เอแบคโพลล์เผย 40.2% หญิง-นักเรียน-นักศึกษา จะเลือก "อภิรักษ์" เป็นผู้ว่ากทม.ต่อ 15.7% แม่บ้าน-เกษียณอายุ จะเลือก "ปลื้ม" ตามด้วย 11.3% จะเลือก "ชูวิทย์" อีก 22.6% ยังไม่ตัดสินใจ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามหัวข้อ "วัดใจคน กทม. จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร" จำนวน 2,186 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15- 20 สิงหาคม 2551 ผลสำรวจพบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งคนที่อยู่ในใจของประชาชนคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 40.2 ระบุจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ขณะที่ร้อยละ15.7 จะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ร้อยละ11.3 จะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อีกร้อยละ10.2 ตั้งใจจะเลือกคนอื่นๆ เช่น ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี อย่างไรก็ตาม อีกร้อยละ 22.6 ยังไม่ได้ตัดสินใจ
เมื่อจำแนกออกตามเพศของตัวอย่าง พบว่า หญิงร้อยละ 43.0 ตั้งใจจะเลือก นายอภิรักษ์
ซึ่งสัดส่วนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างชาย ร้อยละ 37.1 รองลงมาคือ หญิงร้อยละ 17.2 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างชายที่มีอยู่ร้อยละ 14.0 ที่น่าสนใจคือ ชายร้อยละ 15.1 ตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างหญิงประมาณ 1 เท่าตัวหรือ ร้อยละ 7.9 ขณะที่ตั้งใจจะเลือกคนอื่นๆ เช่น ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี มีอยู่ร้อยละ10.3 ในกลุ่มผู้ชายและร้อยละ 10.2 ในกลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มผู้ชายร้อยละ 23.5 และกลุ่มผู้หญิงร้อยละ 21.7 ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุของตัวอย่าง พบว่า คนที่มีช่วงอายุสูงขึ้นมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธินลดลง คือ ร้อยละ 44.2 ของคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 41.6 ของคนอายุ 20 -29 ปี ร้อยละ 39.2 ของคนอายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 38.8 ของคนอายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 38.5 ของคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
ขณะที่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล หรือ "ปลื้ม" จะได้ในกลุ่มคนอายุ 20 - 29 ปีร้อยละ 18.8 ในกลุ่มคนอายุ 30-39 ปีร้อยละ 17.7 และต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 17.1 ตามลำดับ ส่วนนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จะได้ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 15.4 และในกลุ่มคนวัยที่เหลือจะไม่แตกต่างกันนักคือประมาณร้อยละ 10 ของทุกกลุ่มอายุ แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างที่อายุมากจะพบกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอนสูงที่สุด คือ ตัวอย่างอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 27.6 เลยทีเดียวที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน ขณะที่กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 20 ปีมีอยู่ร้อยละ 15.7 ที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอน
คนกรุงกว่า 40% จะเลือก อภิรักษ์ นั่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อ
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ การจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า คนที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 28.2 เท่านั้น
ซึ่งนายอภิรักษ์จะได้เสียงสนับสนุนมาก ณ วันนี้จากกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีคือมีอยู่ร้อยละ 41.5 ในขณะที่ คนอื่น เช่น ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่พบความแตกต่างของความตั้งใจจะเลือกในกลุ่มคนที่มีการศึกษาแตกต่างกัน แต่พบความแตกต่างของคนที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอนว่าจะเลือกใครในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีที่พบว่ามีอยู่สูงถึงร้อยละ 38.4 เมื่อพิจารณาเรื่องรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า คนที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 37.8 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนที่มีอยู่ร้อยละ 45.3 ที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะที่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล พบเสียงสนับสนุนมากในกลุ่มคนที่มีรายได้ 15,001 - 20,000 บาทที่มีอยู่ร้อยละ 21.7 ส่วนเสียงความตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ จะกระจายไปอยู่ในกลุ่มคนมีรายได้ต่างๆ พอๆ กัน
ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลับมีเสียงความตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เพียงร้อยละ 19.5 เท่านั้น
ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ต้องหาสาเหตุกันอย่างจริงจังว่าทำไมกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์น้อยเช่นนี้ ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 46.3 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คนรับจ้างทั่วไปร้อยละ 42.1 คนที่ค้าขายหรือธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 41.2 พนักงานเอกชนร้อยละ 39.0 และแม่บ้าน เกษียณอายุร้อยละ 37.4 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะที่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล ได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุสูงร้อยละ 21.6 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 18.3 พนักงานเอกชนร้อยละ 17.4 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 16.4 ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 14.8 ตามลำดับ หมายความว่าเมื่อจำแนกในกลุ่มอาชีพแล้ว จะพบว่าโอกาสการแข่งขันของผู้สมัครคนอื่นๆ จะเริ่มมีขึ้นในบางกลุ่มอาชีพ เช่นกลุ่มข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่น่าวิเคราะห์คือ กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน แต่กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนแตกกระจายออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ คือร้อยละ 26.2 ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล และยังมีคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 18.7 ตั้งใจจะเลือกนายอภิรักษ์อีกด้วย ในขณะที่ร้อยละ 14.9 ของคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนตั้งใจจะเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตามลำดับ ในขณะที่คนเคยเลือกพรรคอื่น ๆ ร้อยละ 37.0 คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 24.0 และคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 15.0 ยังไม่ตัดสินใจแน่นนอน