เมื่อเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน นายสมัครให้สัมภาษณ์ถึงการคัดค้านการทำประชามติที่รัฐบาลเสนอในการแก้ปัญหาของประเทศว่า รัฐบาลเห็นว่าเป็นทางออก ทุกคนก็ช่วยอธิบาย แต่เขามุ่งจะพูดแต่มาตรา 165 (2) แต่ (1) ทำไมไม่อ่าน ทุกอย่างวันนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ แต่คนที่ค้านก็ไปมุ่งมั่นใน (2) “มันดีอยู่อย่างเดียวประกาศออกมาแล้วก็แบ่งข้างกันเลย ใครจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ดี จะได้รู้ว่าใครเป็นใครไม่มีปัญหา”
ทั้งนี้ มาตรา 165 (1) ระบุว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอาจขอคำปรึกษาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
ขณะที่มาตรา 165 (2) ระบุว่า ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการทำประชามติต้องการที่จะให้มีการแบ่งข้างให้ชัดเจนใช่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า ถามอย่างนี้ได้อย่างไร ตนบอกแต่เพียงว่าให้มีการออกความเห็นในการทำประชามติ ก็แบ่งความคิดกันแล้ว
"ผมอยากถามว่า เวลาเลือกตั้ง เลือกข้างหรือไม่ เลือกพรรคประชาธิปัตย์ เลือกพลังประชาชน ทีอย่างนั้นไม่เป็นไรหรือ" นายสมัครกล่าว
นายกรัฐมนตรียืนยันด้วยว่า จะไม่เจรจากับกลุ่มพันธมิตร และพันธมิตรก็คงไม่อยากเจรจาด้วย ส่วนที่ประธานวุฒิสภาพร้อมจะเป็นคนกลางไปเจรจานั้นก็เป็นเรื่องของประธานวุฒิสภา ไม่ใช่เรื่องของตน สำคัญที่สุดคือ น่าประหลาดใจ ผู้คนในบ้านเมืองนี้ สิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์กลับมองว่าไม่น่ายึดถือ แต่ไปเห็นว่าสิ่งที่ตั้งคณะขึ้นมาเพื่อเรียกร้องนั้นถูก สิ่งที่ตนทำในวันนี้ก็เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองถูกชาวโลกดูแคลนว่าประเทศไทยป่าเถื่อน เลือกตั้งมาก็มีการตั้งคณะออกมาขับไล่ ขอประกาศเลยว่า จะไม่มีวันยอมให้สถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คนทั้งประเทศจะต้องเฝ้าดูว่าตกลงใครผิด ใครเลว และอยากให้ประชาชนเป็นคนวินิจฉัยด้วยการลงประชามติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นบ้านเมืองหาทางออกไม่ได้ จนรัฐบาลเอาไม่อยู่ ศาล สภา ก็เอาไม่อยู่ ขนาดประกาศภาวะฉุกเฉิน ทหารก็เอาไม่อยู่ ซึ่งตนกับ ผบ.ทบ.ได้พูดคุยกันเมื่อวันที่ 4 กันยายน มติการประชุม ครม.ถือเป็นการดำเนินการที่เป็นทางการ และบอกว่าอำนาจทั้งหมดอยู่กับรัฐมนตรี 21 คน ก็ขอให้มาอยู่ในมือนายกฯ คนเดียว ซึ่งตอนท้ายก็บอกชัดเจนว่า ได้มอบอำนาจทั้งหมดให้ ผบ.ทบ. แต่พอถึงวันนี้กลับมีการพูดจากระแหนะกระแหนว่านายกฯ กับทหารขัดแย้งกัน นายกฯ ประกาศรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองทั้งหมด ทำไมไม่ไปดูในตอนท้าย ซึ่งมันไม่มีปัญหา
เตรียมหารือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่สามารถบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยกเลิกการบังคับใช้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้คิดมานานแล้วก่อนที่สื่อจะถาม เพราะถ้าประกาศไว้แล้วมีคนขัดขืน ก็เกิดความเสียหายต่อ พ.ร.ก. ภายใน 1-2 วันตนจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ปกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะอยู่ได้ 3 เดือน แต่จะไม่ลากยาวไปถึงขนาดนั้น เมื่อคนอยู่ในขอบเขตเรียบร้อยและไม่จำเป็นต้องใช้ก็จะจัดการได้ อย่างอื่นจะได้ไม่เป็นปัญหา
เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.เร็วๆ ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนบอกให้สื่อมวลชนฟังว่า เมื่อประกาศใช้แล้วมีคนไม่เคารพ มันไม่ต้องออกก็ได้ ก็ต้องขอปรึกษากับคนที่เกี่ยวข้องก่อนว่าไม่ต้องไปออก แต่อย่าเพิ่งไปเสนอข่าวว่าสมัครประกาศยกเลิก เพราะขณะนี้แค่ปรึกษาหารือก่อน ตอนนี้รัฐบาลกำลังหาทางออกอยู่ เจอประตูแล้ว ตอนนี้กำลังหากุญแจ ถ้าเปิดกุญแจได้คงไม่ต้องพังประตู วันนี้คงต้องถามว่า ใครทำให้เกิดปัญหา มีคนบอกและชี้หน้าว่าเป็นคนชื่อสมัคร
ยันครอบครัวเห็นตรงกันหมด
ผู้สื่อข่าวถามถึงความแตกแยกในสังคม เพราะแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็มีความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องการเมือง นายสมัครกล่าวว่า “คนในครอบครัวคุณทะเลาะกันแล้วหรือยัง” เมื่อผู้สื่อข่าวบอกว่าทะเลาะกันแล้ว เพราะความคิดไม่ตรงกัน นายสมัครกล่าวว่า "รักษาครอบครัวคุณไว้ให้ดี แต่บ้านผมไม่ทะเลาะกัน มีลูกสาว 2 คน ลูกเขย 2 คน ภรรยาอีก 1 คน เขาก็เห็นตรงกับที่ผมทำ เขาบอกว่าบ้านเมืองต้องรักษาไว้ บ้านอื่นเห็นไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร แต่บ้านผมเห็นตรงกัน มันสุดแต่วิจารณญาณของแต่ละคน"
ทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ รมว.กต.คนใหม่แล้ว
ก่อนหน้านี้ เวลา 14.00 น. นายสมัครเดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง โดยให้สัมภาษณ์ว่า ได้นำรายชื่อ รมว.การต่างประเทศคนใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขอให้รอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก่อนว่าเป็นใคร แต่บอกได้ว่าเป็นคนใหม่ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการแทนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น รมว.การต่างประเทศคนใหม่ คือ นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ
มทภ.1ปูดมือที่สามตรียมสร้างสถานการณ์
พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ช่อง 3 กรณีมีข่าวว่า พล.ท.ประยุทธ์แนะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยยืนยันว่าคงไม่ทำอย่างนั้น และคงไม่มีใครทำอย่างนั้นได้ แต่อยากขอร้องว่า ทุกฝ่ายอย่าละเมิดกฎหมายอีกเลย
เมื่อถามว่า ได้รับรายงานว่าจะมีมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์บ้างหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า "เราประเมินสถานการณ์ทั้งตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่ามีบุคคลกลุ่มนี้จริง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นคนกลุ่มใด สถานการณ์เช่นนี้มันก็มีโอกาสเกิดมือที่สามมือที่สี่ได้ทั้งนั้น แต่อาจจะเกิดจากความคึกคะนองทำให้เกิดความไม่เข้าใจและปะทะกัน"
เมื่อถามอีกว่า โดยส่วนตัวคิดอย่างไรกรณีที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีมีแนวคิดจะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า "ผมคงตอบในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้ทุกคนพอใจ และให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ปลอดภัย และโดยเร็วที่สุด"
รดน้ำศพเหยื่อม็อบตีม็อบ
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่วัดเสมียนนารี มีการจัดพิธีรดน้ำศพ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง อายุ 55 ปี หนึ่งในกลุ่ม นปช.ที่เสียชีวิตจากเหตุปะทะกับกลุ่มพันธมิตรเมื่อกลางดึกวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านและกลุ่ม นปช.มาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาล พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายศุภชัย ใจสมุทร เลขานุการ รมว.มหาดไทย นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย แกนนำ นปช.
นางชบา สิงหกลางพล อายุ 70 ปี พี่สาวของนายณรงศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่น้องชายจะเสียชีวิตได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับตนว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร และจะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตนภูมิใจที่น้องเสียสละเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นางชบากล่าวต่อว่า ก่อนเกษียณตนเคยเป็นสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน และยังเคยลงสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นเขตสายไหม สังกัดพรรคมวลชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
"พันธมิตร" เมิน ส.ว.เป็นตัวกลางเจรจา
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.ขอเป็นตัวกลางในการประสานเจรจา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองว่า พันธมิตรได้ประสานไปยังตัวแทน ส.ว. ได้แก่ นายคำนูญ สิทธิสมาน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ว่าพันธมิตรจะยังไม่เจรจาใดๆ กับรัฐบาลในขณะนี้
"เราไม่ได้สร้างเงื่อนไข แต่เป็นเพราะนายสมัคร ยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่าจะไม่ลาออก และยุบสภา เพราะหากกระทำสองอย่างนี้ก็จะเหมือนว่าเขานั้นพ่ายแพ้ แต่ประตูการเจรจาไม่ได้ปิดตาย เพียงแต่นายสมัครถอยไปก้าวหนึ่ง โดยเบื้องต้นขอให้ลาออก และพันธมิตรจะเจรจาด้วย ขณะเดียวกันพันธมิตรก็จะถอยอีกก้าวโดยจะถอยการชุมนุมออกจากทำเนียบ และมาปักหลักอยู่สะพานมัฆวานฯ แทน แต่หากนายสมัครยังไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลต่อการเจรจา พันธมิตรจะชุมนุมเข้มข้นขึ้นไปอีก" นายสุริยะใสกล่าว