พบมหันตภัย เส้นก๋วยเตี๋ยว

ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

นายบัณฑิต อินณวงศ์ และนายโสภาค สอนไว ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับนางกาญจนา เศรษฐนันท์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายวีระชัย แก่นทรัพย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแถลงข่าว “งานวิจัยมหันตภัยร้ายแฝงเร้นในก๋วยเตี๋ยว”


นายโสภาคกล่าวว่า ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารยอดนิยมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน เด็ก นักเรียน นักศึกษา เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว ราคาไม่แพง หารับประทานได้ง่าย

ในแต่ละวันจะมีการบริโภคก๋วยเตี๋ยว 1-3 มื้อ หรือคิดเป็นปริมาณสูงถึงวันละ 1.5 กิโลกรัมต่อคน ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ศึกษาวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ปี 2549-2551 โดยสำรวจกรรมวิธีการผลิตของโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผลิตได้มีการกระจายส่งตามร้านค้าต่างๆกว่าร้อยละ 50-60 ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวมีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีการใช้น้ำมันทอดซ้ำในกรรมวิธีการผลิต ซึ่งจะทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวเหนียวนุ่ม ตัดง่าย โดยเส้นใหญ่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เส้นเล็ก เส้นกวยจั๊บ เส้นหมี่ที่ไม่ใช่เส้นหมี่อบแห้ง 


นายโสภาคกล่าวต่อว่า เส้นใหญ่จะใช้น้ำมันในปริมาณสูงกว่าเส้นอื่นๆ ร้อยละ 5-8 เพื่อป้องกันการเกาะติดและจะช่วยให้ขยี้ให้แตกเป็นเส้นได้ง่าย

เห็นได้จากหากไปซื้อก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่จะมีน้ำมันเยิ้มที่ตัวเส้นและติดตามถุง ซึ่งไม่มีทางทราบว่าเป็นน้ำมันเก่าหรือใหม่ แต่การใช้น้ำมันเก่าที่ผ่านการทอดซ้ำมาหลายๆครั้ง หรือนำมาผสมกับน้ำมันพืชใหม่ จำพวกน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วลิสง จะทำให้มีความหนืดสูง ผู้ผลิต รวมทั้ง พ่อค้าแม่ค้าก็ชอบมาก แต่การใช้น้ำมันเหล่านี้มีอันตรายมาก เพราะมีการสะสมของสารประกอบมีขั้ว หรือสารโพลาร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์และเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ นอกจากนี้ น้ำมันที่ใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวยังอาจปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคตับอักเสบ มะเร็งตับ รวมทั้งโรคลายซินโดรม ในเด็กก่อนวัยเรียนจะมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน ชัก สมองบวม และตายภายใน 24-72 ชั่วโมง


ด้านนายบัณฑิตกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวมีวัตถุกันเสียมากมาย ทั้งกรดเบนโซอิค ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กรดโพรพิโอนิค เพื่อยับยั้งเชื้อราและจุลินทรีย์อื่นๆ ซึ่งตามมาตรฐานที่กำหนดให้ใช้ทุกๆตัวรวมกันต้องไม่เกิน 1,000 ppm

แต่จากการสำรวจพบว่าโรงงานส่วนใหญ่ผลิตเกินมาตรฐานทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตยังพบว่ามีการใส่สารส้มหรืออะลูมิเนียม อะลัม ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไปไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ แต่ในมาตรฐานน้ำดื่มบรรจุขวด กำหนดว่าต้องไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่จากการศึกษาในเส้นก๋วยเตี๋ยว มีปริมาณอะลูมินัมอยู่ถึง 620 ppm หรือ 620 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถือว่าอันตรายต่อสุขภาพมาก เนื่องจากในต่างประเทศพบว่า หากรับประทานอะลูมินัมตั้งแต่ 50-200 ไมโครกรัมต่อลิตร จะส่งผลต่อระบบประสาท อาจก่อให้เกิดการอักเสบของไตและกรวยไต มีผลต่อระบบกระดูกได้


“เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผ่านการลวก อาจช่วยชะล้างน้ำมันเก่า หรือสารปนเปื้อนต่างๆ ออกไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ที่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไปทำราดหน้า ผัดซีอิ๊ว จะได้รับสารอันตรายเต็มๆ ที่สำคัญขณะนี้ยังพบว่ามีการใช้สารละลายบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายน้ำมันที่เรียกว่าหัวเชื้อ เพื่อนำมาทาเส้นก๋วยเตี๋ยวอีกรอบ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น หล่อลื่นมากยิ่งขึ้น แต่ยังไม่มีใครทราบว่าสารละลายดังกล่าวมีส่วนประกอบของอะไร ดังนั้นทีมวิจัยจะมีการศึกษาเพิ่มเติม และจะมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้ง อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ประกอบการทั่วประเทศ มาหารือถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือปรับปรุงกรรม วิธีการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์” นายบัณฑิตกล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์