พปช.ลงมติคว่ำ 2 ร่างกม.ศาล อ้างรวบอำนาจมากเกินไป วิปรบ.มึนล็อบบี้ไม่สำเร็จ ป.ป.ช.หวั่นเจอด้วย

ส.ส.พปช.ลงมติคว่ำ 2 ร่างกม.ศาล อ้าง องค์กรตุลาการเสนอกฎหมายเอง สอบสวนเอง และตัดสินเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องรวบอำนาจมากเกินไป วิปรัฐบาลมึนล็อบบี้ไม่สำเร็จ ต้องนำหารืออีกครั้ง 26 ส.ค.นี้ ป.ป.ช.หวั่นสภาฯไม่ผ่านกม.ด้วย ดักคออย่าคว่ำ

พปช.อ้างสุดโต้งคว่ำ2กม.ศาล
 
พรรคพลังประชาชน (พปช.) มีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกา แม้ว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้า พปช. จะให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ล็อบบี้ ส.ส.เพื่อให้รับหลักการไปก่อน เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ฝ่ายตุลาการเสนอกฎหมายเอง สอบสวนเอง และตัดสินเอง
 
ทั้งนี้ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พปช. ในฐานะแกนนำ ที่เสนอในที่ประชุม พปช.ให้ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการโดยให้เสนอกฎหมายเองได้ ตั้งกรรมการสอบสวนเอง และตัดสินเอง ทำให้เกิดการรวบอำนาจ นอกจากนี้ ยังเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ผ่านกระบวนการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ทำให้กลายเป็น พ.ร.บ.ของศาลที่มีแนวคิดสุดโต่ง
ส่งสัญญาณให้รับผิดชอบ
 
" วิปรัฐบาลไม่มีสิทธิจะบังคับให้ ส.ส.รับร่าง พ.ร.บ.ใดๆ ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เอกสิทธิ์กับ ส.ส. โดยสาเหตุที่ ส.ส.พปช.ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องสมดุลกัน" นายสุนัยกล่าว
 
นายสุนัยกล่าวว่า องค์กรตุลาการมีสิทธิที่จะเสนอกฎหมายได้เอง โดยไม่ผ่านความร่วมมือจากฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่มีใครทำหน้าที่คุมเสียงให้ฝ่ายตุลาการ และหาก ส.ส.ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ใช่คนร่าง แต่คนที่จะต้องรับผิดชอบ คือ ผู้เสนอกฎหมาย และ ส.ส.พปช.หลายคนเห็นว่า ควรที่จะส่งสัญญาณไปถึงองค์กรตุลาการว่าจะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้หากกฎหมายดังกล่าวตกไปศาลก็จะต้องเสนอมาใหม่ โดยประสานกับรัฐบาลเพื่อให้ช่วยคุมเสียง ส.ส.ในสภาให้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า พปช.จะไม่ยื่นร่าง พ.ร.บ.ทั้ง
2 ฉบับประกบแต่อย่างใด
 
วิปรบ.น้อยใจล็อบบี้ไม่สำเร็จ
 
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พปช. ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลมีมติให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับในวาระที่ 1 ไปก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาในสภา ดังนั้น จะต้องนำเรื่องกลับไปพิจารณาในที่ประชุมพรรควันที่ 26 สิงหาคมนี้อีกครั้ง ถ้าพรรคมีมติยืนยันจะไม่รับหรือคว่ำร่างก็เป็นเรื่องของพรรค แต่ในส่วนของวิปรัฐบาลจะต้องฟังพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะหากไม่ปฏิบัติตามมติวิปรัฐบาล ก็ไม่รู้จะมีวิปรัฐบาลไว้ทำไม
 
นายพีรพันธุ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของสภา ซึ่งกำลังจะนำรายงานของอนุ กมธ.มาสรุปในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยสรุปจะได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการบังคับใช้ แต่ไม่ได้เสนอให้แก้ ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่คุยในพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่ล้วนเห็นควรให้มีการแก้ไข แต่จะเป็นประเด็นใดมากน้อยแค่ไหน ตรงกันหรือไม่ ยังไม่ได้สรุปออกมา
 
ดักคอสภาอย่าคว่ำกม.ปปช.
 
ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไปที่สภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ ป.ป.ช.วิตกว่าประชาชนอาจไม่ได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงหวังว่าสภาจะเร่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าสภาจะให้ความเห็นชอบอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้สภาจะต้องรับหลักการในวาระแรกภายในวันที่ 29 กันยายนนี้ จากนั้นจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นกรอบตามรัฐธรรมนูญ 2550

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์