แฉแผนบิ๊กสรรพากรบีบไทยพาณิชย์ส่ง1.2หมื่นล. วิ่งล้มคดีภาษีโอ๊ค-เอม-เปิดช่องส่งเงินคืนแม้ว

เผยแผน"บิ๊ก"สรรพากร บีบธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงิน 12,000 ล้านบาท ก่อนอัยการสูงสุดส่งฟ้องยึดทรัพย์"แม้ว" 7.6 หมื่นล้าน อ้างเป็นการชดใช้ค่าภาษีหุ้นชินคอร์ปของ"พานทองแท้- พิณทองทา" จากนั้นวิ่งให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติเรียกเก็บภาษีไม่ชอบ ต้องส่งเงินคืนครอบครัวชินวัตร

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผย "มติชนออนไลน์" เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมว่า  เมื่อเย็นวันที่ 22 สิงหาคม ข้าราชการระดับรองอธิบดีกรมสรรพากรรายหนึ่งได้ทำหนังสือส่งถึงธนาคารไทยพาณิชย์อ้างอำนาจตามมาตรา 12 ประมวลรัษฎากรสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์จ่ายเช็ค 12,000 ล้านบาท ให้แก่กรมสรรพากร ทั้งนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)อายัดไว้ทั้งหมด 69,000 ล้านบาทและฝากอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์กว่า 30,000 ล้านบาท
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า หนังสือของกรมสรรพากรอ้างว่า การให้ธนาคารส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการอายัดเงินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อชดใช้ค่าภาษีที่บุคคลทั้งสองค้างชำระกรณีการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือชินคอร์ป จากบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์จำนวน 329.2 ล้านหุ้นในราคา 1 บาทและขายไปในราคา 47.25 บาทเมื่อวันที่ 20 และ 23  มกราคม 2549 ทำให้บุคคลทั้งสองมีเงินได้กว่า 15,000 ล้านบาท
 
"นอกจากให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือถึงสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งอยู่ในเขตของสรรพากรภาค 1 แล้ว ยังมีข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งได้โรศัพท์ไปกำชับว่า ให้ทางธนาคาร ออกเช็คให้กรมสรรพากรให้ได้ภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2551 แต่ทางผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ปฏิเสธโดยได้ให้เหตุผลว่า ขอหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก่อน"แหล่งข่าวกล่าว
 
แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า หลังจากได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร ผู้บริหารธนาคารได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารและแจ้งให้ประธานคณะกรรมการธนาคารทราบเพราะเป็นเงินจำนวนมากและหวั่นผลกระทบตามมา จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะอนุมัติหรือไม่ และเลยระยะเวลาการทำงานของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ธนาคารตัดสินใจที่จะแถลงข่าวในวันอาทิตย์ที่ 24หรือจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2551 เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยังนายบดินทร์ อัศวาณิชย์ กรรมการบริหารซึ่งดูแลด้านกฎหมายของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับแจ้งจากเลขานุการนายบดินทร์ว่า นายบดินทร์ติดประชุมไม่สามารถตอบคำถามได้และไม่รู้ว่าการประชุมจะเสร็จเมื่อไหร่
 
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันเดียวกันได้รับหนังสือด่วนจากธนาคารไทยพาณิชย์ทางโทรสารเพื่อสอบถามเรื่องที่ทางกรมสรรพากรขอให้ธนาคารจ่ายเงินที่ถุก คตส.อายัดไว้ 12,000 ล้านบาท แต่ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงนำเสนอผู้อำนวยการสำนักกฎหมายเพื่อให้นำเสนอต่อคณะกรรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมวันอังคารทที่ 26 สิงหาคม
 
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า เหตุที่ข้าราชการระดับสูงในกรมสรรพากรกลุ่มหนึ่งพยายามเร่งรัดให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งมอบเช็คจำนวน 12,000 ล้านบาทให้ได้ภายในวันที่ 22 สิงหาคม เนื่องจากมีข่าวว่า อัยการสูงสุดจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่พ.ต.ท.ทักษิณถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาทและให้ยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สามารถดำเนินการให้มีการถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
"ขณะนี้นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาได้ยื่นอุทธรณ์กรณีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี 12,000 ล้านบาท แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งข้าราชการระดับสูงกลุ่มนี้วางแผนล้อบบี้ที่จะให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติว่า การเรียกเก็บภาษีบุคคลทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมสรรพากรต้องคืนเงิน12,000 ล้านบาทที่ได้รับจากธนาคารไทยพาณิชย์ให้กับบุคคลทั้งสอง เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการอุทธรณ์เห็นการว่า ประเมินภาษีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน ชินวัตรไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นชินคอร์ปให้นายบรรณพจน์มูลค่า 738 ล้านบาท  ทำให้กรมสรรพากรต้องคืนเงินที่อายัดไว้ให้แก่นายบรรณพจน์ 546ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า เชื่อว่า ข้าราชการระดับสูงกลุ่มนี้ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจทางการเมืองให้ดำเนินการเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมา ทนายความของครอบครัวชินวัตรได้พยายามให้มีการถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ คตส.แต่ไม่ประสบสำเร็จเพราะ ป.ป.ช.อ้างว่า ไม่มีอำนาจ ให้ไปยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็ปฏิเสธในทำนองเดียวกัน  จึงเห็นช่องทางว่า น่าจะให้อำนาจตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ที่ให้อำนาจอธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ที่ค้างการชำระภาษีทั่วราชอาราจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือคำสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปรากฏว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวจนกระทั่งถึงเย็นวันที่ 22 สิงหาคม นายศานิต ร่างน้อยอธิบดีกรมสรรพากรเดินทางไปต่างประเทศ ข้าราชการระดับสูงกลุ่มนี้จึงพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่สรรพากรภาค 1 ครอบคลุมที่ทำการของธนาคารไทยพาณิชย์ออกหนังสือแจ้งไปยังธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อให้ส่งเงินให้กรมสรรพากร แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม  จึงมีการเสนอให้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมในวันที่ 22สิงหาคม เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ปรากฏว่า มีสรรพากรภาค 3 ซึ่งเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์คดีภาษีของนายพานทองแท้ และพิณทองทาเข้าร่วมด้วยและเห็นว่า กรมควรเรียกให้ธนาคารส่งเงินให้ แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทำให้ข้าราชการกลุ่มนี้ไม่พอใจ สั่งให้ผุ้อำนวยการสำนักหนึ่งทำหนังสือส่งให้ข้าราชการระดับรองอธิบดีลงนามในที่สุด
 
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนายอัษฎางค์ ศรีศุภรพันธ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ผู้รับสายซึ่งเป็นชายปฏิเสธว่าไม่ใช่นายอัษฎางค์ โดยอ้างว่า นั่งอยู่นหน้าห้องของนายอัษฎางค์
 
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ชายคนดังกล่าว กล่าวว่า "จากการสอบถามไปยังหน้าห้อง ยืนยันว่าไม่มีเอกสารเรื่องนี้เข้ามา"
 
 เมื่อถามว่า หากมีเรื่องดังกล่าวเสนอเข้ามาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ชายคนดังกล่าวชี้แจงว่า "เมื่อมีการเซ็นเรื่อง จะต้องส่งเรื่องกลับไปยังปลัดกระทรวงการคลัง จากนั้นจึงจะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป"
 
ด้านนาย.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจในการสั่งอายัดหรือถอนอายัดบัญชีของใคร ดังนั้นต้องไปพิจารณาว่าหน่วยงานไหนมีหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าว ก็เหมือนกับกรณีนายเกริก วาณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการอายัดบัญชีไว้ก็ไม่เคยมาถามความเห็นจาก ธปท. ดังนั้นเวลาที่ต้องการจะถอนอายัดก็ไม่จำเป็นต้องมารายงานให้ ธปท.ทราบ
 
"เท่าที่รู้ไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบได้ว่าตกลงเรื่องอายัดเงินจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องควรต้องไปดูเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ และประสานกับธนาคารพาณิชย์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย ปัญหาอยู่ที่ว่าใครมีอำนาจที่จะดำเนินการ ในเรื่องการจะอายัดหรือถอนอายัด"นายสุรพงษ์กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์