเฉพาะตัวทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์