นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ถึงปัญหาการหาเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในการหาเสียงขอให้ผู้สมัครพึงระวัง ควรหลีกเลี่ยงการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน อาจจะมีผู้นำไปร้องคัดค้านการเลือกตั้งในภายหลัง จนทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าการหาเสียงไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองสามารถทำได้ เช่นการติดโปสเตอร์แนะนำตัว การหาเสียงผ่านวิทยุโทรทัศน์ แต่จะต้องคิดเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งจำนวนกว่า 154 ล้านบาท จนอาจทำให้หมดตัวได้
นอกจากนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงขึ้นปราศรัยบนเวทีเพราะแม้ยังไม่มีการรับรองเป็นผู้สมัคร แต่เมื่อรับรองแล้วอาจจะมีปัญหาได้
นายประพันธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะขอหารือกับ กกต.เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ออกไปก่อนว่า การจะเลื่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นอยู่กับ กกต.กทม.
ในฐานะผู้รับผิดชอบการเลือกตั้ง พิจารณาว่าสมควรเลื่อนหรือไม่หากสมควรต้องแจ้งไปยัง กกต.กทม. และหากเห็นพ้องต้องส่งเรื่องให้ กกต.กลางพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม การจะเลื่อนออกไปได้นั้นจะต้องมีพฤติการณ์ พิเศษ ซึ่ง กกต.กทม.จะพิจารณาว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวจะเข้าข่ายพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่น่าเลื่อนเวลา เพราะอาจจะกระทบต่อแผนงานต่างๆที่ กทม.เตรียมไว้ ทำให้เกิดปัญหาได้ ขณะนี้ ยังยืนยันว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังคงมีต่อไป เพราะตามกฎหมาย หากตำแหน่งผู้ว่าฯว่างลงจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน