เปิดข้อบังคับกลาโหม สมัครยึดอำนาจสั่งการ

เปิดข้อบังคับกลาโหม "สมัคร"ยึดอำนาจสั่งการ-เคลื่อนย้ายกำลังทหารจาก ผบ.เหล่าทัพ

เดิมอำนาจในการสั่งการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหารเป็นของคณะผู้บัญชาการทหารที่ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหารมาเป็นของนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีทันที

หมายเหตุ "มติชนออนไลน์" ในการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่กองบัญชาการกองทัพไทยว่า ครม.มีมติออกประกาศตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้โอนอำนาจกฎหมายของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆจำนวน 20 ฉบับ มาเป็นของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการแก้ไขปราบปราม ระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
ในจำนวนกฎหมาย 20 ฉบับนั้น มี 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการสั่งหรือใช้กำลังทหารในการป้องกันและปราบปรามจลาจล การก่อความไม่สงบหรือการก่อการบกฎคือ พ.ร.บ จัดระเบียบข้าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหารและการเตรียมพร้อม พ.ศ.2545 ซึ่งเดิมอำนาจในการสั่งการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหารเป็นของคณะผู้บัญชาการทหารที่ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก  ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร (ข้อ5-7) มาเป็นของนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีทันที
 
สำหรับข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ.2545 มีรายละเอียดดังนี้
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๓  จึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ.๒๕๔๕"
 
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับกระทรวง  กลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ.๒๕๑๙
 
ข้อ ๓ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นใด ในส่วนที่มีกำหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
 
ข้อ ๔ในข้อบังคับนี้
 
๔.๑ "การใช้กำลังทหาร" หมายความว่า การใช้กำลังทหาร เพื่อการรบหรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์  เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล  เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อการป้องกันปราบปรามการยึดหรือการอารักขา  เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ  เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติในประการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และเพื่อการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ ตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
๔.๒ "การเคลื่อนกำลังทหาร" หมายความว่า การเคลื่อนที่กำลังทหารจากที่ตั้งเพื่อใช้กำลังตามความในข้อ ๔.๑ หรือเพื่อการฝึกหรือการย้ายที่ตั้ง
 
๔.๓ "การเตรียมพร้อม" หมายความว่า การเตรียมกำลังทหารแม้แต่เพียงบางส่วน  เพื่อที่จะใช้กำลังทหารตามความในข้อ ๔.๑ แต่ไม่หมายความรวมถึงการเตรียมพร้อมของหน่วยทหารที่ทำหน้าที่อยู่ในการรักษาการณ์ตามปกติ
 
๔.๔ "การจลาจล" หมายความว่า การก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง  ซึ่งมีความรุนแรงถึงขนาดมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
๔.๕ "การก่อความไม่สงบ" หมายความว่า การกระทำความผิดตามกฎหมาย  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
ข้อ ๕ ให้มีคณะผู้บัญชาการทหาร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก  ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร  โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร
 
ข้อ ๖ให้คณะผู้บัญชาการทหาร  เป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ยามปกติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการสั่งการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร การเตรียมพร้อม และเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นหรือในยามสงคราม ให้คณะผู้บัญชาการทหารรับผิดชอบในการอำนวยการยุทธ ณ ที่บัญชาการซึ่งกองบัญชาการทหารสูงสุดจัดตั้งขึ้น  รวมทั้งควบคุมทางยุทธการต่อกองกำลังเฉพาะกิจร่วม ที่จัดตั้งขึ้นแล้วแต่สถานการณ์  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการยุทธร่วม และให้สายการบังคับบัญชาสั้นที่สุด

 
ข้อ ๗การใช้กำลังทหารที่มีอาวุธ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
 
๗.๑ การใช้กำลังทหารที่มีอาวุธ เพื่อปราบปรามการจลาจล หรือเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีหรือความร่วมมือระหว่างประเทศจะกระทำได้ต่อเมื่อ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
 
๗.๒ กรณีการใช้กำลังทหารตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘
 
ข้อ ๘ การใช้กำลังทหารในกรณีต่อไปนี้  ให้ผู้บังคับบัญชาของทหารพิจารณาสั่งการได้โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามข้อ ๗
 
๘. ๑ เมื่อมีการรุกล้ำดินแดน ให้ผู้บังคับบัญชาของทหารซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สั่งใช้กำลังทหาร เพื่อต้านทานการรุกล้ำดินแดนนั้นได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือตามความจำเป็น
 
๘.๒ เมื่อมีการประกาศสงครามหรือมีสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วให้ผู้บังคับบัญชาของทหาร ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นสั่งใช้กำลังทหารได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือตามความจำเป็น
 
๘.๓ เมื่อหน่วยทหารถูกจู่โจม ให้ผู้บังคับบัญชาของทหาร ณ ที่นั้นสั่งใช้กำลังทหาร เพื่อต้านทานการจู่โจมนั้นได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือตามความจำเป็น
 
๘.๔ เมื่อมีการก่อความไม่สงบขึ้นในบริเวณหน่วยทหาร ผู้บังคับบัญชาของทหาร ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น มีอำนาจสั่งใช้กำลังทหารได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือตามความจำเป็น
------------------------

ข้อ ๙ การใช้กำลังทหารเพื่อการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ  ให้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้ที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวมอบหมาย พิจารณาสั่งการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ หรือตามความจำเป็น
 
ข้อ ๑๐ การเคลื่อนกำลังทหารที่มีอาวุธจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหม  หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
 
๑๐.๑ การเคลื่อนกำลังทหารเพื่อใช้กำลังตามความในข้อ ๘ ให้ผู้บังคับบัญชาของทหารซึ่งระบุไว้ในข้อ ๘ นั้น พิจารณาสั่งการได้
 
๑๐.๒ การเคลื่อนกำลังทหารเพื่อวางกำลังตามแนวชายแดนให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้บัญชา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พิจารณาสั่งการได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือตามความจำเป็น
------------
    
ประกาศ    ณ    วันที่   ๑๑  เมษายน  พ.ศ. ๒๕๔๕

(ลงชื่อ)   พลเอก ชวลิต    ยงใจยุทธ 
 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์