“กล้านรงค์” ชี้ตั้งอนุสอบ“สมัคร” เรื่องตั้ง“ดวง” เพราะมีผู้ร้อง ยัน การแจ้งชื่ออนุกรรมการฯเป็นขั้นตอนปกติ ไม่ได้หมายความว่านายกฯผิดจริง
(25ส.ค.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ให้สัมภาษณ์กรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความไม่พอใจกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีการตั้ง ร.ต.ดวง อยู่บำรุง บุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กลับเข้ารับราชการ ว่า เรื่องนี้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาโดยมีตนเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องที่เป็นความจริงหรือไม่ และมีผู้กระทำความผิดตามคำร้องหรือไม่
จากนั้นขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ คือ ประธานอนุกรรมการต้องแจ้งคำสั่งการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ
เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์คัดค้านอนุกรรมการภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบ ถ้าเห็นว่าอนุกรรมการคนใดมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อมีการคัดค้านมาแล้วอนุกรรมการคนนั้นจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ต้องนำเรื่องเข้าสู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่อีกครั้ง ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าคำคัดค้านฟังขึ้น อนุกรรมการคนนั้นก็ต้องพ้นหน้าที่ไป แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าคำค้านฟังไม่ขึ้น อนุกรรมการคนนั้นก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยจะต้องแจ้งเหตุและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปให้ผู้คัดค้านทราบ
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการต้องรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งหลักฐานที่เป็นเอกสาร และการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำ
และหากพบว่าเรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบข้อเท็จจริงทุกประการและไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องตามที่มีการยื่นคำร้องมา ก็ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายสมัคร และนายสมัครก็ไม่ต้องมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใดๆทั้งสิ้น แต่หากการไต่สวนพบว่ามีพฤติการณ์ พยานหลักฐานที่เกี่ยวพันกับนายสมัคร หรือมีประเด็นน่าสงสัยบางประเด็น คณะอนุกรรมการก็ต้องแจ้งให้นายสมัครรับทราบรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำผิด เพื่อให้นายสมัครมาแก้ข้อกล่าวหาต่อไป ซึ่งในการแก้ข้อกล่าวหานั้นสามารถทำได้โดยการยื่นมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมาแก้ข้อกล่าวหาด้วยตนเอง โดยมีสิทธิ์นำทนายมาด้วย รวมทั้งมีสิทธิ์ในการอ้างพยานหลักฐานเพื่อให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติม หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการจึงจะรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วสรุปสำนวนการไต่สวนต่อไป
“ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการทำตามขั้นตอนปกติ เพราะในแต่ละสัปดาห์คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาเป็น 10 เรื่อง ซึ่งเราก็ดำเนินการเช่นนี้ทุกๆเรื่อง ไม่ใช่ว่าทำเฉพาะกรณีของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และตามปกติเมื่อมีการดำเนินการแล้วคณะอนุกรรมการก็ไม่ได้เปิดเผย แต่ท่านนำมาเปิดเผยเอง ดังนั้นเราก็ต้องชี้แจงให้ท่านรับทราบและเข้าใจกระบวนการการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และในการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนนั้นเราก็มีตัวแทนที่เป็นทหาร และอัยการมาร่วมด้วย ที่สำคัญขั้นตอนนี้เป็นเพียงการแจ้งคำสั่งเพื่อให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการ ยังไม่ได้มีการรวบรวมเอกสาร และยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงจะออกมาเป็นเช่นไร ยังไม่ได้สรุปว่านายกรัฐมนตรีทุจริต” นายกล้านรงค์ กล่าว