หมัก มอบดาบ อนุพงษ์ ฉลุย! แจงเช็ควุ่น ผบ.เหล่าทัพ ถกเงียบ ผบ.สส.ปัดสุมหัว ปฏิวัติ

ผบ.4 เหล่าทัพหารือ "สมัคร" เช็กข่าววุ่น เรียก "อนุพงษ์" พบทันที ผบ.สส.ปัดสุมหัวคิดปฏิวัติ บอกยังไม่ถึงเวลา เสนอนายกฯพิจารณาตัวเอง รับมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกสถานการณ์ แต่ยังไม่รู้เป้าหมาย "สมัคร" แจงรวบอำนาจ ไม่ได้ขัดแย้งทหาร แค่อยากมอบอำนาจให้ ผบ.ทบ.อย่างเป็นทางการ แย้มอาจทบทวนใช้ พ.ร.ก. 3 ฝ่ายมอบ ปธ.วุฒิฯกาวใจประสานอนุพงษ์-พันธมิตร พปช.ค้านทันที

"สมัคร" แจงมอบอำนาจ20ฉบับให้อนุพงษ์
 
นายสมัคร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ถึงการออกคำสั่ง 2 ฉบับ รวมถึงคำสั่งให้การบังคับใช้กฎหมาย 20 ฉบับอยู่ในอำนาจนายกฯว่า ได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์แล้ว หลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องมีการตั้งคณะทำงาน เสร็จแล้วอำนาจที่อยู่ในรัฐมนตรี 21 คน ก็เอามาใส่มือนายกฯคนเดียว แล้วก็มอบอำนาจให้ พล.อ.อนุพงษ์ทำไปอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีคนมากระแหนะกระแหนว่านายกฯกับทหารขัดแย้งกัน นายกฯรวบอำนาจมาไว้ที่ตัวเองหมด
 
"ผมเห็นใจฝ่ายทหาร เพราะให้ดาบให้ปืนไป แต่ก็ต้องเก็บเข้าฝัก ทำอะไรไม่ได้ เพราะสังคมไทยบอกว่า ไม่ได้ เอะอะก็หาว่าใช้ความรุนแรง" นายสมัครกล่าว เมื่อถามว่าหากการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ผล จะพิจารณายกเลิกหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ผมคิดก่อนคุณอีก เพราะว่าทำเอาไว้แล้วคนมาขัดขืน มันเสียหายกับ พ.ร.ก.ด้วย ผมจะปรึกษาหารือกันใน 1-2 วันนี้ ธรรมดาอยู่ได้ 3 เดือน แต่ผมจะไม่ลากถึงอย่างนั้นหรอก เมื่อคนอยู่ในขอบเขตเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถจัดการอะไรได้ ไม่เป็นปัญหา แต่เรื่องจะต้องประชุมปรึกษากัน เพราะก่อนประกาศก็ยังปรึกษาหารือ แต่เมื่อใช้แล้วเขาไม่เคารพ มันไม่ต้องออกก็ได้ ตอนนี้กำลังหาทางออกอยู่ เจอประตูแล้ว ตอนนี้กำลังหากุญแจอยู่ ถ้าเปิดได้ ก็ไม่ต้องพังประตู"
 
รบ.รีบปัดข่าวนายกฯไม่ไว้วางใจผบ.ทบ.
 
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีสัมพันธ์ กรณีที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ซึ่งรวมถึงคำสั่งให้การบังคับใช้กฎหมาย 20 ฉบับอยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยึดอำนาจโดยเฉพาะการเคลื่อนกำลังทหารคืนจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะการออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ เป็นการออกประกาศคำสั่ง ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กำหนดไว้ว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องมีการออกคำสั่งตั้งหน่วยงานพิเศษ และกำหนดให้อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมาย ซึ่งทุกอย่างต้องผ่าน ครม. ดังนั้น การออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น
 
"นอกจากนี้ ตามประกาศฉบับที่ 2 วรรคสุดท้ายก็ยังระบุชัดว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์รักษาความมั่นคงภายใน เป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศแทนนายกฯ ดังนั้น จึงยืนยันว่า ไม่ได้หมายถึงการยึดอำนาจหรือนายกฯไม่ไว้ใจ ผบ.ทบ.ตามที่เป็นข่าว" นายณัฐวุฒิกล่าว
 
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เป็นการดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ยังคงมีอำนาจบริหารเต็มในพื้นที่กทม. ดังนั้น การโอนกฎหมายมาให้นายกฯดูแลนั้นจึงไม่ใช่การรวบอำนาจตามที่มีการกล่าวอ้างกันแต่อย่างใด

ข้อมูลมอบอำนาจอนุพงษ์ยังขัดแย้ง
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงข่าวการประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 4 กันยายน นั้น พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ออกประกาศอีก 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการโอนอำนาจของรัฐมนตรีต่างๆ ในกฎหมาย 20 ฉบับ มาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้น พล.ต.ท.วิเชียรโชติไม่ได้ระบุว่านายกฯได้ส่งมอบอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวต่อไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมกับไม่ยอมเปิดเผยประกาศดังกล่าวด้วย ต่อมาวันที่ 5 กันยายน นายณัฐวุฒิแถลงข่าวยืนยันว่านายกฯไม่ได้รวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง โดยยืนยันว่าในประกาศฉบับที่ 2 กำหนดไว้ชัดเจนว่ามอบอำนาจต่อให้กับ ผบ.ทบ. แต่ไม่สามารถให้สำเนาเอกสารประกาศได้ เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ลงนามในประกาศดังกล่าว ซึ่งน่าสังเกตว่า พล.ต.ท.วิเชียรโชติได้แแถลงข่าวและระบุว่า มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 กันยายนแล้ว

อ้างทบ.เสนอเองแก้ปัญหาอำนาจสั่งการ
 
รายงานจากรัฐบาลแจ้งว่า นายสมัครเพียงแต่เป็นผู้รับโอนอำนาจจากรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้พล.อ.อนุพงษ์เท่านั้น เพื่อให้การสั่งการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ วาระดังกล่าวถูกเสนอโดยกองทัพบก ซึ่งได้รวบรวมบัญชีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งหมดรวม 20 ฉบับ ก่อนยกร่างประกาศเสนอต่อ ครม. ไม่ใช่วาระที่เสนอโดยนายกฯ 
 
"ความเป็นจริงหากนายสมัครจะสั่งการใดๆ ก็สามารถใช้อำนาจในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งการได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง พล.อ. อนุพงษ์เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ในภาพรวม จึงจำเป็นต้องขอมติ ครม. เพื่อมอบอำนาจให้ พล.อ. อนุพงษ์ ไม่เช่นนั้น พล.อ.อนุพงษ์จะสั่งการได้เฉพาะกองทัพบกเท่านั้น จะไปสั่งตำรวจและพลเรือนไม่ได้ หลังจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์จะเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งหมดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะยกเลิกประกาศ" แหล่งข่าวกล่าว
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระหว่างประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ฯลฯ สอบถามถึงแนวทางในการปฏิบัติ เพราะเกรงว่าจะเป็นการรวบและใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินไป แต่เมื่อฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลชี้แจงว่าการรวบอำนาจมาไว้ที่นายกฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ก็มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจก็ยังเป็นของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ เหมือนเดิม บรรดารัฐมนตรีจึงไม่ได้ติดใจอะไร
 
ส.ส.พปช.รุกอีกเร่งผบ.ทบ.ใช้พ.ร.ก.เข้ม
 
นายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย พปช. กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจระหว่างนายกฯและ พล.อ.อนุงพงษ์ แต่หากถามว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าใช่  อย่างไรก็ตาม ถ้า พล.อ.อนุพงษ์นิ่งเฉยต่อการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฯโดยซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศ มีแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น
 
"ผมและ ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคน ไม่เข้าใจว่าทำไม พล.อ.อนุพงษ์ถึงไม่ใช้กฎหมายที่อยู่ในมือ แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าให้ใช้กำลังสลายม็อบ แต่ให้เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตั้งด่านตรวจค้นบันทึกชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุม กดดันให้เกิดการเจรจา ไม่ใช่ปล่อยเสรีไปหมด จนถึงวันนี้เอเอสทีวีก็ยังแพร่ภาพออกอากาศได้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ผบ.ทบ.คิดอะไรอยู่ ถามว่าท่านมีความจริงใจที่จะช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ เพราะท่านก็รู้อยู่แล้วว่า วันนี้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะคนละเมิดกฎหมายหมดแล้ว แต่ก็ยังโยนกลับมาให้สภาอีก หรือถ้ากดดันนายกฯยุบสภาหรือลาออกได้ ถามว่าปัญหามันจะจบหรือไม่ การปล่อยให้การเมืองแก้ไขปัญหาการเมืองสุดท้ายก็จบเหมือนในอดีตและทหารก็เข้ามาตอนท้ายเหมือนวีรบุรุษ แต่ทำไม ผบ.ทบ.ไม่คิดจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นวีรบุรุษเสียแต่ตอนนี้" นายสุรสิทธิ์กล่าว
 
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พปช.กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากให้นายประสพสุขเป็นคนกลาง เพราะเป็น ส.ว.ที่มาจากการสรรหา รวมทั้งก่อนหน้านี้ นายประสพสุขเคยระบุว่า ผลการเลือกตั้งไม่สำคัญ
 
ผบ.เหล่าทัพหารือ-สมัครเช็คข่าววุ่น
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 07.00 น. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทบ.) รับประทานอาหารเช้าและหารือสถานการณ์การเมืองร่วมกันกว่า 2 ชั่วโมง ที่บ้านพักรับรอง ผบ.สส. ภายในศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ถนนรามอินทรา ภายหลังเกิดกระแสข่าวนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่พอใจ พล.อ.อนุพงษ์ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  อย่างเข้มข้น
 
ทั้งนี้ เมื่อนายสมัครทราบว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพหารือกัน ได้โทรศัพท์นัดให้ พล.อ.อนุพงษ์เข้าพบหลังจากเสร็จสิ้นการหารือกับเหล่าทัพ ที่เซฟเฮาส์ บริเวณข้างสนามกอล์ฟกองทัพบกบางเขน ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านพักรับรอง ผบ.สส. โดยใช้เวลาหารือไม่นาน ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์จะเดินทางเข้ามาทำงานที่กองบัญชาการกองทัพบกในเวลา 10.15 น.
 
ผบ.สส.ปัดข่าวสุมหัวคิดปฏิวัติ

 
พล.อ.บุญสร้างให้สัมภาษณ์ถึงการหารือว่า เชิญ ผบ.เหล่าทัพมาร่วมหารือถึงสถานการณ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะสามารถช่วยชาติบ้านเมืองได้อย่างไร ซึ่งได้พูดคุยว่าใครมีแนวคิดอะไรดีหรือไม่ เพราะบ้านเมืองขณะนี้ค่อนข้างลึกลับ และไม่ค่อยมีใครคิดอะไรออก จึงต้องพยายามช่วยกันคิดหาทางออกมาประกอบ หากใครคิดอะไรออกก็มาบอกกัน แต่จากการพูดคุยรู้สึกว่าคิดอะไรกันไม่ค่อยออก  
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การหารือมีข้อเสนอแนะอะไรถึงนายกฯบ้างหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่มี ปกติไม่ได้พบกันนานแล้ว ความจริงควรพบกันมากกว่านี้ แต่ไม่มีอะไร บางทีการพบกันมากเกินไปก็เป็นข่าว จนกลายเป็นเรื่องทำให้คนบางคนระหวาดระแวง "ความจริงเราไม่มีอะไร ยืนยันว่าทหารไม่มีการปฏิวัติ เพราะมันยุ่งหลายเรื่อง และไม่มีใครเห็นด้วย" ผบ.สส.กล่าว
 
รวบอำนาจกม.20ฉบับไม่เกี่ยวระแวงกัน
 
สำหรับกรณีที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ซึ่งรวมถึงคำสั่งให้การบังคับใช้กฎหมาย 20 ฉบับ อยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายสมัครยึดอำนาจโดยเฉพาะการเคลื่อนกำลังทหาร คืนจาก พล.อ.อนุพงษ์นั้น พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ยังไม่เห็นมติ ครม.ว่าเขียนอย่างไร แต่ได้ยินข่าวมาบ้าง คงไม่มีอะไรและไม่เน้นเฉพาะกระทรวงกลาโหม และการมอบอำนาจให้นายกฯคงไม่เกี่ยว เมื่อถามว่า นายกฯมีความหวาดระแวงว่าทหารจะออกมาปฏิวัติ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า เพราะทหารเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อผู้บังคับบัญชา ทหารต้องมีวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งมาทหารทำอยู่แล้ว ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพกับนายกฯก็ไม่มีปัญหาอะไร และบางทีนายกฯก็มาทำงานที่กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่มีปัญหา
 
ผบ.สส.กล่าวกรณี ฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ควรเปิดเจรจาเพื่อหาทางออก ยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือไม่ ว่าหากทั้งสองฝ่ายฟังก็ดี และควรจะปรับเข้าหากัน ส่วนที่พันธมิตรยืนยันจะไม่มีการเจรจาจนกว่านายกฯจะลาออก พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า "ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะเราพูดไม่ออก"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพไม่เห็นด้วยต่อการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจริงหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ทหาร มีวินัย เห็นด้วยหรือไม่ หากมาจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตาม
 
ยังไม่ถึงเวลาเสนอนายกฯพิจารณาตัว
 
"อาจจะเกิด (ความรุนแรง) ถ้าไม่คุมให้ดี แต่การคุมไม่ใช่การห้าม ต้องพยายามสร้างบรรยากาศที่ไม่รุนแรงให้กับทุกคน และคิดแก้ด้วยเหตุผล กองทัพเป็นห่วง เราไม่อยากให้มีความรุนแรง ส่วนความยืดเยื้อ ไม่ใช่ว่าใครยอมแพ้ใคร แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะดีขึ้น ทหารสอนว่าไม่มีอะไรจะทดแทนได้ นอกจากคำว่าชัยชนะ นั่นคือการรบที่จะแพ้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายเดียวกัน ไม่มีอะไรทดแทนความสามัคคีได้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือว่าเป็นความสำคัญ การต่อสู่กันเพื่อให้ได้สิ่งหนึ่งมา แต่เมื่อได้มาแล้วนำมาซึ่งความแตกแยก สิ่งที่ได้มาก็ใช้ไม่ได้กับความแตกแยกŽ พล.อ.บุญสร้างกล่าว
ผู้สื่อข่าวถาม ผบ.เหล่าทัพจะมีการเสนอให้นายกฯพิจารณาตนเองเพื่อบ้านเมืองหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า "ไม่มี ยังไม่ถึงเวลา ขณะนี้ก็วิเคราะห์สถานการณ์ไปเรื่อยว่าจะมีหนทางอย่างไร พูดไปก็ไม่ดี เราไม่รู้จริง เป็นเรื่องของจิตใจคน"
 
เมื่อถามว่า ผบ.เหล่าทัพ ยังให้กำลังใจนายกฯทำงานต่อไปหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า สถานการณ์อย่างนี้ทุกคนคงต้องการกำลังใจ ผบ.ทบ.ก็ต้องการกำลังใจ เพราะทำงานหนัก
 
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์กล่าวว่า ตอนนี้ ผบ.เหล่าทัพ เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองกันทุกคน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนต้องช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุด แต่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมที่จะมาเจรจา ส่วนเรื่องการปฏิวัติ คงไม่มีทาง ยามนี้คนไทยต้องรักและสามัคคีกันให้มากที่สุด
 
มทภ.1เผยแนวแก้ปัญหาความขัดแย้ง
 
พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณี ส.ส.พปช.กดดัน พล.อ.อนุพงษ์ เร่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าปัญหาของทหารคือ ถ้าเป็นความผิดทั่วไปก็สามารถเข้าไปจับกุมได้ทันที แต่นี่เป็นคนหมู่มาก การบังคับใช้กฎหมายก็ทำได้ยาก การบังคับใช้กฎหมายต้องบุกเข้าไปจับกุม และปราบปรามท่ามกลางคนหมู่มาก ซึ่งเสี่ยงต่อการปะทะและสูญเสีย ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อถามว่า การไม่ยอมสลายการชุมนุมถือเป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า คงขัดแย้งกันไม่ได้หรอก เพราะทหารถือเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาโดยความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาล จึงต้องใช้การเจรจาพูดคุยกัน ส่วนการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้ทหารออกมาทำงานช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายขึ้น แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และไม่ให้บ้านเมืองเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะกองทัพถือว่าประชาชนทุกฝ่ายเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าปฏิบัติกับฝ่ายใดก็ทำให้บ้านเมืองเสียหายทั้งสิ้น
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายทหารได้มีการเจรจากับตัวแทนพันธมิตร เช่น สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ ไปบ้างแล้วใช่หรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้ติดต่อทั้งทางลับ และเปิดเผย เพราะจริงๆ แล้วทุกคนต่างก็รู้จักกันดีทั้งสิ้น กองทัพต้องหาทางให้ทุกกลุ่มมาพูดคุยเจรจากัน แต่ทหารอาจจะไม่ยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้ แต่จะดึงเอาคนกลางที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับมาเป็นคนกลางในการเจรจา
 
ยอมรับมี "มือที่3" ยื่นเข้ามาป่วนจริง
 
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวออกมาว่า พล.ท.ประยุทธ์แนะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับกลุ่มผู้ชุมนุม พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมคงไม่ทำอย่างนั้น และคงไม่มีใครทำอย่างนั้นได้ แต่อยากขอร้องว่าทุกฝ่ายอย่าละเมิดกฎหมายอีกเลย เพราะจะทำให้บ้านเมืองอยู่ได้ แต่ถ้าเราฝ่าฝืนกฎหมายไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะอยู่กันไปได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าเราจะต้องอยู่ในสังคมโลกต่อไป"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์บ้างหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า "เราประเมินสถานการณ์ทั้งตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พบว่ามีบุคคลกลุ่มนี้จริง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นคนกลุ่มใด มีจุดมุ่งหมายอย่างไรบ้าง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มันก็มีโอกาสเกิดมือที่ 3 มือที่ 4 ได้ทั้งนั้น แต่อาจจะเกิดจากความคึกคะนองทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และปะทะกัน" 
 
ส่วนเรื่องที่นายกฯคิดเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.นั้น พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า คงไม่ตอบในนามส่วนตัว แต่คงตอบในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้ทุกคนพอใจ และให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ปลอดภัย และโดยเร็วที่สุด 
 
"ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ขอให้ชุมนุมไป แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือมีการทำลายสถานที่ราชการ และต้องถอยกันคนละก้าว ใช้หนทางในการเจรจาพูดคุยกัน" แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

พันธมิตรเสี้ยม "สมัคร" ระแวงทหาร
 
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงที่ห้องสื่อมวลชน ทำเนียบรัฐบาลว่า การที่ ครม.มีมติโอนอำนาจตามกฎหมาย 20 ฉบับให้นายสมัคร เป็นวิธีการเผด็จการอย่างชัดเจนทั้งที่นายสมัครบอกว่าจะรักษาประชาธิปไตย ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็คงไม่ทำแบบนี้ เพราะนายกฯยึดอำนาจรัฐมนตรีทั้งคณะให้สามารถสั่งการได้คนเดียว ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถที่จะสั่งการได้ทุกกระทรวงและนายสมัครก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในทุกเรื่อง อีกทั้งนายกฯก็เริ่มไม่ไว้วางใจทหาร แม้ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่พอยังยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งการบริหารแบบนี้ก็มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้น
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พันธมิตรเป็นห่วงอำนาจทหารที่อยู่ในมือนายกฯหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่เป็นห่วง เพราะยังเชื่อมั่นในอำนาจของพลังประชาชนที่บริสุทธิ์ และพลังประชาชนก็ยังสนับสนุนพันธมิตรเพียงพอ ถ้าประชาชนยังสนับสนุนก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใดๆ และถ้าประชาชนไม่ให้การสนับสนุนก็ว่าไปตามกฎเกณฑ์ ไม่วิตกกังวล

ปธ.วุฒิกาวใจประสานอนุพงษ์-พันธมิตร
 
ทางด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หารือกันเมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมด้วย ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น นายประสพสุขแถลงว่า ได้รับมอบหมายให้ประสานกับ พล.อ.อนุพงษ์และแกนนำกลุ่มพันธมิตร เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งและให้เกิดความสงบโดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้นได้ดำเนินการประสานไปยังทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในทางบวก ในส่วนของรายละเอียดการเจรจานั้น เป็นความลับเปิดเผยทั้งหมดไม่ได้ โดยเชื่อว่าปัญหาจะยุติได้เร็วๆ นี้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีท่าทีจะไม่ขอร่วมเจรจากับกลุ่มพันธมิตร นายประสพสุขกล่าวว่า
 
"นั่นเป็นเรื่องของท่าน แต่ผมเป็นคนเจรจาไม่ใช่ท่าน และตัวท่านเองคงไม่ทราบถึงผลการหารือของ 3 ฝ่ายในวันนี้ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 8 กันยายนนี้ เวลา 12.00 น. จะมีการหารือร่วม 3 ฝ่ายอีกครั้ง" เมื่อถามว่า ถ้าหากมีการเจรจาแล้ว 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรต้องมอบตัวหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้วิธีการทางกฎหมายในการแก้ปัญหา ซึ่งหากมีฝ่ายใดไม่เคารพกฎหมาย ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจาจะใช้แนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ 
 
นายอภิสิทธิ์แถลงว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า 1.ต้องประคับประคองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยหาทางออกให้ได้โดยไม่ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ 2.ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยในวันที่ 8 กันยายนนี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายอีกครั้ง เพื่อนำข้อสรุปของแต่ละคนที่ได้รับมอบหมายมารายงานต่อที่ประชุม
 
นายสามารถกล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ไปประสาน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยใช้เวลาในช่วงวันที่ 5-6 กันยายนนี้ หารือกับแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะมีแนวทาง การแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองอย่างไร เพื่อนำข้อสรุปที่หารือกันมาเสนอต่อที่ประชุม 3 ฝ่าย ในวันที่ 8 กันยายน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องพูดคุยกับนายกฯและรัฐบาล เพราะเป็นการดำเนินการในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติก่อน เมื่อได้ข้อสรุปในวันที่ 8 กันยายนแล้ว จะนำข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้ง
 
ส.ว.หลายก๊กเคลื่อนไหวกดดันรบ.
 
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.ระบบสรรหา พร้อมด้วย ส.ว.เพื่อกลุ่มสันติสุข แถลงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ 1.เร่งแก้ไขปัญหา และการชุมนุมโดยสันติวิธี 2.หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ขอให้นายสมัครหาข้อยุติโดยด่วน ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นว่าควรจะคืนอำนาจและการตัดสินใจให้ปะชาชน 3.หากนายกฯดำเนินการดังกล่าวแล้ว ขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และจากนั้นให้หันมาตรวจสอบการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
ส่วน ส.ว.อีกกลุ่ม อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายวรินทร์ เทียมจรัส นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันหารือถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้สนับสนุน เรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการออก พ.ร.ก.หลังจากทนายฝ่ายพันธมิตรยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
 
แนวร่วมพันธมิตรบุกตร.ถาม10ปม
 
ทางด้านแนวร่วมพันธมิตรและเครือข่ายกว่า 200 คน นำโดยนายศิริชัย ไม้งาม และ น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค  เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 15.00 น. เรียกร้อง ตร.ตอบคำถามดังนี้ 1.กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกดักยิงขณะเดินทางไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาหาคนผิดมาลงโทษเท่าใด 2.เหตุใดตำรวจไม่ดำเนินการกับมวลชนที่บ้าคลั่ง ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ กรณีกลุ่มคนรักอุดรรุมทำร้ายพันธมิตร และกรณี นปช.บุกเข้ามาทำร้ายประชาชนที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ 3.ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขต ทำร้ายประชาชน และขโมยทรัพย์สินของประชาชน บริเวณสะพานมัฆวานฯคือใคร จะมีการดำเนินการลงโทษตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่ 4.เหตุการณ์วางระเบิดก่อกวนการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานฯ และย้อนไปถึงเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงปีใหม่ปี 2550 มีเบาะแสบ้างหรือไม่ 5.ทำไมจึงปล่อยให้กลุ่มที่ก่อความรุนแรงที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ลอยนวล 6.เหตุใดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีความล่าช้าผิดสังเกต 7.เรื่องนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมนักกฎหมายมุสลิมหายไปไหน 8.ตำรวจจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างเช่นเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และ 2519 เกิดขึ้นอีก 9.ระหว่างรัฐบาลที่มีพฤติกรรมนิยมความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ จะเลือกปกป้องสวัสดิภาพและรักษาผลประโยชน์ ฝ่ายใด และ 10.เกียรติตำรวจของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ไหน และตระหนักในหน้าที่มากน้อยเพียงใด
 
นายจักรพงษ์ บุญเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเดินทางมา ตร.ครั้งนี้ เพื่อแสดงว่าอยู่ข้างประชาชน เป็นกลาง ทั้งนี้ จะไปล่ารายชื่อนิสิตนักศึกษาในย่านสยามสแควร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่านักศึกษาสมัยนี้มีส่วนร่วมทางการเมือง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์